ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เล่าให้ฟังถึงการร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนใช้เวลากว่า 20 ปีจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ 26 เป็นสายพันธุ์ที่ทนทานกับภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ทนต่อโรคพืชและแมลง ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมี
ในบทความข้าวไทยสู้โลกร้อนตอนที่ 2 นี้ ดร.มีชัยเล่าถึงสภาพพื้นที่นาชลประทานซึ่งแนวโน้มจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับประเทศ เพราะพื้นที่นาข้าวจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซต์ และมีเทน ซึ่งเป็น 3 ตัวการสำคัญของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อสภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวนสุดขั้ว
ในพื้นที่นาชลประทาน ชาวนาจะกักเก็บน้ำเอาไว้ จุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำนิ่งจะผลิตก๊าซมีเทนและผุดขึ้นจากท้องนาโดยตรงราว 10% และอีก 90% ทำปฏิกิริยากับรากข้าวแล้ววิ่งผ่านต้นข้าวสู่ชั้นบรรยากาศ
ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ในแปลงข้าวไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับการปล่อยก๊าซตัวนี้จากโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากควันรถยนต์ เพราะเมื่อต้นข้าวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้ว ต้นข้าวจะดึงกลับมาใหม่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง เป็นการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ
สำหรับไนตรัสออกไซด์จะเกิดมากในแปลงข้าวที่มีน้ำน้อย
ปัจจุบันกรมการข้าว และกรมชลประทานสร้างสมดุลด้วยการพัฒนาพื้นที่ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งให้ต้นข้าวอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ชื้นเกินไปหรือไม่แห้งเกินไปเพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษและลดการใช้น้ำด้วย
การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการจัดการที่อยู่ข้างนอกต้นข้าว ทาง สวทช.มองเห็นว่าทำไมไม่จัดการแก้ปัญหาภายในต้นข้าว เพราะคาดเดาได้ว่าก๊าซพวกนี้ต้องปลดปล่อยผ่านต้นข้าว 90%
ดังนั้น สวทช.จึงเตรียมแผนศึกษาเรื่องนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู้โลกร้อน” จะเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าไปประสานในอนาคต ซึ่ง สวทช.ศึกษาในพันธุ์ข้าวทุกกลุ่ม เริ่มจากข้าวหอมมะลิพื้นนุ่ม เหมือนข้าวหอมมะลิ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เขตน้ำฝนส่วนใหญ่ก็จะปลูกหอมมะลิ
แต่ปัญหาของข้าวหอมมะลิในบ้านเรายังไม่สามารถกำหนดได้ด้วยฝ่ายเดียว ต้องขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วน เพราะเป็นข้าวมวลชนของประเทศ สร้างชื่อเสียงและรายได้
การที่เราจะทำอะไรเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิจะกระทบในหลายภาคส่วน ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร และภาคส่งออกธุรกิจ ถ้าไทยจะมีข้าวตัวใหม่ที่มาเสริมสร้างยกระดับ หมายถึง ข้าวพันธุ์ใหม่จะต้องดี ต้องเหนือกว่าพันธุ์เดิม
สวทช.และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวต้องค้นคว้าศึกษา ก็คือว่าองค์ประกอบทางด้านสมบัติของรสชาติการชิม
นี่เป็นที่มาของทาง สวทช.ในการศึกษาโครงสร้างของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับแป้งซึ่งประกอบด้วยพันธุกรรม (ยีน) ประมาณ 17 ยีน เป็นเอกลักษณ์ของข้าวของมะลิไทยซึ่งรวมถึงความหอม รสชาติ การกิน ความนุ่ม ความหวาน
ตอนนี้ศึกษาวิจัยพัฒนาแล้วประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหลืออีกนิดเดียวที่ผู้ส่งออกข้าวยังติดใจอยู่
การวิจัยข้าวในแต่ละสายพันธุ์ใช้เวลานานมาก ในอดีตไม่มีเครื่องมือสมัยใหม่ต้องใช้เวลาราว 15-20 ปีต่อ 1 สายพันธุ์ ปัจจุบันใช้กระบวนการด้านชีวโมเลกุลหรือโมเลกุลเครื่องหมายพันธุกรรม อย่างเช่น เรื่องคุณสมบัติของแป้ง 17 ยีนก็ใช้โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอ
เราสกัดดีเอ็นเอของพันธุ์ข้าวตัวนั้นมาผสมกันตามธรรมชาติได้ประชากรออกมาที่มันกระจายตัวระหว่างพ่อกับแม่ที่มีลักษณะที่เราอยากได้
จากนั้นใช้โมเลกุลเครื่องหมายดีเอ็นเอ ดูว่ามีชิ้นพันธุกรรมที่มาจากพ่อกับแม่ตัวไหนที่เป็นเอกลักษณ์ของ 17 ยีน ข้าวอายุเพียงแค่ 10 วัน หรือไม่ถึงเดือน เราก็รู้แล้วว่าต้นมีเรื่องแป้งที่ดีหรือไม่ดี หอมหรือไม่หอม ต้านทานโรคไหม้หรือไม่ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้งหรือไม่ ทนน้ำท่วมฉับพลันหรือเปล่า สามารถดูได้เลย
กระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบดังกล่าวซึ่งเรียกว่าเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างแม่นยำ (precision breeding) ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลา 10 กว่าปี ตอนนี้แค่ 3-5 ปี ในการพัฒนาต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการได้
เมื่อได้ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ก็ลงไปสู่ในแปลงเกษตรกรใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
รวมกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ห้องปฏิบัติการจนถึงแปลงเกษตรกรใช้เวลา 7-8 ปี ถือว่าเร็วสุดแล้ว

สําหรับพันธุ์ข้าวประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็นกลุ่มข้าวหอมพื้นนุ่ม จะแบ่งเป็น 2 ชุด
ข้าวหอมพื้นนุ่มที่เป็นเทียบเคียงกับหอมมะลิ ซึ่งจะต้องละเอียดอย่างที่กล่าวไป เสร็จแล้วก็จะเป็นข้าวหอมพื้นนุ่มอีกชิ้นหนึ่ง อย่างข้าวปทุมธานีเป็นข้าวหอมพื้นนุ่มที่ยังเทียบเคียงไม่ถึงหอมมะลิแต่รองลงมา เราจะทำตัวนี้ร่วมกับหลายภาคส่วน
ตอนนี้สามารถทำให้เป็นพันธุ์ข้าวต้านทานต่อโรคต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร ช่วยเกษตรกรได้ ช่วยได้ 2 แบบ
อย่างแรก คือ รักษาเสถียรภาพผลผลิต เกษตรกรปลูกไป โชคร้ายเจอโรคระบาด แมลงถล่ม เจอน้ำท่วม ภัยแล้ง อันนี้จะใส่เขาไปว่ารักษาเสถียรภาพผลผลิต
แบบที่ 2 เราจะเพิ่มระดับผลผลิตต่อไร่ ปกติชาวนาปลูกข้าวหอมปทุมธานี ได้ผลผลิต 1 ตันต่อไร่ หรือร้อยถังต่อไร่ เราตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 120-150 ถังต่อไร่
ต่อมาข้าวที่สร้างรายได้ให้ประเทศสูงที่สุดก็คือข้าวขาว
ผลจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโลกร้อน ทำให้มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวขาวของอินเดีย ทำให้อินเดียเกรงว่าจะไม่เพียงพอต่อการบริโภคข้าวของประชากรในประเทศ จะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ อินเดียเลยประกาศลดการส่งออก ระงับการส่งออก ทำให้ประเทศไทยในกลุ่มข้าวขาวสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น ก็เป็นโอกาสของประเทศไทย แต่เป็นเหตุการณ์เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
ในกลุ่มข้าวขาว ส่วนใหญ่จะปลูกอยู่ในพื้นที่นาชลประทาน
สิ่งที่เขาจะทำได้ก็คือว่า เขาจะต้องมีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น อายุข้าวจะต้องไม่ยาว ส่วนใหญ่ก็จะต้องประมาณ 100 วัน ไม่เกิน 100 วันต่อหนึ่งรุ่น เพราะฉะนั้น ปีหนึ่งก็จะปลูกได้ประมาณ 2 รุ่นถึง 3 รุ่น
ผมไปคุยกับทางสมาคมผู้ส่งออก สิ่งที่สมาคมอยากได้ประมาณ 1.2-1.5 ตันต่อไร่ เป็นผลดีต่อเกษตรกร ดีต่อห่วงโซ่ของการผลิต ถ้าขยับราคาลงมาได้ 400 กว่าไม่เกิน 500 เหรียญต่อตัน จะแข่งขันกับข้าวต่างประเทศได้
ข้าวเวียดนามแข่งกับข้าวไทยในเรื่องของความหอม เรื่องต่างๆ ก็สูสีเบียดกัน
เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว เวียดนามยังส่งออกสู้ไทยไม่ได้ ต่อมารัฐบาลเวียดนามทุ่มงบประมาณ 3,000 ล้านบาทพัฒนาเรื่องการปรับปรุงเรื่องพันธุ์ข้าว เป็นที่มาว่าทำไมเวียดนามถึงก้าวหน้าเร็วมากสุด ขึ้นมาเป็นระดับท็อปของโลก
ส่วนประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 50-60 ล้านไร่ แต่มีปัญหาผลผลิตที่น้อยลง เสี่ยงต่อฟ้าฝน โรคแมลง ทำให้ไม่สามารถสร้างความมั่นคงของชาวนาในการที่จะปลูกข้าวมีรายได้ที่มาก
ถ้าลงทุนเยอะ อย่างเช่น ชาวนาเจอโรคไหม้ ชาวนาจะใช้สารเคมีฉีด ป้องกันโรคไหม้ 6 ครั้งต้องเสียเงินค่ายา ค่าพ่นเพื่อป้องกัน แค่โรคไหม้ตัวเดียว ลงทุนเพิ่มไปเท่าไหร่ ถ้าไม่ฉีดสารเคมี เกษตรกรจะลดค่าใช้จ่ายและจะก้าวขยับไปสู่การผลิตข้าวอินทรีย์ได้ เพราะสามารถต้านทานโดยตรงในดีเอ็นเอข้าวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปใส่สารเคมีเข้าไป
ส่วนกลุ่มข้าวโภชนาการ ทาง สวทช.ทำวิจัยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะค่อนข้างเด่นมากด้านกลุ่มข้าวโภชนาการ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสารแอนติออกซิแดนต์ มีสารอะไรที่เสริมสร้างในการที่จะสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ซึ่งผมเห็นสรรพคุณมากมาย
ตอนนี้เรากำลังจะออกข้าวไรซ์เบอร์รี่ 2 ไรซ์เบอร์รี่ 3 จะออกมาอีกไม่นาน ในอีกปี 2 ปีนี้ จะต้านทานโรคมากขึ้น ไรซ์เบอร์รี่ 3 มีผลผลิตสูงขึ้น รสชาติอร่อยและหอมด้วย
สำหรับแผนของ สวทช.เตรียมไว้นั้นเนื่องจากในระยะไม่เกิน 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะตั้งกำแพงภาษี ประเทศไหนที่ปลูกข้าวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์และมีเทน จะเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แนวโน้มเช่นนี้โอกาสข้าวไทยในตลาดโลกจะลดลงเพราะการเก็บภาษีทำให้ข้าวไทยมีราคาแพงขี้น
ขณะที่เวียดนามประกาศมาแล้วว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางอนาคตของข้าวไทย ไม่เพียงต่อสู้กับภาวะโลกร้อน มีผลผลิตสูง ปลอดสารเคมี
แต่ยังต้องลดหรือหยุดการปลดปล่อยก๊าซพิษด้วยจึงก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022