เทศมองไทย : ญี่ปุ่นกับจีน กับภาวะ “ไผ่ลู่ลม” ของไทย

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทยที่ปักหลักประจำอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ในประเทศญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทวิเคราะห์ที่ปรากฏในเจแปนไทม์ส เมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมาว่า ศึกขับเคี่ยวเพื่อช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอย่างจีนกับญี่ปุ่น กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในประเทศไทย

“การลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ เป็นขอบเขตสำคัญประการหนึ่งซึ่งญี่ปุ่นกับจีนแข่งขันกันอย่างดุเดือดในประเทศไทย ทั้ง 2 ประเทศจับตาเป็นพิเศษไปที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสามารถอำนวยรายได้ให้กับประเทศทั้งสองหลายพันล้านดอลลาร์”

เมื่อปลายปีที่แล้ว จีนเริ่มต้นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ จากกรุงเทพฯ ไปยังนครราชสีมา

โครงการซึ่ง หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุเอาไว้ว่าเป็น “แฟล็กชิป โปรเจ็กต์” อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”

หรือที่มักเรียกกันว่า “เบลต์แอนด์โรด อินนิเชียทีฟ” (บีอาร์ไอ) ที่โด่งดังไปทั่วโลก

 

ไทยได้รับมอบหมายให้เป็น “เมเจอร์ เกตเวย์” ของบีอาร์ไอ ที่ว่ากันว่าเป็นความพยายามเพื่อฟื้นฟูความเฟื่องฟูของ “เส้นทางสายไหม” ในอดีต

โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น จีนเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแล ทั้งในเรื่องของการก่อสร้างเส้นทางความยาว 253 กิโลเมตร, การออกแบบ และการผลิตขบวนรถ และระบบอาณัติสัญญาณ ทั้งหมด ความเร็วสูงสุดของรถไฟความเร็วสูงที่ว่านี้คือ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นระยะแรกของโครงการ ระยะต่อไปของโครงการนี้ก็คือ การเชื่อมต่อเส้นทางจากนครราชสีมาออกไปยังจังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนสู่ลาวในบริเวณดังกล่าว

นั่นหมายความว่า เมื่อแล้วเสร็จ โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ก็จะเชื่อมโยงจีนเข้ากับไทยโดยปริยาย

“จีนตั้งความหวังว่า โครงการเรลลิงก์ของตนนี้ จะมีส่วนช่วยให้เกิดพัฒนาการด้านสาธารณูปโภค และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกันและกันทั้งในไทยและในภูมิภาค” ปวินระบุ พร้อมกับเสริมไว้ด้วยว่า ในอีกทางหนึ่งนั้น จีนเองก็คาดหวังจะใช้ “โครงการสองระยะดังกล่าวนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศไทย” ไปด้วยอีกทาง

ซึ่งแสดงให้เห็นแนวนโยบายของทางการจีนได้ชัดเจนในแง่ของการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในทางปฏิบัติและในเชิงยุทธศาสตร์ กับเพื่อนบ้านทั้งหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตน

 

ญี่ปุ่น ซึ่งจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยอยู่ห่างๆ กระตือรือร้นที่จะตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มทวีขึ้นของจีน ด้วยการนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงของตัวเองให้กับทางการไทยเช่นเดียวกัน

โครงการของญี่ปุ่นระยะทางรวม 670 กิโลเมตร เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับจังหวัดเชียงใหม่ทางตอนเหนือของประเทศ แต่เกิดปัญหาหลายอย่างทั้งทางเทคนิคและทางการเงินขึ้นกับโครงการ จนทางกระทรวงคมนาคมต้องสั่งให้มีการศึกษาโครงการใหม่ ลงเอยด้วยการปรับลดสปีดสูงสุดที่เดิมกำหนดไว้ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งต้องใช้เงินมหาศาลถึง 12,500 ล้านดอลลาร์ ลงมาเหลือเพียงระหว่าง 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และเปลี่ยนลักษณะของโครงการ จากเดิมที่เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กลายเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับภาคเอกชนแทน

ปวินตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในเมื่อมีโครงการรถไฟจีนแล้ว ก็น่าจะมีการทบทวนโครงการรถไฟของญี่ปุ่นนี้ ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับจังหวัดอื่นๆ และประเทศอื่นๆ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ทางการไทยยืนกรานว่า โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นนี้จะยังคงดำเนินต่อไป และอาจเริ่มต้นการก่อสร้างภายในปีนี้ด้วยซ้ำไป เริ่มด้วยระยะ 380 กิโลเมตรแรก มูลค่า 8,500 ล้านดอลลาร์ เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับพิษณุโลก

ส่วนระยะที่สองจึงจะเชื่อมต่อไปจนกระทั่งถึงเชียงใหม่ คิดค่าโดยสารราคาเที่ยวเดียวที่ 40 ดอลลาร์ (ราว 1,280 บาท)

 

ในทัศนะของปวิน โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 โปรเจ็กต์ คือภาพสะท้อนของการเมืองระดับภูมิภาคที่ซับซ้อนไม่น้อย ในทางหนึ่ง นี่คือโครงการที่ตอบสนองความต้องการด้านโลจิสติกของไทย แต่ในเวลาเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการช่วงชิงกันเพื่อ “ครอบงำ” ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ด้วยในตัว

ในเวลาเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ของไทย ที่ใช้มหาอำนาจถ่วงดุลซึ่งกันและกันที่เป็นแนวทางการทูตสไตล์ “ไผ่ลู่ลม” ซึ่งไทยใช้มานานแล้ว

จีนนั้นถือว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น “เขตอิทธิพล” ของตนเอง และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยึดภูมิภาคนี้เป็นที่มั่นสำคัญ

ญี่ปุ่นไม่เพียงต้องการถ่วงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเท่านั้น ยังต้องการแสดงให้เห็นชัดเจนด้วยว่า ญี่ปุ่นยังคงใส่ใจและสนใจในภูมิภาคนี้อยู่ไม่เสื่อมคลายนั่นเอง