คำสาปที่วังหน้า ของพระยาเสือ (จบ)

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

สิ่งที่ควรจะคำนึงเกี่ยวกับอะไรที่เรียกกันว่า “คำสาปวังหน้า” อย่างหนึ่งก็คือ กรณีการก่อกบฏของของพระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัต ซึ่งต่างเป็นพระโอรสหัวแก้วหัวแหวนของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทเหมือนกันทั้งคู่

พระองค์เจ้าลำดวน เป็นพระโอรสองค์โตสุดในกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขะ (ส่วนทายาทองค์โตสุดของพระยาเสือเป็นพระธิดาคือ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ประสูติแต่พระอัครชายาศรีอโนชา ผู้เป็นพระขนิษฐาของพระเจ้ากาวิละ แห่งเมืองเชียงใหม่)

ส่วนพระองค์เจ้าอินทปัต เป็นพระโอรสองค์ที่ 2 (แต่เป็นทายาทลำดับที่ 4) ของพระยาเสือ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตัน

ดังนั้น พระโอรสผู้ก่อ “กบฏวังหน้า” ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ทั้งสองพระองค์นั้น จึงเป็นพระโอรสองค์โต และองค์รองของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ซึ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ โดยเฉพาะในโลกอุษาคเนย์ยุคจารีต ที่เน้นเรื่องลำดับช่วงชั้นทางสังคม

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาอีกด้วยว่า พระโอรสทั้งสองพระองค์นี้ ได้ร่วมรบในศึกสงคราม เคียงบ่าเคียงไหล่กับกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งก็น่าจะเป็นความจริงเพราะในหนังสือเก่าที่แต่งขึ้นโดย “คนใน” ของวังหน้าอย่าง “พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร” คือ “นิพพานวังน่า” นั้น ได้กล่าวถึงพระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ในทำนองที่ว่า ทำการศึกชนะ เพราะมีอิทธิฤทธิ์อานุภาพเป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศราช มีเจ้ากาวิละ เป็นต้น

การก่อกบฏในครั้งนั้นยังมีตัวตั้งตัวตีคนสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือ พระยากลาโหม (ทองอิน) ซึ่งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ยังระบุด้วยว่า เจ้าคุณท่านนี้

“เป็นคนแข็งศึก กรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่า รักเหมือนบุตรบุญธรรม”

สิ่งที่ถูกเรียกว่า “กบฏวังหน้า” ครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้น จึงมีผู้ก่อเหตุเป็นหมู่ผู้คนที่ใกล้ชิดกับกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ซึ่งต่างก็เป็นผู้ที่สู้รบในศึกสงครามกับพระองค์มาหลายครั้ง ซ้ำยังเป็นทั้งพระโอรส และผู้ที่พระองค์รักประดุจบุตรบุญธรรมเลยนั่นเอง

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว อะไรที่ถูกเรียกว่า “กบฏวังหน้า” ในครั้งนั้น ก็ต้องรูดม่านปิดฉากลง ตั้งแต่ยังไม่ทันได้ก่อความวุ่นวายใดๆ ในพระนครเลยนะครับ

ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าทิพากรวงศ์ ระบุว่า เมื่อรู้ว่าพระองค์ใกล้เสด็จสวรรคต พระยาเสือได้มีพระราชดำรัสว่า

“สมบัติทั้งนี้พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ ก็เพราะพระองค์ทั้งสิ้น ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด” (เว้นวรรคใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น โดยผู้เขียน)

นี่อาจจะส่งผลให้เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 1 ได้เสด็จไปเยี่ยมดูใจพระอนุชาธิราช คือพระยาเสือ ที่ประชวรหนักเสียจนรู้พระองค์ว่าใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างฝ่ายวังหลวง กับฝั่งวังหน้า ดังปรากฏข้อความอ้างไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันนี้เองว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรพระอาการหนัก จะเสด็จขึ้นไปทรงพยาบาล ครั้นข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปล้อมวงตามธรรมเนียม เห็นกิริยาพวกข้าราชการวังหน้ากระด้างกระเดื่องจะเกิดวิวาทกันขึ้น

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต้องเสด็จขึ้นไปพร้อมด้วยเจ้าพระยารัตนาพิพิธและพระยายมราช เดินยึดไปสองข้างพระเสลี่ยง ไปทรงจัดวางการล้อมวงเอง จึงเป็นการเรียบร้อย” (ปรับย่อหน้า และเว้นวรรคใหม่ โดยผู้เขียน)

พระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าทิพากรวงษ์ ยังอ้างถึงผลของพระราชดำรัสของพระยาเสือ ว่าทำให้เกิดเหตุการณ์ “กบฏวังหน้า” ดังปรากฏข้อความต่อไปด้วยว่า

“แต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็มีความกำเริบ จึงไปร่วมคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน)…ตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนที่ดีมีวิชาความรู้ มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน จนความนั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ครั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคตแล้ว จะชำระจับกุมก็ยังไม่มีโจทก์ จึงแต่งตั้งข้าราชการที่สัตย์ซื่อเข้าเกลี้ยกล่อมกับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต จึงได้ความจริงมากราบทูลทรงทราบทุกประการ

 

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ ก็ให้จับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต มาชำระรับเป็นสัตย์ ซัดถึงพระยากลาโหม (ทองอิน) กับพรรคพวกได้สิ้น

พระยากลาโหม (ทองอิน) ให้การว่า วันถวายพระเพลิง (หมายถึงถวายพระเพลิงกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท) เป็นวันจะลงมือทำการประทุษร้าย ได้ความจะแจ้งแล้ว จึงโปรดให้ถอดพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต เสียจากเกียรติยศพระองค์เจ้า

แล้วเอาหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต ไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์

อ้ายทองอินกลาโหม กับพรรคพวกทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย” (ปรับย่อหน้า และเว้นวรรคใหม่ โดยผู้เขียน)

พระราชพงศาวดาร ฉบับเดียวกันนี้ยังระบุต่อไปด้วยว่า รัชกาลที่ 1 ทรงโทมนัสต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้จนเกือบจะทรงไม่สร้างพระเมรุให้พระอนุชาธิราช ดังปรากฏข้อความว่า

“การพระเมรุกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ทรงพระราชดำริโดยทรงพระโทมนัสในเรื่องหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต จึงตรัสว่า

‘กรมพระราชวังบวรฯ รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญา ให้ลูกกำเริบ จนถึงคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดี จะไม่เผาผีแล้ว’

เสนาบดีข้าราชการหลายนายช่วยกันกราบทูลทัดทานว่า ซึ่งจะไม่ทำเมรุพระราชทานนั้นไม่ควร ด้วยราษฎรและหัวเมืองอันมาก ที่ทราบก็จะมี ที่ไม่ทราบก็จะมี จะติเตียนต่างๆ ไป

จึงรับสั่งว่า ขุนนางจะให้เผาก็จะเผา แต่จะทำพระเมรุนั้น จะทำบูชาพระบรมธาตุ เมื่อสมโภชพระบรมธาตุแล้ว จึงจะเผาต่อภายหลังกันความนินทา” (ปรับย่อหน้า และเว้นวรรคใหม่ โดยผู้เขียน)

 

จะเห็นได้ว่า เอกสารประวัติศาสตร์ ฉบับทางการ ที่ยืนอยู่ทางฝั่งวังหลวงอย่างพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าทิพากรวงศ์นั้น ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง ระหว่างวังหลวง กับวังหน้า ไปจนถึงขั้นที่ฝ่ายวังหลวงให้การว่า คนของวังหน้าก่อการกบฏขึ้น ในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่อง “คำสาปวังหน้า” ของพระยาเสือ อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะมีตำนานการแช่งชักไม่ให้ฝ่ายวังหลวงมาครองวังหน้าด้วยเช่นกัน

ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์จับกุมโอรสทั้งสองของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ด้วยข้อหากบฏนั้น ต้องตรงกันกับช่วงเวลางานพระศพของพระองค์อยู่พอดี ดังที่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรได้บันทึกเอาไว้ในรูปแบบของงานร้อยกรอง แล้วรัชกาลที่ 5 ได้ทรงถ่ายทอดและสรุปความตอนนี้ออกมาไว้ในพระราชวิจารณ์ ที่มีต่อหนังสือสำคัญอีกเล่มคือ “จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี” ดังความที่ว่า

“ในกาลครั้งหนึ่ง ผู้แต่งหนังสืออกไปมีเทศน์ เคาะพระโกศเชิญให้ทรงฟังธรรม ขณะนั้นพระโกศลั่น กำลังเทศนาค้างอยู่ มีผู้มาบอกว่าเชษฐาสองคน (แน่นอนว่าหมายถึง พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัต) เป็นโทษ เมื่อไถ่ถามได้ความว่าเป็นโทษกบฏ ก็ไม่มีใครปรานี

แต่ถึงดังนั้นผู้แต่งก็ได้บ่นถึงเชษฐาสองคนนั้น ว่ามีอิทธิฤทธิ์อานุภาพเป็นที่ยำเกรงแก่ประเทศราช มีเจ้ากาวิละ เป็นต้น ได้ทำการศึกมีชัยชนะ รำพันไปจนปลายลงถึงว่า หรือพระราชบิดาจะมาพาเอาไปเสียด้วย เพราะเห็นว่าดีกว่าอยู่” (ปรับย่อหน้าใหม่ โดยผู้เขียน)

 

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรจะเห็นว่า ไม่ควรปรานีต่อโทษกบฏ แต่ก็อาลัยอาวรณ์ต่อพระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ โดยอ้างว่าเป็นผู้มีความสามารถ สถานการณ์อย่างนี้มีปรากฏให้เห็นอยู่ให้พราวไปทั่วทั้งเล่มของ “นิพพานวังน่า” ดังที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชวิจารณ์สรุปท้ายต่อหนังสือเล่มนี้ว่า

“ข้อความที่กล่าวรวบรวมทั้งหมด วนไปวนมาก็เป็นฝ่ายข้างแค้นและเสียใจต่างๆ แต่ถ้าพูดติเตียนเหน็บแนมแหลมออกมาแล้วก็จะกลบ กลับสรรเสริญวังหลวง และถวายพระพรต่างๆ ลงข้างท้ายก็กลายเป็นแช่งคน…

…เมื่อรวบรวมความที่ได้อ่านหนังสือนี้แล้ว เห็นว่าผู้แต่งหนังสือ เป็นผู้รักเกียรติยศ เชื่อฤทธิ์เดชานุภาพของกรมพระราชวัง ว่าดีกว่าวังหลวงทุกอย่าง เว้นไว้แต่เป็นน้อง จำต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า”

แน่นอนว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีจุดยืนอยู่ทางฟากข้างวังหลวง ดังจะเห็นได้ชัดจากข้อความวิจารณ์หนังสือนิพพานวังน่า ที่ปรากฏต่อท้ายมาด้วยว่า “ข้อความทั้งปวงเป็นอย่างความคิดพวกวังหน้าแท้ ความคิดเช่นนี้มีตลอดมาทุกคราววังหน้าชั้นหลังๆ” แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างทั้งสองวังในช่วงต้น-กลางกรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ยังไม่ใช่หลักฐานยืนยันอีกเช่นเคยว่า พระยาเสือเคยแช่งชักฝ่ายวังหลวง จนกลายเป็นอะไรที่เรียกว่า “คำสาปวังหน้า” จริงหรือไม่?

 

ถึงแม้จะมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า รัชกาลที่ 1 จะเคยทรงตอบเจ้าจอมแว่น ที่กราบทูลถามพระองค์เรื่องให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2) เสด็จไปอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ว่า “จะไปอยู่บ้านช่องเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักเป็นหนา” ซึ่งก็ดูจะเกี่ยวข้องกับเรื่องคำสาปของพระยาเสือ

แต่ถ้าหากจะพิจารณาจากปีศักราชที่ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หลังการสวรรคตของพระยาเสือเพียง 3 ปี หรือหลังจากงานพระเมรุของพระองค์เพียง 2 ปีนั้น ก็ไม่ทราบว่าสำหรับรัชกาลที่ 1 แล้ว ระหว่างคำสาปของพระยาเสือ กับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างวังหลวงกับวังหน้า อะไรจะน่ากริ่งเกรงต่อความปลอดภัยของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรมากกว่ากันแน่?

เอาเข้าจริงแล้ว ก็คงจะไม่มีใครทราบได้หรอกนะครับว่า พระยาเสือท่านทรงแช่งชัก หรือสาปอะไรไว้ที่วังหน้าจริงหรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ตำนานของคำสาปนี้ต้องตรงกับช่วงเวลาที่การเมืองระหว่างวังหลวงกับวังหน้า เป็นไปอย่างตึงเครียด และเขม็งเกลียว โดยเฉพาะกรณีการสืบทอดทรัพย์สินของวังหน้า ระหว่างกลุ่มลูกหลานของกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (ที่ตำนานว่าพระยาเสือท่านทรงอยากให้สืบทอดวังหน้าต่อไป) และฝ่ายวังหลวง (ที่ถูกสาปแช่งให้มีอันเป็นไปถ้ามาครองวังหน้า) นั่นเอง •

 

คำสาปที่วังหน้า ของพระยาเสือ (2)

คำสาปที่วังหน้า ของพระยาเสือ (1)