ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
กกต.เดินหน้าเลือก ส.ว. ไม่รอศาล
จะได้เปลี่ยน ส.ว.ใหม่เร็วที่สุด
คนวิเคราะห์ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลัวว่าเดินหน้าเลือก ส.ว.แล้วจะถูกฟ้องก็เพราะว่าถ้ายิ่งเลื่อนออกไป ความยุ่งยากที่ตามมาจะมีหลายประการ แต่เรื่องถูกฟ้องยังไงก็โดนเพราะถ้าเลื่อนก็มีคนเสียหายและก็หาเรื่องฟ้องจนได้เช่นกัน
เป้าหมายของการเลือก ส.ว. แบบเร็ว ประกาศผลเร็ว จะทำให้ ส.ว. ชุดใหม่เข้าทำงานแทน ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนของ คสช.ได้ในเดือนกรกฎาคม ถ้าประกาศผลไม่ได้ ก็ต้องทนอยู่กับชุดเก่าต่อไป คนส่วนใหญ่สรุปว่า ถึงอย่างไรชุดใหม่ก็ยังดีกว่า ส.ว.แต่งตั้ง
ต้องขอบคุณ คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยายที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมการเลือก ส.ว. หลายคนไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะได้รับเลือกหรือไม่ แต่มาเพราะอยากจะเลือกตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่ตัวเองศรัทธา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบไม่เอื้ออำนวยให้ฝ่าด่านไปได้ง่ายๆ
ส่วนใหญ่คงจะผ่านไปแค่ระดับจังหวัด การผ่านเข้าระดับประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ถ้าพวกท่านผ่านไปได้ นั่นหมายความว่าชะตากรรมของวุฒิสภาจะอยู่ในมือของท่าน
เลือก ส.ว.ระดับอำเภอ
ยังพอตีตั๋วเด็กผ่านประตูได้
การเลือกระดับอำเภอ ที่มีคนบอกว่าเหมือนจับสลาก จากจำนวน 43,818 มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ เข้าสู่ระดับจังหวัด จำนวน 23,645 ราย
จำนวนผู้ได้รับเลือกจากระดับอำเภอไประดับจังหวัด ถ้าคิดเป็นจำนวนเต็มกลุ่มละ 3 คน 928 อำเภอ จะต้องมีผู้ผ่านเข้ารอบไปสู่จังหวัด 2,784 คนต่อกลุ่ม
แต่เนื่องจากมีผู้สมัครน้อย บางกลุ่มไม่มีผู้สมัครเลย ดังนั้น การคัดเลือกรอบแรกระดับอำเภอจึงไม่มีกลุ่มใดมีผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบถึง 2,000 คน แม้แต่กลุ่มที่มีโอกาสจัดตั้งได้ง่าย เช่น
กลุ่มที่ 5 ทำนา 1,460 ราย กลุ่มที่ 6 ทำสวน ประมง 1,565 ราย กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี 1,800 ราย กลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ 1,987 ราย กลุ่มที่ 19 อาชีพอิสระ 1,465 ราย กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ 1,275 ราย ทั้ง 6 กลุ่มนี้การจัดตั้งมากที่สุด ผู้สมัครอิสระไปได้ไกลแค่จังหวัด
ส่วนกลุ่มที่มีลักษณะแข่งขันกันเองภายในกลุ่มอาชีพจริงๆ ก็คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน 1,332 ราย กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมาย 1,171 ราย กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา 1,975 ราย กลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข 1,024 ราย กลุ่มที่ 7 กลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ 1,261 ราย กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม 1,163 ราย
กลุ่ม 4 และ 17 มีความพยายามจัดตั้งเข้ามาแทรก แต่คิดว่าผู้ที่แปลกปลอมเข้ามาคงไม่สามารถผ่านเข้าไปเป็น ส.ว.ได้
กลุ่มที่หาคนสมัครยาก
ยังเป็นความหวัง
มีผู้ผ่านเข้ารอบจำนวนน้อยตามคาดหมาย และจะถูกคัดกรอง ให้สามารถได้บุคคลที่มีอาชีพนั้นอย่างแท้จริงเมื่อเข้าสู่ระดับประเทศ ถึง 80% ทำให้มั่นใจว่า ส.ว.ที่ได้รับเลือกใน 8 กลุ่มนี้น่าจะเป็นส่วนที่เป็นไปตามกลไกการเลือกกันเองมากที่สุด มี 8 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 8 สิ่งแวดล้อม พลังงาน 765 ราย กลุ่มที่ 9 SME 1,057 ราย กลุ่มที่ 10 ประกอบกิจการอื่น 808 ราย กลุ่มที่ 11ท่องเที่ยว 707 ราย กลุ่มที่ 12 อุตสาหกรรม 443 ราย กลุ่มที่ 13 วิทยาศาสตร์ สื่อสาร 671 ราย กลุ่มที่ 16 กลุ่มศิลปะ ดนตรี การแสดงและกีฬา 1,103 ราย กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน 616 ราย
ผู้สมัครอิสระ จะมีโอกาสสูงใน 8 กลุ่มนี้
ผลการเลือกตั้งจะเห็นได้ชัดว่า กระบวนการคัดกรองยังง่ายๆ เนื่องจากจำนวนที่เปิดรับทั้ง 20 กลุ่มอาชีพระดับอำเภอมีมากถึง 55,000 คน แต่จำนวนผู้มีสิทธิเข้ากระบวนการเลือก หลังการเพิ่มชื่อ ถอนชื่อแล้ว จำนวน 45,753 ราย และจำนวนผู้มารายงานตัวรอบแรก 43,818 ราย
ที่หายไปประมาณ 2,000 ราย เป็นเพราะส่วนหนึ่งรู้ตัวว่าการสมัครที่ผ่านมาผิดกฎหมายเนื่องจากสมัครผิดกลุ่มหรือไปสวมรอยแล้วถูกจับได้จะถูกฟ้องร้องมีโทษ จึงไม่กล้ามาแสดงตน
แต่การใช้เล่ห์กลให้ชนะก็ยังมีอยู่ทั่วไป กลุ่มที่จัดตั้งคนจำนวนมาก จะระดมคนจัดการคู่แข่ง ทั้งรอบแรก และรอบสอง จนชนะ และจะทำอีกในระดับจังหวัด
เลือก ส.ว.จังหวัด
ยากกว่าอำเภอ 10 เท่า
การเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดจึงเป็นการแข่งขันอย่างแท้จริง และเป็นจุดชี้ขาดสำคัญที่อิทธิพลท้องถิ่นจะสำแดงพลังทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ในระดับประเทศ การคัดเลือกแบบ 2 รอบ เหมือนระดับอำเภอ ฝ่ายที่มีการจัดตั้งก็จะใช้รูปแบบเดิม คือ
1. กลุ่มจัดตั้งจะรวมคนจากทุกอำเภอที่เตรียมไว้จัดการกับคู่แข่งตั้งแต่รอบแรกเพื่อให้ตกรอบ 5 คน แล้วพยายามพาคนของตัวเองเข้าไปให้มากที่สุด อาจจะได้ทั้ง 5 คน หรือ 3 คน หรือ 2 คน แล้วแต่กำลัง
ถ้ากำลังจัดตั้งมี 2 กลุ่ม การปะทะก็จะเกิดขึ้น อาจจะต้องมีผู้เสียสละไม่เลือกตัวเองแต่เลือกพรรคพวกคนอื่นคนละ 1 คะแนนเพื่อให้ได้คนมีคะแนนสูง 2 คน เพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือกผ่านระดับจังหวัดจะมีเพียงกลุ่มละ 2 คนเท่านั้น
ดังนั้น ใน 5 คนที่ผ่านรอบแรกอาจจะมีที่เป็นกลุ่มจัดตั้งเตรียมมา ปนกับผู้สมัครอิสระก็ได้
บางกลุ่มอาชีพแม้มีผู้สมัครน้อย บางทีถึงระดับจังหวัดยังมีไม่ถึง 5 คน ดังนั้น ก็ผ่านรอบแรกเข้าไปได้เลยไม่ต้องเลือกกันเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้แน่นอนเพราะตอนเลือกไขว้มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้รับคะแนนเลยแม้แต่คะแนนเดียวจากกลุ่มจัดตั้ง
2. ปัญหา “ไม่เลือกใคร” ในการเลือกไขว้ในระดับอำเภอ อาจมีขึ้นในระดับจังหวัดอีก คือ ผู้สมัครแบบจัดตั้งที่เข้ารอบแรกของแต่ละกลุ่ม จะต้องจดจำว่า คนที่ตัวเองอยากจะเลือกหรือถูกกำหนดมาให้เลือกในรอบไขว้ เป็นใครอยู่กลุ่มไหน เพราะจะเลือกได้กลุ่มละคน ถ้าหากว่ากลุ่มที่ไขว้ในสายมีมาให้เลือก 4 กลุ่ม ก็ต้องเลือกให้ถูก แต่จำนวนกลุ่มมีถึง 19 กลุ่ม จำยากมาก
จึงถูกกำหนดให้จำเฉพาะชื่อคนและกลุ่มที่ต้องเลือกเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเลือก
เมื่อไขว้สายมาเจอกับกลุ่มที่ไม่รู้จักหรือเตรียมไว้ ก็ไม่เลือกใครเลย การที่ผู้สมัครบางคนได้ศูนย์คะแนนแม้ในระดับจังหวัดก็ยังจะเกิดขึ้นได้ ยิ่งจังหวัดใหญ่ยิ่งไม่รู้จักกัน
นี่เป็นข้อเสียอย่างมากทำให้กระบวนการคัดเลือกกันเองตามกฎหมายที่คิดว่าจะได้บุคลากรที่มีความสามารถ กลายเป็นคนสอบตกไปได้ทันที
ผู้สมัครอิสระจะต้องทำตัวอย่างไร
1. กลุ่มจัดตั้งสามารถขยายกำลังทั้งจังหวัดหรือหลายอำเภอ ดังนั้น ผู้สมัครอิสระอย่ายืนอย่างโดดเดี่ยว แม้ไม่มีกำลังแต่สามารถขยายการแนะนำตัวเองผ่านคนกลาง และสื่อกลางได้ ตามขอบเขตกฎหมาย
จะต้องพยายามแนะนำตัวเองให้ผู้สมัครทุกกลุ่มอาชีพรู้จักให้มากที่สุด ให้ชื่อตัวเองติดตา เป็นที่จดจำของผู้สมัครคนอื่น และจะต้องขอร้องให้ผู้สมัครคนอื่นๆ อย่าทิ้งคะแนนไปให้เสียเปล่า
2. การหักหลัง การโกหก จะเกิดขึ้นทั้งผู้สมัครอิสระ และที่มาจากการจัดตั้ง เนื่องจากมีผู้ได้รับเลือกแค่ 2 คนต่อกลุ่ม และทุกคนก็คิดแบบเข้าข้างตนเองว่า ถ้าเข้าระดับประเทศได้ก็มีโอกาสเป็น ส.ว. การแนะนำตัวขอคะแนน จึงเป็นเรื่องปกติ
ต้องทำใจยอมรับว่าถ้าในกลุ่มที่เราอยู่ มีคนที่เขาอยากเลือกอยู่แล้ว หรือเขาจัดตั้งมา เราก็คงไม่ได้คะแนน
แต่เนื่องจากกลุ่มที่มาไขว้มีหลายกลุ่ม ถ้าเราแนะนำตัวไว้ดีๆ ก็คงมีคะแนนติดมาบ้าง
3. แต่ผู้สมัครอิสระต้องคิดว่าตัวเองมีภาระหน้าที่ต้องเลือกให้ครบ ต่อให้ไม่รู้จักก็คงจะพยายามอ่านประวัติและใส่คะแนนให้ไปเพื่อจะได้เกิดตัวแทนในการเลือกขั้นต่อๆ ไป ผู้สมัครอิสระถ้าไม่มีพรรคพวกมากมายก็จะไม่ต้องจำชื่อคนที่จะเลือกมากนัก ที่เหลือเอาไว้พิจารณาตามประวัติ หน้างานที่ตัวเองสามารถตัดสินใจ
ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจังหวัดรวมทั้งหมดจำนวน 23,645 คน จะถูกคัดเหลือเพียง 3,000 คนที่เข้าไปเลือกกันเองในระดับประเทศ ซึ่งการเดินเกมจะซับซ้อนยิ่งกว่า
ใครที่ร่วมกิจกรรมการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่จะต้องจดจำ เพราะคาดว่าจะไม่มีการเลือก ส.ว.แบบนี้อีกแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022