เผยแพร่ |
---|
การรับคำร้องเพื่อพิจารณาชี้ขาดว่าเนื้อหาของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยคะแนน 8 ต่อ 1 ของศาลรัฐธรรมนูญ
ทำให้กระบวนการได้มาซึ่ง 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”อยู่ในสถานะอันล่อแหลมหวาดเสียวเป็นอย่างสูง
นี่ย่อมดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น”สัญญาณ”ทางการเมือง
สร้างความไม่แน่นอนให้ไม่เพียงแต่ต่อสถานะแห่ง 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”เท่านั้น หากแต่ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับสถานะแห่ง 250 สมาชิกวุฒิสภา”เก่า”อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อสังเกตจาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ เมื่อประสานเข้ากับข้อสังเกตจาก นายวันชัย สอนศิริ ที่ว่ามีกระบวนการที่ต้องการล้มและเลิกการเลือกตั้ง 200 สมาชิกวุฒิสภา”ใหม่”เพิ่มน้ำหนักแห่งความน่าเชื่อถือขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
เนื่องจากความหมายแห่งการขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่ากับเป็นการยืนยันถึงบทบาทและความจำเป็นที่จะต้องยืดอายุของ 250 สมาชิกวุฒิสภา”เก่า”ออกไปอีก แม้จะต้องหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ก็ตาม
“คำวินิจฉัย”ที่จะปรากฏในอนาคตอันใกล้จึงมีความสำคัญโดยฉับพลันทันใด
ความสำคัญในที่นี้มิได้ทำให้ความเข้าใจต่อเจตนารมณ์ที่อยู่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และการยกร่างพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น
หากแต่อยู่ที่สถานะในทางความคิดอันดำรงอยู่ใน 250 สมาชิกวุฒิสภา”เก่า”
และของ 9 ตุลาการแห่ง”ศาลรัฐธรรมนูญ”ด้วย
ทำให้บทสรุปและข้อสังเกตอันนำไปการครหาว่าบทบาทของ 250 สมาชิกวุฒิสภา”เก่า” และบทบาทของ”องค์กรอิสระ”อันมีขึ้นในห้วงหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างและสืบทอดระบอบอันมาจาก”รัฐประหาร”
มิได้เป็นข้อครหาหรือบทสรุปอันเลื่อนลอย หากแต่มีความเป็นจริงรองรับอยู่อย่างหนักแน่นมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านบทบาทของวุฒิสภา ผ่านบทบาทขององค์กรอิสระ
นี่จึงเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งที่ถมทับซับซ้อนเข้ามา
ไม่ว่าจะมองผ่านเส้นทางโคจรของดวงดาว ไม่ว่าจะมองผ่าน การขับเคลื่อนของคดีแต่ละคดีในทางการเมืองสังคมรับรู้ใน”วิกฤต” สะท้อน”ปัญหา”และความขัดแย้ง
ที่เคยคิดว่าสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ภายใต้”รัฐบาลพิเศษ”บนพื้นฐานแห่งการข้ามขั้วทางการเมืองจะเบิกสถานการณ์ใหม่อาจไม่เป็นความจริง
พลันที่ปรากฏเงาร่างของ นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะที่ปรึกษา”ของ”นายกรัฐมนตรีสังคมก็เริ่มหวาดระแวง อ่อนไหว