Pride month ทำไมตรงกับเดือนมิถุนายน เกี่ยวอะไรกับโหราศาสตร์

เดือนมิถุนายน ปี 2567 บรรยากาศแห่งสีรุ้ง หรือที่เรียกว่า Pride Month ก็เริ่มพบเห็นได้ทั่วทุกมุมโลก เป็นการแสดงถึงความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ (เดิมทีมีเพียง LGBT)

นับเป็นเวลากว่า 53 ปีแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ ในอเมริกา เหตุการณ์ที่เสมือนเป็นจุดกำเนิดของ Pride Month และขบวนพาเหรดรำลึกการต่อสู้แพร่สะพัดไปทั่วโลก

เหตุจลาจลนี้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในเส้นทางของชาว LGBTQ+ เรื่องสิทธิความเท่าเทียมมาจนปัจจุบัน

เหตุการณ์จลาจลเกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เวลา 01:20 น. ที่โรงแรม Stonewall Inn นิวยอร์ก เป็นช่วงที่ลูกค้าเกย์ต่อสู้กับการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปลดปล่อยเกย์ในอเมริกา

จากภาพดาวเหตุการณ์ (โปรแกรม Solar Fire) ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันที่ดาวมฤตยู (Uranus) ดาวที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ฉับพลัน เรื่องตื่นเต้น โคจรเข้าสู่ราศีตุล ส่งอิทธิพลให้เกิดความทะเยอทะยาน อารมณ์ร้อน วู่วาม นำความยุ่งยาก มีความไม่แน่นอนกับปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับชีวิตสมรส ชีวิตคู่ การแตกแยก ชีวิตรักล้มเหลว มีหุ้นส่วนก็แตกหัก

โดยเฉพาะราศีตุลเป็นราศีเกี่ยวกับการแต่งงาน การสมรส ความรัก เมื่อดาวมฤตยูโคจรเข้ามาเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่ก่อให้เกิดแรงปะทะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ถ้าจะกล่าวง่ายๆ ก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้ ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องความรักอย่างเท่าเทียม เปรียบเหมือนคันชั่ง (ตาชั่ง) ที่เป็นสัญลักษณ์ราศีตุลนั่นเอง

การที่ดาวมฤตยูเข้ามาจุดชนวนเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้สิ่งต่างๆ ที่ต้องปิดบัง ซ่อนเร้นภายใต้ม่านแห่งความลับและความอับอายต่อสิ่งที่เป็นกล้าเผชิญหน้าออกมาเปิดเผย

ประจวบเหมาะกับอิทธิพลของดาวพลูโตที่รอเวลาอีก 2 ปี จะโคจรเข้าร่วมราศีกับดาวมฤตยู จะช่วยกระตุ้นการส่งอิทธิพลของพลังงานจากดาวมฤตยูได้อย่างเต็มที่

เมื่อดาวพลูโตจะโคจรเข้าสู่ราศีตุลในอีก 2 ปีนับจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงและการกล้าแสดงออกเกี่ยวกับเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในชั่วโมงนั้น ดวงจันทร์สถิตราศีธนู ในเรือนมรณะ ทำมุมเล็งกับดาวพุธ ในขณะที่ดาวเสาร์สถิตรออยู่แล้วในเรือนที่ 1 กุมลัคนาของภาพดวงเหตุจลาจล

ดวงดาวกำลังบอกเป็นนัยให้รู้ล่วงหน้าแล้วว่า อีกไม่นานนับจากนี้ไปกำลังจะมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติก่อตัวขึ้นในสถานที่นั้น

ดาวอังคารที่สถิตราศีธนูโคจรพักร สถิตร่วมเนปูจูนในเรือนมรณะเช่นกัน ดาวชุดนี้ส่งผลให้เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัวเข้าบุก กลุ่มคนในบาร์ขณะนั้นกำลังสนุกสนาน เฮฮา พูดคุยสื่อสารกันอย่างมีความสุข พอเกิดการปะทะกันขึ้นจึงใช้กำลังในการต่อสู้สุดกำลัง ใช้การขว้างปาสิ่งของ ขวด ก้อนหิน แม้แต่เสียงอันสนุกสนานก็แปรสภาพเป็นการตะโกน ใช้เสียงกรีดร้องดังลั่นเพื่อเป็นอาวุธในการต่อสู้ด้วย ดวงดาวสอดรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในวันนั้น

เมอริเดียน เป็นจุดปัจจัยในทางโหราศาสตร์ยูเรเนียน ใช้บอกเรื่องสำคัญสูงสุดของภาพดาวในเหตุการณ์การณ์จลาจลในวันนั้น สถิตราศีมังกร มีดาวเสาร์เป็นเกษตร สถิตเรือนที่ 1 ส่งอิทธิพลให้การต่อสู้อันยาวนานนับหลายปี ที่รอผลระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ตามลักษณะของดาวเสาร์ในราศีมังกรนั่นเอง

ดวงอาทิตย์ สถิตราศีกรกฎ ในราศีนี้ดวงอาทิตย์อยู่ในราศีที่มีดวงจันทร์เป็นเกษตร ส่งผลให้เกิดความอ่อนไหว คอยเอาใจใส่ต่อความรู้สึกคนรอบข้าง แต่ด้วยมุม 60 องศาที่สัมพันธ์กับดาวเสาร์ จึงเป็นพลังขับเคลื่อนให้การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แม้ว่าจะต้องมีอุปสรรค ปัญหานานัปการ การต่อสู้อันยาวนาน ก็จะเห็นผลในเชิงประจักษ์

 

จากเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันทางเพศ แม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมายเพียงใด สิ่งต่างๆ เริ่มส่งผลในด้านรูปธรรม เช่น กลุ่ม LGBTQIAN+ ได้รับโอกาสในการรับตำแหน่งทางการเมือง การรวมกลุ่มเดินพาเหรด การสมรสเท่าเทียมเทียมตามกฎหมาย เป็นต้น

Pride Month ในประเทศไทย ได้เริ่มมีการจัดงานไพรด์ขึ้นที่ภูเก็ตมายาวนานและต่อเนื่องมากว่า 16 ปีแล้ว ซึ่งกิจกรรมในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่ยังคงแสดงความต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม ในปี พ.ศ.2558 ไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นการออกกฎมาเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศที่หลายคนต้องเผชิญ

ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 สภามีมติไม่รับร่างสมรสเท่าเทียมและให้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตแทน และทุกวันนี้การสมรสเท่าเทียมอันเป็นสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตและครอบครัว ก็เป็นเรื่องที่คนไทยต้องรอให้กฎหมายผ่านสภาโดยสมบูรณ์ต่อไป

 

ในงานเดินพาเหรดจะเห็นการใช้ธงสีรุ้ง ทั้งนี้เพราะกลุ่ม “LGBTQIAN+” นั้นเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลาย การใช้สีรุ้งก็เป็นการรวมตัวของสีหลายๆ เฉดมาเป็นหนึ่งเดียวกัน “ธงสีรุ้ง” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ภายใต้การออกแบบของ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 โดยในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่

1. สีชมพู (Hot Pink) หมายถึง เรื่องเพศ

2. สีแดง หมายถึง ชีวิต

3. สีส้ม หมายถึง การเยียวยา

4. สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง

5. สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ

6. สีฟ้า (Turquoise) หมายถึง เวทมนตร์ ศิลปะ การผสมกลมกลืน

7. สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี

8. สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่

ต่อมาในภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ สีชมพู Hot pink และสีฟ้า Turquoise เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่างๆ ก็ยังคงเป็นเช่นเคย

(ขอบคุณข้อมูลจาก : Amnesty International Thailand)