เจาะวิบากกรรมยานยนต์ไทย ‘ยอดขายหด-ศึกอีวี-กู้ไม่ผ่าน’

สันติ จิรพรพนิต

แวดวงยานยนต์บ้านเราปีนี้ถือว่าสาหัสสากรรจ์ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 10 ปี ก็ว่าได้

เพราะมีปัญหารุมเร้า ประเดประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน

ทำให้ทุกค่ายรถโซซัดโซเซมากน้อยต่างกันไป

หนักหนาขนาดที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ขอนัดคุยกับผู้บริหารค่ายรถ และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพื่อวางมาตรการรับมือ และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

ในอดีตที่ผ่านมา แบงก์ชาติแทบไม่เคยยื่นมือลงมาในเรื่องนี้

จึงแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้มันรุนแรงขนาดไหน

เพราะต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นหนี่งในฟันเฟืองหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน

มีภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ จำนวนมาก

จึงสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ภาครัฐทั้งทางตรง และทางอ้อม

และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างมาก

 

ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วงการยานยนต์พบกับเรื่องใหญ่ที่มาติดๆ กัน

เมื่อค่าย “ซูบารุ” และ “ซูซูกิ” ประกาศปิดโรงงานในไทย

“ซูบารุ” ไปก่อนในสิ้นปี 2567

ส่วน “ซูซูกิ” โบกมือลาช่วงปลายปี 2568

แม้ยังทำตลาดการขาย และบริการอยู่ แต่ไม่มีรถที่ผลิตออกมาอีกแล้ว จะเป็นการนำเข้ามาทั้งหมด

ซึ่งหลักๆ จะมาจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะทั้ง 2 ค่ายมีโรงงานอยู่แล้ว

อีกทั้งได้สิทธิ์ภาษี ตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

และบางส่วนจะนำเข้าจากญี่ปุ่น

สาเหตุสำคัญไม่พ้นยอดขายที่หดตัวอย่างรุนแรง ทั้งในประเทศและการส่งออก

ตัวเลขช่วง 4 เดือนแรกของปี หดตัวทุกตลาด

ทำได้แค่ 518,790 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.05%

โดยเฉพาะรถสันดาปภายใน หรือไอซีอี หั่วทิ่มมากที่สุด

ปิกอัพยิ่งไม่ต้องพูดถึงยอดขายหายไปราวๆ ครึ่งหนึ่ง

สาเหตุจากการเปลี่ยนผ่าน และเทรนด์รถยนต์พลังงานทางเลือก

 

ขณะเดียวกันอีกสาเหตุไม่พ้นการมาของรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี จากจีน

ที่แห่เข้ามาทำตลาดในไทยและอาเซียน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

และคาดว่าจะยิ่งหนักมากขึ้นเพราะรถจากจีน กำลังมีปัญหากับประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป

ที่ปรับเพิ่มเพดานภาษี เพื่อรักษาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตน

ทำให้จีนต้องเพิ่มน้ำหนักในตลาดอาเซียนมากขึ้น เพราะได้สิทธิ์ทางภาษี

อีกทั้งตัวเลขยอดขายเติบโตอย่างน่าพอใจ

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รถอีวีในไทยก็ประสบปัญหาเช่นกัน

ยอดขายเริ่มมีแนวโน้มเติบโตลดลง

และในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเกิดการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ทั้งเรื่องออปชั่น และราคา

เนื่องจากมีแบรนด์จีนอีกหลายยี่ห้อกำลังแต่งตัว จ่อเข้ามาทำตลาดในไทย

อาทิ Geely, Riddara, Omoda & Jacoo และ Denza

นอกจากทำให้ค่ายรถญี่ปุ่นเจ้าเดิม ที่เป็นคู่แข่งหลักต้องปวดหัวแล้ว

ค่ายรถจากจีนที่ทำตลาดมาก่อนหน้านี้ เช่น เอ็มจี, เกรท วอลล์มอเตอร์, NETA, BYD, AION และ CHANGAN

ต้องงัดกลยุทธ์ออกมาตั้งรับ และเร่งเปิดตัวรถใหม่กระตุ้นเช่นกัน

 

การขยายตัวของอีวีจากจีน ไม่เพียงขีดวงเฉพาะรถยนต์นั่ง ทั้งเก๋ง หรือเอสยูวีเท่านั้น

ล่าสุดยังขยายเซ็กเมนต์เข้าสู่กลุ่มปิกอัพไฟฟ้า

มีตัวเด่นๆ เช่น “Riddara RD6” ดูสเป๊กที่จีนแล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา มอเตอร์สามารถปั่นแรงได้สูงถึง 271 แรงม้า

แถมยังได้จุดเด่นจากอัตราเร่งตีนต้นระดับความเร็ว 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำได้ในเวลาเพียง 7 วินาที

ชาร์จเต็ม 1 ครั้งมีระยะวิ่งราวๆ 400-500 กิโลเมตร

หากวิ่งส่งของในเมืองเป็นหลัก ชาร์จเต็ม 1 ครั้งวิ่งทั้งวันได้สบาย

ทำให้โตโยต้า ที่กำลังเร่งพัฒนารถปิกอัพไฟฟ้า ต้องเตรียมออกหมัดเด็ด “ไฮลักซ์ รีโว่ BEV” รถปิกอัพไฟฟ้า 100% ออกมาต่อกร

คาดว่าจะแนะนำเพื่อสกัดคู่แข่งช่วงปลายปี 2567 และเริ่มขายปลายปี 2568

ส่วนก่อนหน้านี้ อีซูซุ อีกขาใหญ่ตลาดปิกกอัพของไทย ก็เคยอวดโฉมปิกอัพไฟฟ้ามาแล้วเช่นกัน

 

ส่วนการหารือกันระหว่างแบงก์ชาติ กับค่ายรถยนต์และสมาคมที่เกี่ยวข้องนั้น

น่าจะมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสู่ หนี้เสีย และการปฏิเสธปล่อยกู้ของลิสซิ่ง

ประมาณกันว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มีผู้ซื้อถูกปฏิเสธสินเชื่อรถยนต์ใหม่ราว 20%

ขณะที่รถมือสองยิ่งหนักเพราะโดนปฏิเสธระดับ 40% ของที่ยื่นกู้

ซึ่งจะโทษสถาบันการเงินตรงๆ ก็ลำบาก เพราะหากดูสถิติรถยึดก่อนหน้านี้สูงเฉลี่ย 2.6-2.7 หมื่นคันต่อเดือน

แม้ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้น รถยึดลดเหลือราวๆ 2.2-2.3 หมื่นคันต่อเดือน

แต่ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่น่ากลัวอยู่ดี

 

ข้อมูลของแบงก์ชาติไตรมาสแรกปีนี้ สินเชื่อเช่าซื้อหดตัว -3.0% จากไตรมาสที่ 4/2566 หดตัว -0.4%

ขณะที่เอ็นพีแอล อยู่ที่ 2.14% ขยับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2566 อยู่ที่ 2.13%

ส่วนสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90 วัน ไตรมาสแรกปีนี้ที่ 1/2567 อยู่ที่ 14.49%

เพิ่มจากไตรมาสที่ 4/2566 ที่อยู่ 14.29%

ปัญหาของวงการรถยนต์ และการขายที่น้อยลง พลอยทำให้รายได้ของจากภาษีรถยนต์ของกรมสรรพสามิต หดตัวไปด้วย

ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-เมษายน 2567) เก็บภาษีรถยนต์ได้ 44,600 ล้านบาท

ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 17,600 ล้านบาท

ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 18,300 ล้านบาท

เรียกว่าปัญหากระทบเป็นลูกโซ่

ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาทางออก เพื่อหลุดพ้นจาก “วิบากรรม” นี้ให้เร็วที่สุด •