ข้าวไทยสู้โลกร้อน (1)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

งานมหัศจรรย์ข้าวไทยปีนี้ เทคโนโลยีชาวบ้านในเครือบริษัทมติชน ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ บรรยากาศคึกคักมาก ได้มีโอกาสชิมข้าวนานาสายพันธุ์ ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวและเจอชาวนาตัวจริงเสียงจริง “พี่อร่าม ทรงสวยรูป” อดีตช่างภาพมติชนผันตัวเองไปปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมีที่บ้านเกิดสุรินทร์

“ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว” ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เล่าถึงที่มาที่ไปในการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยที่สามารถสู้รบกับสภาวะโลกรวนซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช.กับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การวิจัยค้นคว้าของ สวทช.และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มก.ใช้เวลากว่า 20 ปีจึงประสบความสำเร็จในการปรับปรุงข้าวไทย 26 สายพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคพืช แมลง ทนทานกับภาวะน้ำท่วมขัง ภัยแล้ง

ดร.มีชัย โชว์สไลด์เป็นกราฟแสดงให้เห็นว่า โลกได้เข้าสู่ภาวะโลกรวนโลกร้อนซึ่งค่าอุณหภูมิ ตั้งแต่ปี 2523 มาถึงปี 2552 แม้ยังไม่ถึงปีปัจจุบัน แต่เห็นได้ชัดว่าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นถึง 10 องศา

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมโลกถึงร้อน และโลกร้อนส่งผลอะไรบ้าง? ดร.มีชัยตั้งคำถามพร้อมกับให้คำตอบว่า

โลกร้อนมีผลทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง โดยเฉพาะบริเวณประเทศที่อยู่ในแถบประเทศไทย เส้นศูนย์สูตร ถึงอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา

ปีที่แล้วถ้าชาวนาได้เวลาปลูกข้าว จะเห็นว่าฝนเทลงมาตอนต้นฤดูแล้วก็ทิ้งช่วงยาวไป 3 เดือน จนมาเดือนกันยายนมีฝนเยอะขึ้น จะเห็นว่ามันผิดปกติ มีผลกระทบต่อผลผลิตข้าวลดลง

ปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าด้วยอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ตัวการสำคัญคือ อุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะมีผลต่ออุณหภูมิของน้ำทะเล น้ำทะเลจะมีกระแสน้ำอุ่นกับกระแสน้ำเย็น

กระแสน้ำเย็นก็จะทำให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ คือ เอลนีโญ และ ลานิญา

เมื่อกระแสน้ำอุ่นไหลจากฝั่งเอเชียไปฝั่งทวีปอเมริกา จะทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ฝนตกมากในฝั่งทวีปอเมริกา แต่ฝั่งบ้านเราจะแล้ง

คาดไว้ว่าปีนี้ ปรากฏการณ์จะเกิดตรงกันข้าม กระแสน้ำอุ่นไหลจากทวีปอเมริกามาฝั่งประเทศไทย อเมริกาก็จะแล้ง แต่ฝั่งบ้านเราจะน้ำมากขึ้น เป็นผลจากภาวะโลกร้อน

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสูงมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิในกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น ตัวกระแสน้ำอุ่นยังกระทบไปถึงผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย

ถ้าน้ำแข็งละลายลงมาประเทศที่อยู่ในระนาบเดียวกับระดับน้ำทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะว่ามวลน้ำเพิ่มขึ้น พื้นที่การเกษตรก็จะหายไป

คราวนี้หันมามองว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิมีผลต่อพื้นที่ปลูกข้าวอย่างไร น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกข้าวโดยเฉพาะข้าวนาปี น้ำมากไปและน้ำน้อยไปมีผลต่อการผลิตข้าว

ชาวนาอยากได้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมกับนาข้าว เพราะฉะนั้น น้ำพอดีชาวนาสามารถคำนวณปริมาณการผลิตได้ โดยเฉพาะประเทศไทย พื้นที่ปลูกประเทศไทย 100% พบว่า 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวประเทศไทย เป็นพื้นที่อาศัยหน้าน้ำฝนเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีพื้นที่ชลประทาน

คำว่า “หน้าน้ำฝน” หมายถึงน้ำที่ไม่สามารถกักเก็บปริมาณได้ ต้องอาศัยเทวดาฟ้าฝน

พื้นที่นาประมาณแค่ 20% ที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานสามารถกักปริมาณน้ำได้ เพราะฉะนั้น เห็นว่าภาคการผลิตของประเทศไทย ของข้าวยังพึ่งอยู่กับฟ้าฝน

ถ้าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ชาวนาจะได้รับผลกระทบเต็มๆ เลย เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะจัดการกับเอลนีโญ ลานิญา ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นภัยพิบัติ แต่ไทยยังคงต้องปลูกข้าวต่อไป จึงจำเป็นต้องมีข้าวกินแล้วต้องมีข้าวไปส่งออกข้าวขาย ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าว

การปรับปรุงพันธุ์ข้าว สวทช.ได้ร่วมมือกับพันธมิตรด้วยทั้งภาครัฐและเอกชน สภาพฟ้าฝนเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวนา 80% อาศัยฟ้าฝน 20% ก็คืออยู่ในพื้นที่ที่สามารถกำหนดน้ำได้ เป็นพื้นที่ชลประทาน

สิ่งที่ทีมวิจัยจะช่วยเกษตรกรได้ อันดับแรกคือ ต้องสร้างพันธุ์ข้าวที่รองรับต่ออุณหภูมิที่ไม่สามารถกำหนดได้ เรียกว่าภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่เกิดจากโลกร้อนหรือโลกรวน

สวทช.ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและกรมการข้าว นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพัฒนาสร้างเป็นนวัตกรรม

พันธุ์ข้าวแรกที่วิจัยเป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อน้ำท่วมฉับพลันได้ เรามุ่งประเด็นไปที่พื้นที่นาน้ำฝน ที่ไม่สามารถกักเก็บปริมาณน้ำได้ ตอนแรกร่วมออกกับกรมการข้าว ก็คือ กค.51 ตัวนี้เป็นคุณสมบัติเหมือนหอมมะลิ

ทุกอย่างเหมือนหอมมะลิ ปลูกเหมือนหอมมะลิ รูปร่างของหอมมะลิ รสชาติเหมือนหอมมะลิ แต่ในระหว่างปลูก น้ำฝนมาต้นข้าวอยู่ใต้น้ำได้เป็นเดือน ขึ้นอยู่กับอายุ และความขุ่นของน้ำ

ต้นข้าวที่อยู่ใต้น้ำ ยังต้องการการสังเคราะห์แสงอยู่ ถ้าน้ำขุ่นแสงลงไปไม่ถึง ต้นข้าวจะตายเร็ว แต่ถ้าน้ำใส จะอยู่ได้นาน อย่างไรก็ตาม ต้นข้าวทนทานต่อภาวะน้ำท่วม จะหน่วงเวลาให้ชาวนาได้จัดการพื้นที่ตัวเอง ในการที่จะระบายน้ำออก

ปัจจุบัน ทีมวิจัยพัฒนาต่อไปในส่วนที่เรียกว่า หอมสยามเบอร์ 2 พัฒนาต่อจาก กค.51 จากเดิม กค.11 ผลผลิตเหมือนหอมมะลิ กค.52 ทุกอย่างรสชาติอะไรเหมือนหอมมะลิ แต่ผลผลิตมากกว่าหอมมะลิ 1.5 เท่า จะช่วยเกษตรกรในพื้นที่น้ำฝน

ถ้าเป็นข้าวหอมนุ่มส่วนใหญ่เกษตรกรก็จะปลูกแต่ข้าวหอมมะลิ สามารถยกระดับของข้าวในพื้นที่ผลผลิตต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แล้วลดความเสี่ยงต่อน้ำท่วมฉับพลัน

ตัวที่ 2 คือ ข้าวหอมสยาม ทีมวิจัยลดความสูงของข้าวลง ในพื้นที่แล้ง จะช่วยลดการสูญเสียผลผลิตเช่นต้นข้าวหักล้มได้อย่างน้อย 30%

เมื่อลดความสูงของต้นข้าวลงแล้ว ก็ปรับปรุงระบบรากและระบบท่อลำเลียงน้ำในต้นข้าวให้ใหญ่ขึ้น

ถ้าต้นข้าวอยู่ในสภาพปกติ รากจะแผ่กระจาย แต่เวลาแล้ง ระดับองศาของรากจะปรับเป็นแนวดิ่งเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติ รากต้นข้าวจะหาน้ำได้ในระดับที่ลึกขึ้น จึงเป็นที่มาของการปรับตัวต้นข้าวในสภาพที่น้ำน้อยไป

ส่วนในพื้นที่นาน้ำฝน สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การระบาดของโรคแมลงเพิ่มขึ้น โรคของข้าวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคขอบใบแห้ง ความชื้นเยอะ หรืออากาศเย็นจะทำให้เชื้อแพร่ระบาดมากกว่าปกติ

เช่นเดียวกัน โรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคใบไหม้ จะระบาดมากขึ้น ถ้าอากาศเย็นและชื้น ทีมวิจัยจะเก็บเชื้อสาเหตุทั่วประเทศเอามาศึกษาวิจัย หาตำแหน่งของพันธุกรรมที่ต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา นำองค์ความรู้ผนวกเข้าไปในสายพันธุ์ใหม่ๆ

พันธุ์ข้าวหอมสยามที่น้ำน้อย เราเอาตัวที่ต้านทานต่อเชื้อรา ผสมผสานเข้าไปในพันธุ์ข้าวหอมสยามนั้นด้วย ทำให้ข้าวหอมสยามสามารถรับกับสภาพน้ำที่น้อยเกินไป และต้านทานต่อโรคใบไหม้

ดร.มีชัย ยังให้ข้อมูลการค้นคว้าวิจัยข้าวไทยสู้กับภาวะโลกร้อนที่คาดว่าจะช่วยพลิกโฉมหน้าประเทศไทย นำไปสู่การปลูกข้าวที่ปลอดจากสารพิษ เป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง

รายละเอียดเป็นอย่างไรมาว่ากันต่อในคราวหน้า •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]