วงค์ ตาวัน : ครูแกะและณิชาแพะ

วงค์ ตาวัน

หลังจากผู้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้และเข็ดหลาบจากเหตุการณ์ “ครูจอมทรัพย์” ซึ่งร้องเรียนว่าตนเองเป็นแพะ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นแกะ ครั้นพอเกิดเหตุการณ์ น.ส.ณิชา เกียรติธนะไพบูลย์ ร้องเรียนว่าเป็นแพะ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงที่ จ.ตาก เนื่องจากบัตรประชาชนหาย แล้วถูกแก๊งคนร้ายนำไปเปิดบัญชีธนาคารถึง 7 แห่ง เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินเข้าเป็นจำนวนมาก

ในตอนเริ่มต้นที่ปรากฏเป็นข่าว ยังมีประเด็นข้อสงสัยหลายประการ ยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ณิชาเป็นแพะแน่นอนหรือไม่

“จนกระแสสงสัยเริ่มมาแรงมากขึ้น ยิ่งมีการนำเอาคดีครูจอมทรัพย์มาเปรียบเทียบ ยิ่งอลหม่านเข้าไปใหญ่ ชักเกิดความไม่มั่นใจว่า ณิชาคือแพะหรือแกะกันแน่!?”

สุดท้าย เมื่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. โดดเข้ามาดูรายละเอียดคดีเอง เนื่องจากเป็นข่าวใหญ่ที่วิจารณ์กันกระหึ่มเมือง เป็นเรื่องใกล้ตัวของชาวบ้าน และเพื่อให้เกิดความถูกต้องเที่ยงธรรมในการทำคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จึงสั่งการให้ตรวจสอบพยานหลักฐานทุกแง่มุม ข้อสังสัยเกี่ยวกับตัวณิชาที่ร้องเรียนว่าเป็นแพะ ให้มีการสืบสวนสอบสวนให้ชัดทุกประการ

เช่น ปูมประวัติเดิมที่เคยทำบัตรประชาชนหลายครั้ง กรณีที่เงินในบัญชีเดิมของณิชามีเงินหมุนเวียนถึง 6 ล้านบาท ไปจนถึงกรณีที่มีการโอนเงินจากบัญชี 1 แสนบาท ไปเกี่ยวพันกับบัญชีที่พัวพันกับคดี

เมื่อทุกอย่างตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบทุกประเด็น

พล.ต.อ.จักรทิพย์จึงเปิดแถลงผลสรุปการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ในทุกปม

โดยผลจากการจับกุมแก๊งคนร้ายในคดีนี้ได้ครบ 4 คน นำโดนนายไซม่อน ชาวแคเมอรูน และ 3 หญิงไทย ทำให้ได้รายละเอียดกระบวนการหลอกลวงชาวบ้าน

*รวมทั้งสรุปได้ชัดเจนว่า น.ส.ณิชา เป็นเพียงแพะ ไม่เกี่ยวข้องกับแก๊งคนร้ายแน่นอน ให้ถอนฟ้องในคดีที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา!*

คืนความเป็นธรรมให้กับหญิงสาว ที่หวิดจะเป็นแพะติดคุกติดตะราง

ให้ทั่วทั้งสังคมได้รับรู้ว่า ณิชาคือผู้บริสุทธิ์

“ทำให้หญิงสาวที่เหมือนยกภูเขาออกจากอก มอบกระเช้าดอกไม้ขอบคุณ ผบ.ตร. ที่ทำความจริงให้ปรากฏด้วยความรวดเร็ว”

ขณะเดียวกัน คดีดังคดีนี้ก็ให้บทเรียนกับคนทั่วไป

อย่าได้นิ่งนอนใจเมื่อบัตรประชาชนหาย เพราะบัตรอาจจะนำไปใช้เปิดบัญชีธนาคารหลอกลวงผู้คนไปทั้งบ้านทั้งเมือง

ขณะที่ระบบของธนาคาร ในการเปิดบัญชีใหม่ให้ลูกค้า ก็กลายเป็นที่วิจารณ์กันถึงช่องโหว่ ที่ทำให้เจ้าของบัตรประชาชนเกือบจะกลายเป็นผู้ร่วมแก๊งอาชญากรไปง่ายๆ

รวมถึงบทเรียนในการทำคดีของตำรวจ ต้องละเอียดรอบคอบทุกแง่มุม

ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเอาผู้บริสุทธิ์เข้าคุกไปในที่สุด!

คดีณิชา ทำให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงภัยของแก๊งวายร้ายในโลกยุคใหม่ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแก๊งโรแมนซ์สแกม ซึ่งกำลังระบาดหนักในบ้านเรา โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเป็นตัวการ และจ้างวานคนไทยให้ร่วมมือด้วย

ขณะที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น เน้นการติดต่อเหยื่อทางโทรศัพท์ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการเงิน หรือหน่วยปราบยาเสพติด ไปจนถึงอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน ข่มขู่เหยื่อให้ตกใจหรือหวาดกลัวว่า ไปมีชื่อพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย

จากนั้นหลอกลวงให้โอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อผ่อนคลายปัญหาหรือเพื่อเคลียร์คดีให้จบ

“ส่วนแก๊งที่เอาบัตรของณิชามาใช้เปิดบัญชีธนาคารประกอบอาชญากรรม เป็นแก๊งโรแมนซ์สแกม ไม่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ แต่วางตัวเป็นคนทั่วไป เป็นไฮโซ เป็นเศรษฐี เป็นคนหล่อคนสวย อาศัยสื่อโซเชียลหรือเว็บไซต์ ติดต่อกับเหยื่อ ใช้ข้อมูลที่สร้างขึ้นมาเอง ทำให้ลุ่มหลงหรือหลงเชื่อ หยิบยกเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงมาประกอบการหลอกลวง เพื่อให้เหยื่อโอนเงินไปเข้าบัญชีที่เปิดเตรียมเอาไว้”

เหตุการณ์ที่ทำให้ณิชาต้องเข้ามาพัวพัน เริ่มจากมีเหยื่อที่หลงเชื่อแก๊งของนายไซ่ม่อน โอนเงินจำนวนมากไปเข้าบัญชีที่ใช้ชื่อของ น.ส.ณิชา ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.บ้านตาก จ.ตาก

ต่อมาตำรวจได้ออกหมายเรียกตัวณิชา และในระหว่างนั้นณิชาได้รับแจ้งจากธนาคารถึงกรณีมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารถึง 7 แห่ง และมีเงินเข้าออกจำนวนมากผิดปกติ ทำให้รู้ว่าต้องเกี่ยวข้องกับบัตรประชาชนของตนเองที่หายไป

ขณะที่ณิชาพยายามจะเข้าร้องทุกข์เรื่องบัตรประชาชนที่หายไป ทำให้ไปมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีธนาคารอันผิดปกติ แต่จังหวะนั้นคดีที่มีผู้ไปแจ้งความร้องทุกข์ นำไปสู่การออกหมายจับ ทำให้ณิชาถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหา เสียอิสรภาพไปหลายคืน

*จนออกมาร้องเรียนว่าเป็นแพะ!?!*

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเร่งตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรแน่ จนพบข้อมูลที่อาจเป็นปมพิรุธเกี่ยวกับตัวของณิชา เช่น บัตรประชาชนหายบ่อย มีเงินในบัญชีหลายล้าน

เมื่อกลายเป็นข่าวใหญ่ วิพากษ์วิจารณ์กันหลายแง่มุม โดยเฉพาะความหวาดผวาของผู้คน กรณีถูกขโมยบัตรประชาชนแล้วเอาไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้กระทำผิด เป็นที่งุนงงสงสัยว่า เปิดบัญชีกันได้ง่ายๆ ถึง 7 ธนาคารเช่นนี้เลยหรือ แสดงให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบธนาคาร แต่ส่งผลร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างสาหัส

ทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ต้องลงมาดูเรื่องราวเอง

โดยสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มี พล.ต.อ.ธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ทท. เป็นมือหลัก เข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐานทุกปมประเด็น

จนได้ข้อสรุปปราศจากข้อสงสัยว่า ณิชาไม่เกี่ยวข้องแน่นอน

ย้อนกลับไปในคดีครูจอมทรัพย์นั้น เดิมทีพนักงานสอบสวนของตำรวจ ได้ดำเนินคดีกับครูจอมทรัพย์ว่าเป็นผู้ขับรถชนคนตาย จนกระทั่งคดีผ่านไปครบ 3 ศาล ครูจอมทรัพย์ต้องคำพิพากษาจำคุก เข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ ต่อมาเมื่อพ้นโทษ ได้เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม ว่าตำรวจจับตนเองเป็นแพะ ขอให้รื้อคดีใหม่

ขณะที่ฝ่ายตำรวจได้เข้ามาตรวจสอบคดีซ้ำ พบว่าทำไปอย่างถูกต้องทุกประการ และเริ่มพบพิรุธพยานใหม่ของครูจอมทรัพย์ โดยเฉพาะนายสับ วาปี ที่มาแสดงตัวว่าเป็นคนขับรถชนคนตายเอง แทนครูจอมทรัพย์

แต่ทีมงานของกระทรวงยุติธรรม ก็ยังเดินหน้านำคดีขึ้นสืบพยานใหม่ในศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าจะต้องรื้อฟื้นคดีหรือไม่

ลงเอยศาลตัดสินให้ยกคำร้อง โดยชี้ว่าพยานหลักฐานองฝ่ายครูจอมทรัพย์มีพิรุธมากมาย

“เมื่อการรื้อฟื้นคดีไม่สำเร็จ ตำรวจจึงลุยเดินหน้าเอาผิดครูจอมทรัพย์และพวก รวมทั้งขบวนการรับจ้างติดคุกแทน กลายเป็นคดีใหม่ ต้องเข้าคุกกันอีกรอบ”

แต่สำหรับคดีของณิชานั้น เมื่อมีการร้องเรียนว่าตนเองเป็นแพะ ตำรวจก็เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่

ในเบื้องต้นพบพิรุธข้อน่าสงสัย เรื่องบัตรประชาชนหายบ่อย มีเงินในบัญชีเยอะ แต่ด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะเมื่อ ผบ.ตร. ลงมาสั่งการให้ตรวจสอบเอง ข้อน่าสงสัยต่างๆ ก็ต้องหาคำตอบให้กระจ่าง ไม่ใช่เห็นว่าน่าสงสัย ไม่น่าเชื่อ แล้วไปรีบรวบรัดว่าณิชาไม่ใช่แพะแต่เป็นแกะ ก็คงยิ่งไปกันใหญ่

สุดท้ายด้วยการค้นหาความจริงให้สิ้นสุดทุกปมประเด็น ทำให้ณิชาได้รับการยืนยันถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์และพ้นผิดจากคดีที่มีการแจ้งความเอาไว้

องค์กรตำรวจก็กลับมาได้รับเสียงชื่นชม โดยเฉพาะจากณิชาเอง

การค้นหาความจริงอย่างถึงที่สุด ทำให้ตำรวจได้รับดอกไม้ไม่ใช่ก้อนอิฐ!