จิตต์สุภา ฉิน : สมองเป็นนาย กายเป็นเครื่องจักร

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สวัสดีจาก CES 2018 ค่ะ!

เป็นประจำทุกปีที่ซู่ชิงจะต้องหาโอกาสบินมาร่วมงานจัดแสดงเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานนี้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่สี่ติดต่อกันแล้ว

และถึงแม้ว่า ลาส เวกัส ต้องประสบกับโศกนาฏกรรมกราดยิงครั้งเลวร้ายแห่งประวัติศาสตร์

แต่ดูเหมือนก็ไม่อาจทำให้ผู้คนขยาดได้เพราะต่างก็ยังหลั่งไหลมาที่นี่กันอย่างคึกคัก

นอกจากงานจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมายที่รักเทคโนโลยีจากทุกสารทิศแล้ว

หลังเลิกงาน กาสิโนฟลอร์ของทุกโรงแรมก็ยังเต็มไปด้วยเสียงแจ๊กพ็อตจากตู้สล็อตแมชชีนที่เรียงรายกันสุดลูกหูลูกตาและเสียงพูดคุยจอแจจากโต๊ะเล่นการพนันหลากหลายรูปแบบ

เวกัสไม่รู้จักหลับจริงๆ ค่ะ

หากปีที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าเทคโนโลยีเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่สมาร์ตโฟนในมือช่วยให้เราสามารถทำทุกอย่างที่เราต้องการได้ ไปจนถึงผู้ช่วยส่วนตัวอัจฉริยะที่ฝังตัวมาในโทรศัพท์หรือแก็ดเจ็ตประจำบ้านซึ่งทำความรู้จักตัวเรามากขึ้นๆ ทุกครั้งที่เราใช้และพูดคุยกับมัน

ปีนี้ก็ต้องบอกว่ามันกำลังจะเข้า “ใกล้” และเข้าไป “ลึก” ยิ่งกว่าที่ผ่านมาอีกค่ะ

เพราะจากการสังเกตของซู่ชิงเห็นว่าปีนี้เทรนด์เทคโนโลยีจะทะลุทะลวงเข้าไปล้วงข้อมูลออกมาจากสมองของเราเลยทีเดียว

ทำไมจึงคิดเช่นนั้น?

มาค่ะ เราไปเดินสำรวจงานพร้อมๆ กันเลย

 

เริ่มกันที่บู๊ธของแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นอย่างนิสสันกันนะคะ ปีนี้นิสสันเรียกเสียงฮือฮาจากทุกคนที่มาร่วมงานด้วยคอนเซ็ปต์ล้ำๆ แห่งอนาคต

ด้วยการบอกว่าผู้ช่วยในการขับขี่รถยนต์ของเราในอนาคตอาจจะไม่ใช่ใครที่ไหน

แต่เป็น “สมอง” ของเราเองนี่แหละค่ะ

โอ้โห ฟังดูไซไฟมากๆ ว่าแต่ว่าสมองจะมาช่วยเราขับรถได้ยังไงกันนะ

นิสสันเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า B2V หรือ Brain-to-Vehicle ซึ่งก็คือ “จากสมองไปสู่ยานพาหนะ” นั่นเองค่ะ

สรุปใจความสั้นๆ ก็คือเทคโนโลยี B2V จะอ่านค่าสมองของผู้ขับและคาดประมาณว่าผู้ขับคนนั้นๆ จะทำอะไรเป็นลำดับต่อไป

อย่างเช่น จะหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายขวา หรือจะเหยียบเบรกหรือคันเร่ง จากนั้นก็จะสั่งการให้รถยนต์ทำตามนั้นล่วงหน้าไปนิดหน่อย ก่อนที่ร่างกายของผู้ขับจะรับคำสั่งจากสมองไปทำเองเสียอีก

ยกตัวอย่างนะคะ เวลาเรากำลังขับรถและเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้า สมองของเราก็จะคอยสั่งให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น เหยียบหรือผ่อนคันเร่ง เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เตรียมเหยียบเบรกเพราะเห็นไฟเบรกรถคันข้างหน้าสว่างวาบขึ้นมา เป็นต้น

แต่กว่าที่ร่างกายเราจะทำตามที่ตาเห็นและสมองประมวลผลนั้นก็จะต้องใช้เวลาอีกนิดหน่อย ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทีเดียวใช่ไหมคะ

เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาทำให้ช่องว่างตรงนั้นแคบลง ด้วยการอ่านคลื่นสมองของเราและสั่งการรถแทนให้ เช่น เมื่อพบว่าเรากำลังเตรียมจะเลี้ยวขวา ระบบของรถก็จะหมุนพวงมาลัยรอไว้ให้เล็กน้อย (เล็กน้อยนะคะ ไม่ใช่หมุนทีเดียวเลี้ยวอะไรแบบนั้น)

ทำให้เมื่อร่างกายของเราสั่งให้มือหมุนพวงมาลัยจริงๆ มันก็จะพร้อมไปทิศทางนั้นอยู่แล้ว ช่วยให้การขับรถยนต์ไหลลื่นและสบายขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราขับรถไปตามเส้นทางบนภูเขาที่คดและลดเลี้ยว หรือขับเลนขวาบนทางด่วนซึ่งต่างก็ต้องใช้ความสามารถในการขับมากเป็นพิเศษ B2V ช่วยให้ระบบรถยนต์รับคำสั่งต่อจากสมองมนุษย์ได้เร็วกว่าเวลาตอบโต้โดยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 0.2 ถึง 0.5 วินาที เลยค่ะ

นอกจากการคาดการณ์และเตรียมการไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว B2V ยังช่วยในการประเมินความสบายของผู้ขับด้วย หากพบว่าผู้ขับเกิดอาการไม่สบายกายหรือไม่สบายใจ (อย่างเช่น การอยู่ในรถยนต์ที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าเร็วเกินไปจนรู้สึกไม่สบายใจ)

ระบบปัญญาประดิษฐ์ของรถก็จะช่วยปรับค่าการขับเพื่อทำให้ผู้ขับรู้สึกอยู่ในสภาวะที่สบายที่สุด

และแน่นอนว่าเมื่อเทคโนโลยีนี้เกี่ยวข้องกับการอ่านคลื่นสมอง ผู้ขับก็จะต้องสวมอุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ EEG ไว้ตลอดเวลาด้วย

 

นิสสันเขายังไม่ได้บอกนะคะว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใส่ไว้ในรถยนต์ของแบรนด์หรือไม่ เพราะตอนนี้ยังนับว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ

ซู่ชิงถามคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากเราตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนและสมองของเราตัดสินใจพลาด

เช่น การอยู่ในอุบัติเหตุที่เราควรพุ่งชนแต่กลับตัดสินใจหักหลบ รถยนต์จะเลือกใช้ระบบอัตโนมัติที่ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับ หรือจะเชื่อการตัดสินใจของสมองเรา

ก็ได้รับคำตอบว่าในเบื้องต้นระบบ B2V จะใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการขับขี่

ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้นจะยังเป็นหน้าที่ของระบบอัตโนมัติ

ซึ่งสำหรับนิสสันแล้วก็น่าจะหมายถึงฟีเจอร์ ProPILOT ในรถยนต์ Leaf รุ่นล่าสุดที่ซู่ชิงได้ทดลองขับไปตามท้องถนนของเวกัสแล้ว ระบบช่วยทำให้การขับรถยนต์ในอเมริกาเป็นครั้งแรกของซู่ชิงราบรื่นกว่าที่คิดมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเตือนเมื่อขับคร่อมเลน ระบบครูซคอนโทรล ไปจนถึงการลดความเร็วให้โดยอัตโนมัติเมื่อพบว่าเราขับจี้ท้ายคันข้างหน้ามากเกินไป

นอกจากนี้ก็ยังมี ePedal ที่ช่วยให้เราใช้แค่เท้าข้างเดียวในการขับรถ ทั้งหมดนี้เป็นฟีเจอร์ที่จะอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์คันนี้ที่เตรียมจะเข้ามาขายในเมืองไทยด้วยค่ะ

ซู่ชิงมั่นใจและมองโลกในแง่ดีนะคะว่าเมื่อมีการเดินหน้าวิจัยเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดแล้วเทคโนโลยีการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสมองในการขับรถจะเพิ่มทั้งความเพลิดเพลินและความปลอดภัยให้ผู้ขับได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าท้องถนนที่อันตรายและเสี่ยงตายมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างประเทศไทยนั้นจะพึ่งแต่เทคโนโลยีแบบนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้

โครงสร้างถนนก็จะต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย

 

จบจากบู๊ธนิสสัน เรามาเดินเล่นกันต่ออีกสักหน่อยนะคะ คราวนี้พามาที่บู๊ธของ Muse (มิวส์) อีกแบรนด์ที่ขออ่านค่าสมองของเราเช่นเดียวกัน แต่คนละจุดประสงค์กับนิสสันนะคะ เพราะนี่เป็นแก็ดเจ็ตช่วยในการฝึกสมาธิค่ะ

สองสามปีก่อนซู่ชิงเคยทดลองใช้แก็ดเจ็ตที่สวมคาดหน้าผากของแบรนด์นี้มาแล้ว แต่ปีนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งในรูปแบบของแว่นตา เมื่อสวมลงไปแล้วตัวเซ็นเซอร์จะอ่านค่าคลื่นสมองและแสดงผลออกมาผ่านแอพพลิเคชั่น โดยจะบอกว่าสมองของเราอยู่ในภาวะแอ๊กทีฟ (เต็มไปด้วยความคิด ค่อนข้างฟุ้งซ่าน) หรือภาวะสงบ ด้วยการใช้เสียงคลื่นและนกร้องมาช่วยบอก เพื่อให้เรารู้เท่าทันความคิดและปรับให้มันนิ่งลงได้

เขาบอกว่าทำบ่อยๆ จะทำให้เรามีสมาธิที่ดีขึ้น น่าจะเหมาะสำหรับมือใหม่หัดทำสมาธิค่ะ

เดินต่อไปอีก ซู่ชิงก็เจอเทคโนโลยีที่ขออ่านสมองของเราอีกแล้ว คราวนี้เป็นของ BrainCo (เบรนโค) ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อวัดระดับความสนใจ โดยให้เด็กนักเรียนสวมในห้องเรียน ครูจะสามารถดูกราฟแสดงผลได้ว่าเด็กให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหนเป็นรายนาที

ตอนแรกฟังดูก็ขยาดนิดนึงนะคะ นี่ถ้าครูรู้ว่าเรานั่งฝันกลางวันทั้งคาบเรียนเราจะโดนทำโทษหรือเปล่า

แต่เขาบอกว่าคิดค้นมาเพื่อให้ครูไปปรับวิธีการสอนของตัวเองให้เหมาะกับความสนใจของเด็กมากที่สุดค่ะ

 

เห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเราจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจพบกับเทคโนโลยีที่ทะลุทะลวงเข้าไปในหัวของเรามากขึ้น

แม้สองอย่างหลังจะเป็นแค่การอ่านค่า แต่เทคโนโลยีของนิสสันแสดงให้เห็นว่าเราจะใช้สมองในการสั่งการเครื่องจักรกลกันมากขึ้น

เป็นการใช้ประโยชน์ของสมองโดยก้าวข้ามข้อจำกัดของร่างกายที่เชื่องช้าและอ่อนแอกว่าเครื่องจักร

2018 ดูน่าสนใจขึ้นมาทันทีเลยใช่ไหมล่ะคะ