ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
สมรภูมิคนจีนในแดนช่วงสงคราม
กลุ่มคนจีนในไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มก๊กมินตั๋งและกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์
สำหรับกลุ่มก๊กมินตั๋งนั้น เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ 2460 นำโดยเซียวฮุดเส็ง ขบวนการต่อต้านนี้สอดประสานกับการต่อต้านอังกฤษและต่อต้านญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในจีน
แต่ต่อมาภายหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อ 2480 แล้ว ทำให้กลุ่มก๊กมินตั๋งแตกออกเป็นกลุ่มเจียงไคเช็กและกลุ่มวังจิงไว
ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ 2467 แต่ถูกปราบปรามจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2470 เริ่มมีการเคลื่อนไหวโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดการปฏิวัติแบบโซเวียตในไทย พรรคคอมมิวนิสต์มีเครือข่ายกลุ่มเยาวชนคอมมิวนิสต์ สันนิบาตต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นและสหภาพแรงงานดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติทั่วโลก แต่ต่อมาคอมมิวนิสต์ในไทยเปลี่ยนมาต่อต้านญี่ปุ่น (Eiji Murashima, 2002,194)
พลันเมื่อสงครามจีน-ญี่ปุ่นปะทุขึ้นแล้ว กิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเปลี่ยนเป้าหมายมาจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นแทน (มูราชิมา, 2539, 33)
ในช่วงสงคราม ชาวจีนในไทยมีท่าทีต่อญี่ปุ่นแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ไม่ต่อต้านญี่ปุ่นในไทยแต่ร่วมมือและค้าขายด้วย และกลุ่มที่ต่อต้านญี่ปุ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มก๊กมินตั๋งและกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งสองกลุ่มนี้ถูกห้ามในไทย กลุ่มเหล่านี้จึงเคลื่อนไหวใต้ดินแทนจวบกระทั่งราวปี 2489 (Eiji Murashima, 2002,193)
บทบาทก๊กมินตั๋งที่นิยมเจียงไคเช็ก
กลุ่มก๊กมินตั๋งในไทยนำโดยพ่อค้าจีน เช่น เหียกวงเอี่ยม ตันซิวเม้ง ตันเก็งชวน เลี่ยวกงโพ้ว (ขุนเศรษฐภักดี) แต้จือปิง และอื้อจือเหลียง (อุเทน เตชะไพบูลย์) และมีสมาชิกเกือบ 1 หมื่นคน ในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานจีน ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น ตันซิวเม้ง หวั่งหลี และเหียกวงเอี่ยม พ่อค้าจีนในไทยคนสำคัญเป็นฝ่ายนิยมเจียงไคเช็ก (มูราชิมา, 2539, 29-33)
กิจกรรมกลุ่มฯ ขับเคลื่อนโดยสมาคมแต้จิ๋วซึ่งมีบทบาทในการรณรงค์เรี่ยไรและขายพันธบัตรระดมทุนจากชาวจีนในไทยให้กับเจียงไคเช็ก ออกหนังสือพิมพ์จีนปลุกใจให้คนจีนรักบ้านเกิดเมืองนอนและต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนในการเดินทางของเยาวชนจีนในไทยกลับไปต่อสู้กับญี่ปุ่นในจีน (มูราชิมา,2539, 26-54)
นอกจากนี้ ในช่วงนั้น มีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นหลายกลุ่ม เช่น สมาคมจีนสยามต่อต้านและปลดแอกแห่งชาติ และคณะยุวชนไตรราษฎร์ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้นำโดย ตันซิวเม้ง และองค์กรของหลานอี้เซ่อ อันเป็นองค์กรสืบข่าวฝ่ายนิยมเจียงไคเช็กของนายพลไต้ลี่ (เออิจิ มูราชิมา, 2541, 127)
เหียกวงเอี่ยม ประธานสมาคมพาณิชย์จีนและเหรัญญิกสมาคมแต้จิ๋ว เป็นแกนนำสำคัญในการสนับสนุนจีนต่อต้านญี่ปุ่นด้วยการรวบรวมเงินบริจาคจากชาวจีนโพ้นทะเลไปมอบให้รัฐบาลจีน เมื่อเขาเดินทางกลับจากจีน และเริ่มภารกิจในการต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2482 เขาถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงงิ้วฮั้งจิว บนถนนเยาวราช ต่อมาตำรวจจับผู้ร้ายได้ซึ่งพัวพันกับกลุ่มชาวจีนที่ทำการค้ากับญี่ปุ่น (พรรณี บัวเล็ก, 2540, 61)
กล่าวโดยสังเขปแล้ว กิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนกลุ่มก๊กมินตั๋งในไทยมี 5 ลักษณะ เช่น การเรี่ยไรซื้อพันธบัตรของรัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็ก การสนับสนุนปัจจัยด้านต่างๆ ส่งไปยังชาวจีนที่บ้านเกิด การกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับญี่ปุ่น การลงทุนในจีน และคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น (มูราชิมา, 2539, 47)
สำหรับนายพลไต้ลี่ (1897-1946) เป็นนายทหารผู้ใหญ่จีนฝ่ายอำนวยการเมืองต่อไทย มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าใหญ่ตำรวจลับของก๊กมินตั๋ง มีเครือข่ายสายลับในไทยกว้างขวาง สายลับทั้งหลายล้วนขึ้นตรงต่อนายพลผู้นี้ (ปรีดี พนมยงค์, 2527, 89; เนตร, 2500, 375-377)
นับแต่รัฐบาลจอมพล ป.ก้าวขึ้นมามีอำนาจและดำเนินนโยบายรัฐนิยมรัฐบาลพยายามลดความภักดีของคนจีนในไทยต่อประเทศจีนลงและพยายามทำให้คนจีนกลายเป็นคนมีสัญชาติไทย
ในห้วงแห่งความพยายามเปลี่ยนคนจีนให้กลายเป็นไทยนั้น มีพ่อค้าจีนบางคนที่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นไทยตามนโยบายรัฐบาล เช่น เตียลั่งชิ้ง หรือสหัส มหาคุณ ประธานสมาคมพาณิชย์จีน ได้บริจาคเงินให้กับรัฐบาลในการดำเนินนโยบายรัฐนิยมและการดำเนินการทางวัฒนธรรมในช่วง 2482 ด้วย (Eiji Murashima, 2002, 196)
กลุ่มนิยมวังจิงไว
ในระหว่างสงครามญี่ปุ่น-จีน ก๊กมินตั๋งในจีนแตกแยกออกเป็น 2 กลุ่มระหว่างรัฐบาลวังจิงไวที่ญี่ปุ่นสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นที่เมืองนานกิง (30 มีนาคม 2483) ภายหลังที่ก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงไคเช็กย้ายไปตั้งรัฐบาลที่เมืองจุงกิงแล้ว รัฐบาลจีนทั้งสองคณะต่างแข่งขันกันช่วงชิงความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลจีน โดยรัฐบาลของวังจิงไวถูกมองจากกลุ่มนิยมเจียงไคเช็กว่าเป็นรัฐบาลทรยศขายชาติ หรือรัฐบาลหุ่นเชิดญี่ปุ่น (มูราชิมา, 2539, 193)
ไม่แต่เพียงความขัดแย้งของ 2 รัฐบาลที่ช่วงชิงความชอบธรรมและการมีบทบาทต่อญี่ปุ่นผู้รุกรานจีนที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังมีผลทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวจีนที่สนับสนุนญี่ปุ่นและต่อต้านญี่ปุ่นในชุมชนชาวจีนในไทยได้ดำเนินไปอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลานั้น ความขัดแย้งทางการเมืองในจีนมีผลทำให้รัฐบาลไทยมองว่า คนจีนในไทยขณะนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสนับสนุนเจียงไคเช็ก กลุ่มสนับสนุนวังจิงไว ได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตญี่ปุ่นในไทย และกลุ่มคนจีนที่ยินยอมปฏิบัติตามรัฐบาลไทย (มูราชิมา, 2539, 194)
ในช่วงต้นสงครามนั้น มีการบันทึกว่า คนจีนที่นิยมเจียงไคเช็กกับวังจิงไวในไทยมีอยู่จำนวนใกล้เคียงกัน (มูราชิมา, 2539, 29)
ภายหลังที่ไทยยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทัพ (ธันวาคม 2484) และลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น (มกราคม 2485) แล้ว จากหลักฐานภาพถ่าย ที่หน้าอาคาร “สมาคมความร่วมมือแห่งบูรพทิศสาขาไทย” มีการประดับประดาธงไทย ธงญี่ปุ่น และธงจีนหลายแบบในสมัยวังจิงไวบนถนนเยาวราช เช่น ธง 5 ชนชาติภายใต้เอกภาพ (ธง 5 แถบสี) ธงชาติจีนที่เสริมชายธงสามเหลี่ยมบนธงเดิมที่มีข้อความว่า “สันติภาพ ต่อต้านคอมมิวนิสต์และสร้างชาติ”
ต่อมาเจียงไคเช็กสามารถสร้างความร่วมมือกับเหมาเจ๋อตุง ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เป็นแนวร่วมในการต่อต้านกับญี่ปุ่นได้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2480
ด้วยความอ่อนโอนต่อความต้องการญี่ปุ่นของแกนนำของก๊กมินตั๋งในปีกของวังจิงไวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของความไม่พอใจของเยาวชนอย่างกว้างขวางในจีนอันมีผลต่อสำนึกเยาวชนจีนในไทยด้วย ส่งผลทำให้เยาวชนจีนในไทยเดินทางไปรับใช้ชาติยังจีนถึง 2,000 คน ส่วนหนึ่งเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยหวงผู่ถึงกว่า 300 คน
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของเยาวชนจีนในไทยที่เข้าร่วมการต่อต้านญี่ปุ่นในจีนนั้น เหียกวงเอี่ยม แกนนำก๊กมินตั๋งในไทยเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย (มูราชิมา, 2539, 51-52)
จันทร์ชัย หญิงประยูร เล่าไว้ในเพจสมาคมศิษย์เก่าวัดพลับพลาชัยว่า พ่อของเขาเป็นคนฝั่งธนบุรี หลังจากพ่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วได้รับทุนไปเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยหวงผู่
ช่วงต้นสงคราม หลังจากไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านทัพไปอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2484 รัฐบาลจอมพล ป. กระจายเสียงวิทยุประกาศยกย่องญี่ปุ่นแล้วชวนประธานาธิบดีจีนให้ร่วมมือกับญี่ปุ่นต่อสู้กับสัมพันธมิตร เจียงไคเช็กเห็นว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาทจีนอย่างร้ายแรงที่ชวนให้จีนก้มหัวต่อญี่ปุ่น
เจียงไคเช็กกล่าวว่า “พิบูลฯ หยามหน้าชาติจีนมากนักที่รับรองรัฐบาลแมนจูกั๊วะและรัฐบาลวังจิงไวที่ทรยศต่อชาติจีน…” (ปรีดี พนมยงค์, 2527, 162-171)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022