เปิดข้อเสนอทีดีอาร์ไอ ทางออกดีเซล ‘สะท้อนกลไก-อุ้มเปราะบาง’!!

ภายหลังกระทรวงการคลังยืนกรานไม่ต่อมาตรการลดภาษีดีเซล หลังสิ้นสุดวันที่ 19 เมษายน 2567 หลังดำเนินการช่วยเหลือผ่านมาตรการลดภาษีระดับ 1-5 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบัน รวม 9 ครั้ง สูญเงินภาษีสูงกว่า 179,000 ล้านบาท

รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน จึงเหลือเครื่องมือเดียวในการดูแลราคาดีเซล นั่นคือ กองทุนน้ำมันเพลิง

แต่ด้วยราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวน และที่ผ่านมาพุ่งรัวๆ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายดูแลราคาดีเซลเพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ตัดสินใจอุดหนุนดีเซลต่อเนื่อง ระดับ 4 บาทต่อลิตรขึ้นไป เพื่อคงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ หลังแอ่นติดลบกว่า 110,000 ล้านบาท

สุดท้ายด้วยสถานการณ์น้ำมันโลกที่ผันผวน สุ่มเสี่ยง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 จึงตัดสินใจขยับเพดานดีเซลเป็นไม่เกิน 33 บาท (จากเดิมไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร) ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-31 กรกฎาคม 2567

การดำเนินการนี้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่เห็นชอบในหลักการให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกเกินกว่า 30 บาทได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป

 

ตลอดเดือนพฤษภาคม จึงได้เห็นราคาดีเซลขยับต่อเนื่อง ล่าสุดราคาขยับขึ้นชนเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลัง กบน. มีมติปรับราคาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขึ้นอีก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 32.94 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันด้วยราคาน้ำมันโลกทยอยลดลงต่อเนื่อง ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาดีเซลโลก ณ วันที่ 7 มิถุนาย 2567 อยู่ที่ระดับ 92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ต้นทุนราคาดีเซลในไทยลดลงด้วย

แต่ราคาขายปลีกดีเซลยังคงระดับ 32.94 บาทต่อลิตรต่อไป เพราะกองทุนน้ำมันฯ หันมาเก็บเงินส่วนต่างดังกล่าวแทน เพื่อลดภาระฐานะกองทุนน้ำมันฯ ที่ปัจจุบันยังคงติดลบระดับแสนล้านบาท

ทำให้โครงสร้างราคาดีเซล ณ วันที่ 7 มิถุนายน กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนอยู่ที่ 0.20 บาทต่อลิตร (จากเคยอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตรขึ้นไป) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กองทุนน้ำมันฯ หายใจโล่งขึ้น เพราะผลจากภาระดีเซลลดลง ประกอบกับภาระอุดหนุนแอลพีจีลดลงด้วยจากราคาโลกที่ลดลง ทำให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เริ่มมีรายรับเป็นบวกแล้ว

โดยมีเงินไหลเข้าวันละ 43.54 ล้านบาท มาจาก เบนซินเก็บเข้าวันละ 98.33 ล้านบาท ดีเซลจ่ายออกวันละ 13.05 ล้านบาท น้ำมันเตาเก็บเข้าวันละ 0.31 ล้านบาท และแอลพีจีเก็บเข้าวันละ 7.19 ล้านบาท

สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ ที่เริ่มมีเงินไหลแล้ว ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิสัปดาห์น่าจะเริ่มติดลบลดลง จากฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 2 มิถุนายน ติดลบ 111,467 ล้านบาท

 

ด้วยราคาดีเซลที่ขยับถึงเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ในช่วงเวลา 1 เดือน จากเดิมกำหนดไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ส่งผลให้ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสมาชิกรวม 12 สมาคม ออกมาเคลื่อนไหว เตรียมยกกองทัพสิบล้อเข้ากรุงเทพฯ เพื่อพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วันที่ 11 มิถุนายนนี้

เป้าหมายเพื่อขอทราบนโยบายแก้ปัญหา และจะขอให้พิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลากหลายฝ่ายต่อน้ำมันดีเซล

อีกมุมมองของนักวิชาการอย่าง นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า ประเด็นหลักที่ผ่านมาคือ ทางรัฐบาลได้เข้ามาแทรกแซงและกดราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นระดับ 29-30 บาทต่อลิตร เป็นเวลานานมากเกินไป ส่งผลผลกระทบทำให้ตัวเลขกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบค่อนข้างเยอะ ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ และเป็นกลไกกองทุนที่ใช้ในการลดการผันผวน

ดังนั้น เมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประสบปัญหาการขาดทุนเป็นหลักแสนล้าน จึงมองว่า ภาครัฐอาจจะต้องการลดอุปสงค์ลง และทางหน่วยงานรัฐบาลเองก็กำลังพยายามแก้ไขปัญหาการขาดทุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ซึ่งถ้าหากมองจากสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนี้ รัฐบาลเองก็ไม่สามารถใช้มาตรการแทรกแซงไปได้ตลอด

การแก้ปัญหาจึงมีทางเดียว คือ ควรให้กลไกราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำงานด้วยตัวเอง ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ การปรับราคาค้าปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกให้มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น จะส่งผลทำให้ต้นทุนของราคาสินค้านั้นต้องขยับขึ้นไปพร้อมกัน เนื่องจากตัวน้ำมันดีเซลใช้ในภาคขนส่งค่อนข้างเยอะ ทำให้ส่งผลต่อไปราคาสินค้าและบริการที่จะต้องเพิ่มขึ้นไปตามราคาน้ำมันด้วย

สถานการณ์จึงเรียกว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มสูงขึ้น (Cost Push Inflation) คือ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากฝั่งผู้ผลิตโดย ราคาวัตถุดิบสินค้า หรือต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตสินค้าแพงขึ้น มาจากราคาสินค้าและวัตถุดิบของตลาดโลกที่สูงขึ้น และเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐเองไม่สามารถแก้ไขได้

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการชะลอ ซึ่งทางภาครัฐเองได้ชะลอในส่วนของราคาน้ำมัน แต่ก็ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบขนาดมหาศาลเช่นที่ผ่านมา ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนชาวไทยต้องรับกับราคาน้ำมันที่แท้จริงในตลาดปัจจุบัน

ที่ผ่านมาการที่ประเทศไทยไม่ได้ขยับราคาน้ำมันขึ้นลงตามกระแสราคาของตลาดน้ำมันโลก เน้นแทรกแซงเป็นเวลานาน ทำให้ประชาชนติดความเคยชินกับการที่ราคาน้ำมันจะต้องเป็นไปตามแบบแผนนโยบายประชานิยม เป็นสิ่งที่ไม่ดี

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอ เสนอว่า ทางออกที่ดีที่สุดเวลานี้คือ ต้องให้ราคาดีเซลเป็นไปตามกลไกราคาก่อน และในระยะต่อไปหากอนาคตเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลมีการเบิกจ่ายที่คล่องตัว มีแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ และเริ่มจะสะสมทุนให้มันมากขึ้น จะเพียงพอต่อการชำระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดค้างกันมาเป็นเวลานาน

“ขอเสนอให้หน่วยงานรัฐแทรกแซงราคาน้ำมันลดลง และเน้นช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ท้ายสุดถ้าราคาน้ำมันมันขึ้นจะส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูง เพราะฉะนั้น รัฐอาจจะพิจารณาเติมเงินให้กับกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เช่น กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐบาล เป็นต้น” นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอทิ้งท้าย

อีกข้อเสนอที่รับฟัง ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะกล้าตัดสินใจหรือไม่!!