บทสนทนากับนักเคลื่อนไหวพม่า : วิกฤตพม่าวันนี้ ไม่ใช่แค่ระหว่าง ‘มิน อ่อง ลาย’ กับ ‘อ่อง ซาน ซูจี’

สุทธิชัย หยุ่น

จะแก้วิกฤตพม่าต้องไม่มองเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับพรรคการเมืองที่เคยได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเท่านั้น

เพราะประเด็นที่แท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องระหว่างพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และนักเรียกร้องประชาธิปไตย อ่อง ซาน ซูจี เท่านั้น

หากไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองที่ยาวนานมาหลายสิบปีมีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน, เมียนมาก็ไม่มีทางได้พบกับสันติภาพ

นั่นคือความเห็นของนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของพม่า…ที่ต้องหลบลี้หนีภัยการเมืองไปอยู่ที่อังกฤษ

Maung Zarni (หม่อง ซาร์นี)

สัปดาห์ก่อนผมได้พูดคุยกับนักรณรงค์เพื่อสันติภาพจากพม่า Maung Zarni (หม่อง ซาร์นี) ที่แวะมากรุงเทพฯ เพื่อเกาะติดสถานการณ์ที่บ้านเกิดของตัวเอง

ซาร์นีพูดจาคล่องแคล่ว ขึงขัง มุ่งมั่น แต่ก็มีอารมณ์ขันและมีความเป็นมนุษย์ลึกซึ้ง

ผมถามว่าประเทศไทยควรจะมีบทบาทช่วยสร้างสันติภาพในพม่าอย่างไร

เขาไม่ลังเลที่จะตอบว่าไทยมีบทบาทแน่…แต่ต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านพม่าอื่นๆ จึงจะพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ซาร์นีเคยถูกเสนอชื่อให้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเพราะทำงานด้านรณรงค์ต่อต้านการสังหารโหดชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะโรฮิงญาอย่างแข็งขันมาตลอด

เขาเป็นทั้งนักการศึกษา นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวพม่า

เป็นที่รู้จักจากการต่อต้านความรุนแรงในรัฐยะไข่และวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายแห่ง รวมถึง Free Burma Coalition (1995-2004) Free Rohingya Coalition (2018-ปัจจุบัน)

และ Forces of Renewal Southeast Asia (2018)

อีกทั้งยังเป็นนักวิจัยประจำ Documentation Center – กัมพูชาในฐานะเชี่ยวชาญด้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ Genocide Watch (สหรัฐอเมริกา) ด้วย

นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวไอร์แลนด์เหนือและผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1976 ที่ชื่อ Mairead Corrigan Maguire เป็นคนเสนอชื่อซาร์นีให้ได้รับรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้

 

ซาร์นีบอกผมว่าความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วพม่า

ซ้ำเติมด้วยการฟื้นตัวที่น่าตกใจของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

เมียนมาจึง “สุกงอม” สำหรับการแทรกแซงทางการเมืองจากภายนอกโดยประเทศเพื่อนบ้าน

นับแต่มิน อ่อง ลาย ก่อรัฐประหารในปี 2021 ที่โค่นพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอ่อง ซาน ซูจี ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารกับขบวนการต่อต้านทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายก็ถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งที่หนักหน่วงขึ้น

วันนี้ พม่ากลายเป็นลูกผสมระหว่างซีเรียที่ปริแตกอย่างร้ายแรงในวันนี้กับช่วงแรกๆ ของการล่มสลายของยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1990

ที่ซีเรีย รัฐบาลอัสซาดที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียแต่ดินแดนของประเทศบางส่วนก็ตกไปอยู่ในเมือของกลุ่มต่อต้านอัสซาด

มหาอำนาจข้างนอกต่างก็เข้ามาร่วมสร้างให้เกิดความสับสนวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง

ยูโกสลาเวียแตกกระเซ็นกระสายในลักษณะที่เรียกว่า “บอลคาไนเซชั่น” ในช่วงทศวรรษ 1990

แต่วันนี้ เขตแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย ไทย บังกลาเทศ และลาว ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสู่ด้านที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

องค์กรต่อต้านที่เป็นชาติพันธุ์ (EAOs) เช่น องค์กรเอกราชคะฉิ่น (KIO) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP) แนวร่วมชาติชิน (CNF) และกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) ) พึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของตน

กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลทหารเริ่มเพลี่ยงพล้ำ จึงหันไปใช้การโจมตีทางอากาศนับร้อยๆ ครั้งเพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น สะพาน

เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของฝ่ายต่อต้านที่สามารถรวมพลังกันได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร

 

ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่าสงครามกลางเมืองของเมียนมาส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) มากกว่า 3 ล้านคนตั้งแต่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา

และยังมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนในบังกลาเทศ

พม่าน่าจะเรียนรู้จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกัมพูชาในอดีต

ซีน่าร์บอกว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายของเมียนมาจะต้องร่วมมือกันเพื่อทำลายวงจรอันเลวร้ายนี้ และยุติสงครามในเมียนมา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทั้งชนชั้นสูงทางการเมืองและการทหารของพม่า และผู้นำที่ไม่ใช่พม่าได้สร้างความผิดหวังให้กับผู้คนจำนวน 55 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมียนมาเป็นอย่างยิ่ง

เขาบอกว่าในระดับสากล ตะวันตกได้ป่าวประกาศว่าจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านเพื่อช่วยกันสร้างสันติภาพและประชาธิปไตยรวมถึง สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม

แต่ก็ไม่มีใครรับรองว่าในท้ายที่สุด นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขาหรือไม่

เพราะต้องไม่ลืมว่า “ตัวละครเดียวกันนี้” ได้มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการทำลายฉนวนกาซาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่องของอิสราเอล

และมิหนำซ้ำยังเป็นผู้เติมเชื้อเพลิงให้ลุกโพลงขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซียในยุโรปตะวันออกอีกด้วย

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ซีน่าร์บอกว่า

“มันจำเป็นอย่างยิ่งที่คนเมียนมาเองจะต้องระดมความกล้าหาญทางการเมืองเพื่อบอกว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านของเรา เรามีความผูกพันกับพวกเขาทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์…ไม่ว่าในอดีตจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม”

เขาเสนอให้ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาซึ่งแน่นอนว่าหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย “เป็นผู้นำในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพในประเทศของเรา”

ซีน่าร์บอกว่ามีสัญญาณว่าผู้นำไทยและกัมพูชาดูเหมือนจะได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเมียนมาในการแสวงหาสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม

เขาคิดว่าเพื่อนบ้านอาจจะมีบทบาทที่น่าเชื่อถือมากกว่า “เพื่อนจากแดนไกล” ด้วยซ้ำ

ประวัติศาสตร์บางตอนบอกว่าเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามที่ได้ช่วยกอบกู้กัมพูชาหลังกรณีสังหารหมู่ที่น่าหวาดหวั่นในประวัติศาสตร์

 

ซีน่าร์มองว่าการสนับสนุนสันติภาพด้วยกระบวนการเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้าในสถานการณ์ของเมียนมา

ทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งต่างก็เชื่อมั่นว่าฝ่ายตนจะได้รับชัยชนะทางทหารในที่สุด

และนั่นก็นำมาซึ่งความรุนแรงทั้งในสมรภูมิรบและการเผชิญหน้ากันอย่างกราดเกรี้ยวทุกรูปแบบ

แต่ทางออกสำหรับเมียนมาไม่ใช่การทำลายล้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สูญสิ้นสลายหายไป

“แม้แต่กองทัพพม่าก็จะต้องมีบทบาทในโครงสร้างใหม่…ตามเงื่อนไขในข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย”

ซีน่าร์เตือนว่าการมุ่งวิเคราะห์ปัญหาแต่เพียงว่าความสงบจะกลับมาเมียนมาได้เพราะการเจรจาระหว่างมิน อ่อง ลาย กับอ่อง ซาน ซูจี นั้นเป็นวิธีคิดที่ผิด

เพราะ “ตัวละคร” ของวิกฤตเมียนมามีมากมายหลากหลาย

และทุกฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายจะต้องมีสวนร่วมในการออกแบบโครงสร้างแห่งสังคมและการเมืองของเมียนมา

“ผมขอเรียกร้องให้เพื่อนบ้านของเมียนมายอมรับบทบาทในการช่วยดึงให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งมาเขียนแผนที่เพื่ออนาคตใหม่ของเมียนมา…”

 

วิกฤตพม่าไม่ได้เพิ่มเริ่มต้นจากรัฐประหารปี 2021

หากแต่เริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ

“เราต้องตระหนักว่าการคิดแบบผลลัพธ์เป็นศูนย์ หรือ Zero-Sum Game นั้นไม่มีทางนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤตนี้ได้เป็นอันขาด”

ซีน่าร์ย้ำกับผมด้วยน้ำเสียงของคนที่ผ่านความผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วน

แต่ในแง่ของอนาคตประเทศชาติของตัวเอง ก็ไม่อาจจะท้อแท้สิ้นหวังได้

“ทุกวันนี้ บ้านเกิดเมืองนอนของผมเลือดไหลออกจากทุกๆ ด้าน…ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้นที่ตกอยู่ในฐานะเพลี่ยงพล้ำ…”

แม้วันนี้จะสายมากแล้ว ก็สำหรับการกู้ชาติกู้บ้านเมืองสำหรับคนพม่ารุ่นต่อไปย่อมไม่มีคำว่า “สายเกินไป”