‘ระบบราชการไทย’ ในสายตาก้าวไกล-เพื่อไทย

“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งนะว่า ราชการไทยมันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเพื่อไทยเข้ามารอบนี้ ก็ปวดหัวกับรัฐราชการไทยเหมือนกัน

“แล้วตัวรัฐราชการไทยเอง ก็ไม่ใช่ว่าเขาเข้าใจกันเองนะ คือแต่ละหน่วยมันก็มีความเป็นไซโล เข้าใจกรม-กองเขา แต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจหน่วยงานอื่นว่าทำงานยังไง เคพีไอเป็นอะไร

“ดังนั้น ตอนนี้ รัฐราชการไทยมันมหึมาและซับซ้อน แต่คุณจะใช้พลังจากยักษ์ตัวนี้ยังไง ให้ยักษ์ตัวนี้เปลี่ยนพลังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผมคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญของรัฐบาลถัดไป”

(“วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร” ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ประชาธิปไตยสองสี โดย ใบตองแห้ง” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567)

 

“ปัญหาบ้านเมืองวันนี้ยากกว่าตอนที่ผมมาเป็นนายกฯ อีก เพราะว่ามันเละมานาน แล้วระบบราชการเองก็เปลี่ยนไปเยอะ

“เพราะฉะนั้น ก็อยากให้ช่วยกัน ทุกฝ่ายยึดกติกาแล้วมองการเมืองอย่างสร้างสรรค์ วันนี้ หลายคนพยายามคิดว่า ถึงเวลา ข้าก็เป็น (นายกฯ) ได้ ใครก็เป็นได้ มันไม่ใช่ มันต้องมีกติกา ใครอยากจะเป็นก็ต้องมีกติกา”

(“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมงานบวชลูกชายนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567)

 

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า แม้จะอยู่คนละฟากฝ่ายทางการเมือง ทว่า ทั้ง “ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร” ที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในผู้นำรุ่นถัดไปของกลุ่มการเมือง “อนาคตใหม่-ก้าวไกล” และ “ดร.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและทางการเมืองของพรรค/รัฐบาลเพื่อไทย ต่างมีความเห็นตรงกัน เกี่ยวกับปัญหาใหญ่ของ “ระบบราชการไทย”

เป็นปัญหาว่าด้วยความใหญ่โต ความสลับซับซ้อน และความเปลี่ยนแปลง (ในทางที่แย่ลง) ของระบบราชการไทย อันสั่งสมมาจากรูปแบบการปกครองภายใต้ “ระบอบทหาร” ที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนานร่วมทศวรรษ

อย่างน้อย คำสัมภาษณ์ของทั้งวีระยุทธและทักษิณก็แสดงให้เห็นว่า “มันสมอง” ของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย นั้นมีโลกทัศน์ วิสัยทัศน์ และการวิเคราะห์ปัญหาบางประการที่สอดคล้องกัน

ทั้งสองพรรคการเมืองจึงอาจ “แปลกแยก” จากกันน้อยกว่าที่กองเชียร์บางส่วนคิดและอิน เช่นเดียวกับการประเมินสภาวการณ์ปัจจุบันของอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งคล้ายจะมองว่า กลุ่มการเมืองที่ “เป็นภัย” ต่อการดำรงอยู่ของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” จริงๆ คือ กลุ่มของ “ลุงบางคน” ณ “บ้านป่าฯ”

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทายทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ก็คือ แม้จะมองเห็นปัญหาตรงกัน และน่าจะยังขบคิดไม่ออกว่าควรแก้ไขปัญหาความเทอะทะ (และไร้ประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ) ของระบบราชการไทยอย่างไรดี ไม่ต่างกัน

แต่สุดท้ายแล้ว ใครจะเป็นฝ่ายเสนอไอเดียปฏิรูประบบราชการที่ชัดเจนและลงมือแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จก่อนกัน?

ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะมีภาษีดีกว่า เพราะกำลังได้โอกาสทำหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารปกครองประเทศ ทีนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าทักษิณและคณะจะสามารถตีโจทย์ที่ “ยากกว่า” สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ได้ “แตก” เมื่อไหร่? อย่างไร?

ส่วนก้าวไกล (หรือในชื่อพรรคอื่น) ดูจะต้องผจญกับวิบากกรรมทางการเมือง (เช่น เรื่องยุบพรรค) อย่างหนักหนาสาหัสกว่าเพื่อไทย แต่หากฝ่ายที่ได้ครอบครองอำนาจก่อน เปลี่ยนแปลงประเทศที่หยุดนิ่งและเละเทะมานานไม่สำเร็จ

สักวันหนึ่ง โอกาสนั้นอาจหลุดลอยมาถึงมือพวกเขา •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน