อะไรคือ Soft Power เกี่ยวกับหนัง นักวิชาการผ่าโครงสร้าง โอกาส-อุปสรรค ‘ภาพยนตร์ไทย’

ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมวงการภาพยนตร์ไทยมีปรากฏการณ์ความสำเร็จให้เห็นเป็นระยะๆ มาต่อเนื่องหลายเรื่อง

รศ.ดร.อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้ความเห็นถึงการต่อยอดเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น ว่ารัฐบาลควรส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเรื่องกลไกกฎหมาย กลไกที่สนับสนุน (Support) และกลไกเรื่องงบประมาณ

ประการแรก กลไกกฎหมาย เราไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพ 100% ไม่มีประเทศไหนหรอกที่กฎหมายจะให้เสรีภาพ 100% ให้คุณโชว์ทุกอย่างผ่านหน้าจอได้ แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีการมองไปถึงภาคผลิตที่เขาเสียเปรียบ เช่น มองไปถึงเรื่องสิทธิแรงงานสร้างสรรค์ หรือภาคผลิตที่เป็นผู้ผลิตรายย่อย อย่างคนทำหนังที่เป็นศิลปินตัวเล็กๆ ไม่ได้สังกัดค่ายหนังใหญ่ๆ ซึ่งค่ายหนังใหญ่ๆ ได้เปรียบอยู่แล้วเพราะมีทุนสูงไปดีลกับโรงภาพยนตร์ หรือจะทำหนังเข้าสตรีมมิ่งก็มี Production ยิ่งใหญ่อลังการ

กฎหมายเหล่านี้ควรมาส่งเสริมและปรับโครงสร้างให้ Production – Distribution – Exhibition 3 อย่างนี้ต้องไม่เป็นลักษณะ Vertical Integration หรือการควบรวม คือ ไม่ใช่คุณประกอบกิจการโรงภาพยนตร์แล้วคุณเป็นคนทำหนังด้วย จัดจำหน่ายด้วย เป็นสายหนังด้วย

พูดง่ายๆ คือ คุณไปควบธุรกิจทุกอย่างในมือคุณคนเดียว ในความเป็นจริงควรมีการจัดการ กฎหมายควรมีความเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นคนที่ทำหนังใหม่ๆ ที่ไม่มีทุนเขาจะแทรกตัวเข้าไปได้อย่างไร เขาไม่มีทุนเขาจะไปดีลกับโรงหนังใหญ่ๆ ได้อย่างไร ตรงนี้เองที่รัฐต้องไปจัดการเรื่องกฎหมาย พร้อมทั้งส่งเสริม

จริงๆ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ปัจจุบันมีมาตรา 9 ให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานต้องกำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ไทย ซึ่งร่างมาตั้งแต่ปี 2551 ตอนนี้ปี 2567 ยังไม่ได้กำหนดเลย เมื่อไม่มีการกำหนดก็ไม่มีใครจะเอาผิดใคร ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ

ถามว่ากลไกที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามทำ ทำได้ไหม ก็รอดูนะ แต่เห็นองค์ประกอบที่เข้ามาแล้วก็เริ่มไม่แน่ใจ เพราะมีองค์ประกอบที่เป็นโรงภาพยนตร์เข้ามาด้วย เขาอาจไม่เห็นด้วยที่จะไปกำหนดสัดส่วนให้ฉายหนังไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต ทั้งๆ ที่ถูกกำหนดในกฎหมาย แต่ไม่ได้มีการปฏิบัติเลย

 

ส่วนที่สอง คือ เรื่องกลไกสนับสนุน เชื่อหรือไม่คนทำหนังไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ตาม เช่น ช่างกล้อง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับฯ ผู้ช่วยผู้กำกับฯ ผู้ช่วยกล้อง คนเขียนบท ตัวเล็กตัวน้อยเป็นแรงงานที่ราคาถูก ถ้าเขาไม่ได้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อในแต่ละปี แล้วจะมีแรงหรือความคิดสร้างสรรค์ไปทำสิ่งดีๆ หรือหนังดีๆ ได้อย่างไร

สำหรับเรื่องแรงงาน จะเห็นแคมเปญที่สหภาพวิชาชีพทางด้านภาพยนตร์พยายามทำแคมเปญไม่ให้คนที่ทำงานกองถ่ายทำงานเกิน 12 ชั่วโมง อันนี้ดี แต่จริงๆ แล้วต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งควรที่จะเป็นสิ่งที่คนดู คนทำงานสถาบันการศึกษา ผู้ผลิต รัฐบาล

ทุกคนต้องมาช่วยกันเรียกร้องว่าเป็นสิ่งที่ควรจะดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและออกกฎหมายรองรับแรงงานเหล่านี้ว่าห้ามทำหนักเกินไป เพราะทำหนักเกินไปก็ไม่มีประโยชน์

คุณทำงานเกิน 12 ชั่วโมงก็คิดอะไรไม่ออกแล้ว แถมอันตราย งานก็ไม่มีคุณภาพ แล้วค่าแรงก็อาจจะสูงในบางตำแหน่งและต่ำมากในบางตำแหน่ง

 

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมากเรื่องกลไกสนับสนุน ซึ่งในฐานะฝ่ายวิชาการวิจัย รศ.ดร.อุณาโลมบอกว่า เมืองไทยไม่มีการรวบรวมตัวเลขเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่พอจะเชื่อถือได้เลย ข้อมูลเหล่านี้ถูกปกปิดมาก

ถามว่ามีผลกระทบต่อการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไหม ตอบเลยว่ามีผลกระทบสูงมาก หากดูในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง อังกฤษ สหรัฐ เกาหลี จะมีการเก็บตัวเลขด้านการตลาดเรียกว่าเป็นข้อมูล (Data) ที่สำคัญมาก

เช่น คนไทยจะดูหนังเรื่องนี้เพราะเหตุอะไร ปีนี้หนังประเภทไหนที่ได้รับความนิยม แล้วรายได้จริงๆ ของโรงภาพยนตร์เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับรายได้ที่ถูกหักแล้วของฝ่ายผู้ผลิต

ข้อมูลตรงนี้ต้องเก็บให้หมด ไม่อย่างนั้นเวลาที่จะไปพัฒนาตลาด พัฒนาคอนเทนต์ ก็ไม่รู้ว่าผู้ชม (Audience) ของเราต้องการอะไร

แล้วอุปสรรคจริงๆ อยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่างเดี๋ยวเราก็ไปว่าโรงภาพยนตร์ เดี๋ยวเราก็ไปว่าสายหนัง เดี๋ยวเราก็ไปว่ารัฐบาลทำกฎหมายไม่ดี

คุณต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ เก็บตัวเลขอย่างละเอียด ที่ผ่านมามีการเก็บบ้างโดยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ แต่กลไกซัพพอร์ตเรื่อง Data Center ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การจะไปขอให้เขาเปิดเผยเป็นเรื่องที่ยาก

ดังนั้น ควรจะมีกฎหมายที่ผลักดันเรื่องนี้ เพราะจะต่อยอดไปสู่การทำคอนเทนต์ การทำวิจัย การที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะสร้างโรงหนังขนาดเล็กดีไหม ข้อมูลต้องมี แต่ตอนนี้ไม่มีข้อมูล

ที่สำคัญหน่วยงาน support ที่ส่งเสริมจะต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ หน่วยงานส่งเสริมภาพยนตร์

ซึ่งปัจจุบันมีกระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริม เราก็ทำแผนยุทธศาสตร์ภาพยนตร์ทุก 5 ปี แต่แผนเหล่านี้พอมาถึงช่วงปฏิบัติ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

คุณมักจะอ้างว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย บางปีเขาสำรวจ มูลค่า 20,000 เกือบ 30,000 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญคือ มูลค่า 20,000 ล้านบาทกลุ่มไหนได้ไป คุณอ้างเวลาเขาทำแผนยุทธศาสตร์ภาพยนตร์ว่าภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องส่งเสริมเนื่องจากว่าทำรายได้เข้าประเทศ แล้วก็มีเงินหมุนเวียนรายได้ถึงราว 30,000 ล้านบาท รัฐบาลจัดงบประมาณมาให้ ปรากฏว่า 30,000 ล้านบาท 70% ไปตกอยู่ที่สิ่งที่งานวิจัยเรียกว่า ธุรกิจระบบการฉายภาพยนตร์ ซึ่งรวม Distribution กับ Exhibition 70%

ตัวเลขสมมุติ ถ้าหากเราเพิ่งจบมา แต่เราไอเดียกระฉูดเป็นศิลปินหน้าใหม่ผู้กำกับฯ หน้าใหม่ ถามว่า 30,000 ล้านบาท เรามีส่วนกี่ล้านบาท เราแทบจะไม่มีส่วนเลยใช่ไหม เพราะว่าติดกับดักแบบนี้

ดังนั้น กลับมาที่แผนยุทธศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรมพยายามทำแล้วอ้างว่า 30,000 ล้านบาท แผนยุทธศาสตร์เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ คุณจะทำอย่างไรให้บรรลุผล ซึ่งเขาก็ทำ Implement มีแผนเขามี Action Plan แต่พอถึงเวลาจริงๆ จะเห็นว่าให้ทุนทำหนัง รายย่อยออกบูธ ให้ทุนไปเขียนบท ถึงเวลาจริงๆ ทำได้แค่นี้

ดังนั้น เวลาจะส่งเสริมหน่วยงานเหล่านี้ต้องใช้ข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น ข้อมูลสถิติ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทำไมถึงผิดพลาด

 

ส่วนเรื่องกลไกงบประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งเรื่องของการส่งเสริม แต่งบประมาณที่สนับสนุนมาถึงภาพยนตร์ไม่มี หรือแหล่งทุน สถาบันต่างๆ ที่จะให้กู้หรือสนับสนุนฟรีๆ เลย แบบที่ต่างประเทศมีก็มีน้อยมากจริงๆ

ดังนั้น เมื่องบประมาณน้อยแล้ว และสภาพการตลาด วงจรห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป็นแบบนี้ คุณคิดว่าหนังไทยจะไปได้หรือ

ต่อให้ปี 2566 มีคนบอกว่าหนังไทยกำลังบูมแล้วโดยเฉพาะครึ่งปีหลัง ตั้งแต่ เรื่องสัปเหร่อ ธี่หยด เป็นต้นมา ปี 2567 มีความหวังมากเลย

แต่เชื่อหรือไม่ว่าเดี๋ยวสักพักหนึ่งวงจรก็จะมีขึ้นมีลง เพราะจริงๆ ไม่ได้แก้ที่องค์ประกอบโครงสร้าง

สิ่งที่แก้ยากมากคือ เรื่องระบบคิดและค่านิยมที่สถาบันการศึกษาปลูกฝังมาว่าคอนเทนต์แบบนี้รับไม่ได้ต้องโดนวิจารณ์ แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากในความเห็นของดิฉัน คือนอกจากคนดูแล้วนะ คือศิลปินหน้าใหม่ ศิลปินตัวเล็กๆ แล้วโรงหนังขนาดเล็กอยู่ไม่ได้หรอก

ในที่สุดเราก็ไม่มีคอนเทนต์ดีๆ

 

เมื่อถามถึงภาพยนต์ไทยจะเป็น Soft Power ได้หรือไม่ รศ.ดร.อุณาโลมกล่าวว่า ตามหลักวิชา Soft Power ไม่ใช่ภาพยนตร์ ไม่ใช่มวยไทย ไม่ใช่การนวด ไม่ใช่แฟชั่น

แต่ Soft Power คือสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าที่จะไปโน้มน้าวทดแทนที่เราจะไปใช้ Hard Power

ถามว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือที่บรรจุคุณค่านั้นได้ไหม

ภาพยนตร์มีศักยภาพโดยธรรมชาติ ภาพยนตร์เป็นสื่อธรรมชาติที่ทรงพลัง แน่นอนโน้มน้าวใจคนได้

แต่สิ่งที่จะบรรจุลงไปเพื่อโน้มน้าวใจ ถามว่าคนจะดูไหม ตรงนี้ต่างหากคือคุณค่า Value เป็น Resource แหล่งหนึ่งที่จะสร้าง Power ได้

สิ่งนี้คืออะไร เช่น Production ต้องดี คอนเทนต์ที่คุณบรรจุลงไป ต้องมีศักยภาพพอที่จะไปตรึงคนดูในระดับนานาชาติได้

ซึ่งเรื่องคอนเทนต์ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับเรื่องระบบการศึกษา เรื่องกรอบคิดของคนในชาติ อุดมการณ์ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องทำหนังแบบเสียดสีสังคมหนักๆ แล้วส่งออกแล้วบอกว่ามีคุณค่า ก็ไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น

คำว่า Soft Power หมายถึงจะต้องมีระดับที่ไม่ใช่ National แต่จะต้องไป Transnational คือสามารถส่งออกได้ ข้ามชาติได้ ไม่ใช่แค่เราสร้างหนังเชิดชูวีรบุรุษเสร็จ เราชมกันเอง จบกันเอง แล้วบอก Soft Power แล้วคนอื่นดูไม่รู้เรื่องหรือคนอื่นดูแล้วไม่อิน อย่างนี้ก็ไม่ใช่ Soft Power

หนังดี คือต้องมีคุณค่าบางอย่างที่ประชาคมโลกรู้สึกว่าอันนี้คือ Power ที่ไปทัชใจเขา เขาถึงจะยอมเสียเวลาไปดู ควักเงินเดินทางมาท่องเที่ยว ควักเงินซื้ออาหาร ควักเงินซื้อสินค้าไทย

ดังนั้น โดยธรรมชาติของภาพยนตร์มีศักยภาพ Nature of Media อยู่แล้วและมีศักยภาพสูงมาก

แต่คุณค่าที่จะใส่เข้าไปทั้งระบบ support ระบบกฎหมาย งบประมาณ Production การแก้ไขเชิงโครงสร้างธุรกิจที่ทำให้มีความเป็นธรรม ให้กระจายรายได้ ให้คำนึงถึงปัจเจกชนทั้งหลายที่ทำงานอยู่ในวงการอุตสาหกรรม ไม่ดูถูกเป็นแรงงานราคาถูกจนเกินไป จะยิ่งทำให้คอนเทนต์นั้นมีพลังยิ่งขึ้น

ซึ่งเราต้องสู้ต่อไป

ชมคลิป