ไปดูการคัดเลือก ส.ว.อย่างพิสดาร ครั้งแรกในโลก

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เช้าวันที่ 9 มิถุนายนนี้ผมไปสังเกตการณ์การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 (มาตรา 7) ซึ่งได้รับการโจษจันถึงอย่างมากหน้าหลายตาจากแทบทุกวงการ

เพราะกติกาและระเบียบกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกถูกออกแบบมาให้เป็นการเลือกตั้งอย่างจำกัดและไม่เสรีไม่เปิดกว้าง

จนในที่สุดคำว่า “เลือกตั้ง” หดหายไปในการรายงานและการพูดถึงการได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดใหม่ครั้งนี้ แทนที่ด้วยคำว่า “คัดเลือก” แทน

ดังนั้น คำเดียวที่ยังสื่อความหมายของกิจกรรมการเมืองครั้งนี้คือการเลือก

ปัญหาคือจะเลือกกันอย่างไรและด้วยกรรมวิธีที่ซับซ้อนซ้อนเงื่อนอย่างไรก็เป็นเรื่องที่คนจ้องมองดูต่อไป

ความจริงผมตั้งใจแต่แรกแล้วหลังจากทราบข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ใหม่ แล้วตัดสินใจลงสมัครด้วยเพราะคิดว่ากระบวนการใหม่นี้ซับซ้อนและมีความอัศจรรย์อยู่มาก ควรที่จะเรียกร้องเชื้อเชิญให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้ามาร่วมการสรรหานี้

ยิ่งระเบียบอันแรกเลยคือต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาทก่อนไม่ว่าจะตั้งใจเป็นผู้สมัครหรือเพียงแค่ไปลงคะแนนเสียงให้ผู้ที่เหมาะสมอื่นๆ ก็ตาม เท่านี้ก็คาดเดาได้ว่าจำนวนผู้ยินดีจะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกนี้ต้องน้อยแน่ๆ และคณะบุคคลหรือกลุ่มที่ไม่เป็นทางการก็จะยกโขยงกันเข้ามาได้อย่างถูกตามระเบียบ

ความตั้งใจเดิมก็มีแค่นี้ ไม่ได้คิดถึงการได้ตำแหน่ง ส.ว.ว่าจะไปทำหน้าที่อันทรงเกียรติอื่นใดเท่าไรนัก

แต่ดวงและโชคของผมยังโคจรไม่ถึงจุดนั้น ผมถูกตัดเสียสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้งอะไรทั้งหลายเพราะปีที่แล้วไม่ได้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกเทศบาลในเขตตำบลที่อาศัย

ซึ่งจนบัดนี้ผมก็ยังจำไม่ได้ว่าเคยมีการเลือกตั้งซ่อมในเขตนั้น

 

วันที่ 9 มิถุนายน ผมจึงมาที่ว่าการอำเภอบางกรวยในฐานะของผู้สังเกตการณ์และสนับสนุนผู้สมัครที่พอรู้จักบ้าง

บรรยากาศไม่คึกคักและไม่แสดงถึงความสนใจและความสำคัญของการคัดเลือก ส.ว.นี้แต่ประการใด

ดังที่ทราบกันดีว่าจำนวนผู้รับสมัครทั้งประเทศมีเพียง 4 หมื่นกว่าคน ทั้งๆ ที่แต่แรกตอนเราเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนมาเข้าร่วมในการคัดเลือกนี้ ยังคิดว่าน่าจะดึงคนออกมาร่วมได้เป็นแสน

แต่อย่างที่ทราบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่วาระแรกที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้คนออกมา แทนที่จะได้รับการสนับสนุนจาก กกต. กลับตรงกันข้าม กกต.กลับประกาศออกระเบียบกฎเกณฑ์มากมายที่ทำให้การรณรงค์ต่างๆ อาจเป็นการละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง มีโทษถึงจำคุกและตัดสิทธิอีก

ทำให้ผู้คนเกิดความกังวลและไม่แน่ใจว่าการปฏิบัติการต่างๆ จะผิดกฎหมายหรือไม่

ผลคือเป็นการห้ามไม่ให้คนออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์การเลือก ส.ว.ไป สมประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.อย่างเป็นประชาธิปไตย

 

ผมเดินดูสภาพรอบๆ ห้องประชุมของที่ว่าการอำเภอบางกรวย คนที่มากสุดในบริเวณนั้นคือเจ้าหน้าที่และพนักงานของอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อาสารักษาดินแดน กกต.จังหวัดประกาศแต่งตั้งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนี้รวม 60 คน

ส่วนมากทำหน้าที่รับลงทะเบียนผู้รับสมัคร ส.ว. เรียงไปตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม

อีกกลุ่มทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.จังหวัดว่าเรียบร้อยถูกต้องตามกฎระเบียบหรือไม่ ประชาชนผู้สังเกตการณ์มีไม่เกิน 5 คน ทราบว่ามีสื่อมวลชน 1 คนแต่มาไม่ได้เพราะติดโควิดวันนี้

ทาง กกต.จัดวางจอทีวีวงจรปิดไว้หนึ่งเครื่องหน้าห้องประชุม พอมองเห็นภาพการทำหน้าที่ภายในห้องประชุมได้

แต่เสียดายที่ไม่มีเสียง มีแต่ภาพ จึงไม่ทราบว่าการดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แต่ก็คงไม่ทำให้ กกต.จังหวัดเสียคะแนนอะไร เพราะคนดูมีแต่พนักงานผู้สังเกตการณ์ที่ กกต.แต่งตั้งเท่านั้น กับผมและสุภาพสตรีอีกคนที่มาให้กำลังใจบุตรสาวในการสมัคร

ผมเงี่ยหูฟังว่ามีอะไรผิดสังเกตเกิดขึ้นบ้างไหม ทุกอย่างดำเนินไปตามกรอบที่วางไว้ ผู้รับสมัครมาถึงก็ลงทะเบียนรับป้ายชื่อคล้องคอ เห็นมีน้ำขวดและกล่องอาหารวางไว้ แต่ไม่ทราบว่าให้ใครบ้าง

จนใกล้เวลา 9 นาฬิกาตรง เสียงของประธานการจัดการเลือกก็ดังออกมาจากห้องประชุมว่าอีก 3 นาทีจะถึงเวลา มีคนบอกเข้าไปว่าเวลามันถึงแล้ว ประธานตอบว่าให้ถือนาฬิกาในห้องเป็นเกณฑ์ ไม่เอาเครื่องข้างนอก

หลังจากถึงเวลา เจ้าหน้าที่ข้างนอกก็ประกาศปิดการลงทะเบียน เริ่มยกเก้าอี้และป้ายกลุ่มออก

ทันใดก็มีสุภาพบุรุษในชุดเสื้อสีเข้มทะมัดทะแมงเดินรี่ขึ้นมาถึงหน้าประตูห้องประชุมที่ปิดแล้ว พร้อมกับบอกเจ้าหน้าที่หน้าห้องว่า ผมโทร.มาก่อนแล้วว่าจะมาไม่ทันเพราะต้องไปส่งลูกสาวไม่สบายที่โรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมให้เข้า เขาบอกขอพูดกับประธานการเลือกตั้งหน่อย รอจนประธานออกมาเขาก็อธิบายเหตุผลที่มาไม่ทันเวลา

ประธานตอบอย่างไม่ต้องคิดว่าขออนุญาตไม่ให้เข้า เพราะผิดระเบียบ ถ้ามีคนร้องเรียนประธานจะมีความผิด

สรุปคือไม่ให้ชายหนุ่มซึ่งดูมั่นใจในการคัดเลือกนี้มากเข้าไปได้ ต้องหันหลังกลับเดินออกจากห้องประชุมไปอย่างน่าเสียดาย

ผมก็เสียดายแทนเขาด้วย

 

เกือบชั่วโมงผ่านไป ในที่สุดก็เห็นมีบางคนเดินออกมา หน้าตาบอกว่าคงไม่ผ่านรอบแรก มีคะแนนเท่ากันหลายคนจึงต้องจับสลากว่าใครจะได้

กล่าวโดยรวมแล้วบรรยากาศและเนื้อหาของการคัดเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไม่คึกคักและบอกให้เห็นถึงคุณค่าทางการเมืองของมันแต่ประการใด

ทุกคนคงเคยผ่านการเลือกหัวหน้าห้องเรียนชั้นประถมกันมาแล้ว วันนั้นครูประจำชั้นบอกให้นักเรียนเขียนชื่อคนที่อยากให้เป็นหัวหน้าขึ้นมาแล้วส่งให้ครู ส่วนใหญ่คนที่ครูบอกชื่อมักได้รับการเสนอและชนะคะแนน ทำให้ผมคิดถึงความเป็นมาของการเลือก (ตั้ง) ว่าทำไมต้องมีการเลือก มันเกิดมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย

ถ้าหากันจริงๆ ก็ต้องกลับไปเริ่มในพระไตรปิฎกบทว่าด้วยอัคคัญญสูตรที่เล่าเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์ ทุกคนเห็นว่าถึงเวลาที่ต้องหาหัวหน้ามาปกครองและลงโทษคนทำผิดเพื่อรักษาระเบียบสังคมไว้ต่อไป

หัวหน้าผู้มาปกครองคนในชุมชนนั้นคือกษัตริย์ ซึ่งได้รับเลือกจากราษฎรขึ้นมา แต่แรกเรียกว่าพระมหาสมมติและราชา (คือเป็นที่รักของปวงชน) เพื่อบังคับบัญชาระงับการวิวาทระหว่างราษฎร

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าผู้ปกครองคือ ต้องเป็นผู้ปกครองที่ดูดี งดงาม น่าเชื่อถือและน่าเกรงขาม อีกทั้งยังจะต้องเป็นเจ้าของที่ดิน มีความมั่งคั่งเเละเป็นที่รักของชุมชน

ว่าไปแล้วคติการเลือกของราษฎรไม่มีบทบาทอะไรในความคิดการเมืองไทยสยาม

จนกระทั่งเมื่ออิทธิพลความคิดและการปฏิบัติแบบตะวันตกมาถึง เราจึงเริ่มรับแนวคิดและวิธีการปฏิบัติมาทดลองใช้ในพระราชอาณาจักร

 

ความจริงแล้วการจัดการปกครองท้องที่ได้เริ่มต้นมาก่อนหน้านี้บ้างแล้วราว 5 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มีการทดลองจัดระเบียบการปกครองตำบล หมู่บ้าน ขึ้นที่อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ ร.ศ.111 (พ.ศ.2435) โดยให้ราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านแทนการแต่งตั้งโดยเจ้าเมืองดังแต่ก่อน

จากนั้นมาจึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440)

ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ขึ้นใช้บังคับแทน และได้มีการใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

น่าสนใจว่าในการจัดการปกครองท้องที่ ประการแรก คือการให้นิยามและอธิบายว่า “บ้าน” คือเรือนหลังเดียวหรือหลายหลัง ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของ

มีการพูดถึง “เจ้าบ้าน” ว่าคือผู้เป็นเจ้าของบ้าน นัยที่น่าสนใจคือเมื่อรัฐยอมรับอำนาจของความเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือฐานของการเป็นนิติบุคคลและความเป็นเอกชนที่แยกออกจากราชการ (รัฐ) แบบจารีตประเพณี

การได้มาซึ่งตัวผู้ใหญ่บ้านและกำนันก็น่าสนใจ กฎหมายระบุว่าให้มาจากการ “เลือก” (ไม่ใช่เลือกตั้ง) ในมาตรา 9 บอกว่า “ในหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรชายหญิงซึ่งตั้งบ้านเรือน หรือจอดเรือแบบประจำอยู่ในหมู่บ้านนั้น ประกันเลือกเจ้าบ้านผู้เป็นที่นับถือของตนเป็นผู้ใหญ่บ้านคน ๑ ในการเลือกผู้ใหญ่บ้านนี้ให้นายอำเภอซึ่งได้ว่ากล่าวท้องที่นั้นเป็นประธาน พร้อมด้วยกำนันและผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นเป็นกรรมการ”

กฎหมายยังระบุด้วยว่าให้เลือกเป็นการเปิดเผยหรือการลับก็ได้

“ในการเลือก เจ้าพนักงานซึ่งได้รับอำนาจอำนวยการจะไต่ถามความเห็นราษฎรให้พร้อมกันเลือกโดยเปิดเผยก็ได้ หรือเมื่อเห็นว่าที่เลือกโดยเปิดเผยจะไม่คล่องใจราษฎรผู้เลือก จะให้มาบอกโดยเงียบๆ แต่ทีละคนมิให้เพื่อนบ้านรู้ว่าเลือกผู้ใดก็ได้ ผู้ได้รับเลือกมากได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน”

กติกากฎเกณฑ์ดังกล่าว จริงๆ แล้วกำหนดขึ้นมาจากสภาพความเป็นจริงในหมู่บ้าน ไม่ใช่กำหนดขึ้นมาลอยๆ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจากกรุงเทพฯ และมีความยืดหยุ่นสูงมาก มิเช่นนั้นจะสร้างปัญหาในการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ราษฎรเกิดความขัดแย้งกันเอง

 

ในมาตรา 9 ที่ระบุว่า “ให้ราษฎรชายหญิง…เลือกเจ้าบ้าน…เป็นผู้ใหญ่บ้าน” ซึ่งในมาตราอื่นๆ ที่พูดถึงการเลือกกำนันก็จะทำนองคล้ายๆ กัน ไม่มีการกีดกันทางเพศระหว่างหญิงชาย

อาจารย์แคธลีน โบวี่ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องไทยล้านนา เขียนบทความเมื่อไม่นานมานี้กล่าวว่า ถ้าข้อมูลในเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นของสยามเป็นจริง แสดงว่าสตรีที่มีสิทธิในการเลือกตั้งก่อนใครเพื่อนในโลกควรจะได้แก่สตรีสยาม

ผมบอกไปว่าไม่ใช่ ประการแรก กฎหมายให้ราษฎรซึ่งแน่นอนรวมชายและหญิงด้วย เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงอย่างนั้นเวลาพูดถึงราษฎรก็คลุมถึงทั้งชายและหญิง ผมยังคิดไปว่าเวลาเขียนคำว่า “ราษฎร” เจ้าหน้าที่คงเขียนตามภาษาพูดที่มักมีสร้อยโดยอาจไม่ได้ตระหนักถึงความหมายของมัน

ในกรณีนี้ “หญิงชาย” เป็นคำพ้องที่เสริมความหมายของ “ราษฎร” มากกว่าจะเป็นการจำแนกแยกแยะว่ามีเพศอะไร

อีกข้อหนึ่งกฎหมายพูดเพียงว่าให้ “เลือก” หมายความเพียงแสดงความพึงพอใจของตัวออกมาเท่านั้น ไม่ได้มีนัยไปถึงอำนาจอย่างอื่นในตัวเองที่เรียกว่า “สิทธิ” แต่ประการใดเลย

เห็นได้ว่าในที่สุดอำนาจของประธาน (นายอำเภอ) ยังมีเหนือการตัดสินใจเลือกใครของราษฎรเหล่านั้น

อำนาจในการเลือกตั้งของราษฎรเองมาถึงจริงจังก็เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 แล้วเท่านั้น