นิทาน “นาฬิกา”

ว่ากันว่า “นิทาน” ที่ดีนั้นตอนจบต้องมี “คติสอนใจ”

เหมือนกับ “นิทาน” เรื่องหนึ่งในสยามประเทศที่มีการปล่อยข่าวกันมานานเป็นเดือน

นิทานเรื่องนี้เล่าว่า ชายคนหนึ่งมีเพื่อนรักเป็นนักธุรกิจ

คบกันมายาวนานตั้งแต่เด็ก

เรียนโรงเรียนเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานาน

วันหนึ่งเพื่อนไปทำธุรกิจใหญ่โต ส่วนตนเองเข้าสู่วงจรอำนาจ

มีหลายครั้งที่เข้าไปช่วยเพื่อนที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ

ทำให้เพื่อนรักซาบซึ้งใจเป็นอันมาก

เพื่อนรู้ว่าชายคนนี้ชอบนาฬิกา แต่ด้วยความเป็นคนประหยัดจึงมีนาฬิการาคาไม่ถึงแสนบาท

เขาจึงให้ชายคนนี้ยืมนาฬิกาแพงๆ ใส่ออกงาน

“ริชาร์ด มิลล์-ปาเต๊ะ ฟิลลิป-โรเล็กซ์”

…แค่ 25 เรือน

จบ!!!

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “คบเพื่อนดี มีนาฬิกาใส่”

ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง “นิทาน” กลายเป็น “เรื่องจริง”

เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายอมรับว่านาฬิกา “ริชาร์ด มิลล์” และนาฬิกาเรือนอื่นๆ ที่ปรากฏในข่าว

…เป็น “นาฬิกา” ของ “เพื่อน”

“ผมมีเพื่อน เพื่อนเอามาให้ผมใส่ แค่นั้นเอง”

ไม่แปลกที่ปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ เสียงเป่าปาก โห่ร้องเกรียวกราว

เพราะไม่ว่าจะหันไปถามใคร ไม่เคยมีใครมีประสบการณ์แปลกๆ แบบนี้มาก่อน

ให้เพื่อนยืมนาฬิกาใส่

“เรื่องจริง” เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…

“นิทาน” ก็คือ “นิทาน”

“อย่าคิดว่าคนจะเชื่อว่านิทานเป็นเรื่องจริง”

ยัง ยังไม่พอ

นิทานที่ดีนั้น ถ้าให้จับใจคนฟังจะต้องมีกลอนหรือบทกวีตบท้าย

นิทานเรื่องนี้จึงมี “กวี” คนหนึ่งแต่งโคลงสี่สุภาพขึ้นมา

เขาอ้างว่าเป็นเหลนของ “ศรีปราชญ์”

ชื่อว่า “สีทนได้”

เขาใช้นิ้วเท้าเขียนโคลงนี้บนพื้นทราย

… “แหวนเพชร” วงนี้ เป็นพยาน

เราก็คนมีนาฬิกา เพื่อนบ้าง

“ริชาร์ด มิลล์” ให้ยืม เราชอบ

เราบ่คืน เพื่อนบ่ทวง นาฬิกานั้น คืนสยอง