แรงงานไทยในอิสราเอล เสี่ยงตายเพื่อครอบครัว

(Photo by MENAHEM KAHANA / AFP)

ยอมรับว่าค่อนข้างแปลกใจไม่น้อยที่ได้เห็นข้อเขียนของ ฟรานเชสกา เรกัลลาโด ในนิกเกอิ เอเชีย เมื่อ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุเอาไว้ว่า จำนวนแรงงานด้านการเกษตรของไทยในอิสราเอล กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้ง จนใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับจำนวนที่เคยมีเมื่อตอนก่อนสงครามฉนวนกาซา ที่เริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคม ปีที่ผ่านมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

นั่นอาจเป็นเพราะว่า เมื่อ 7 เดือนเศษที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ยินผ่านสื่อทั้งหลายในประเทศมักเป็นการบอกเล่าถึงความยากลำบากแทบเลือดตากระเด็นของการหนีตายและภาวะอกสั่นขวัญแขวน จนถึงขั้น “ไม่เอาอีกแล้ว” หรือ “ไม่ไปอีกแล้ว”

แต่เรกัลลาโดชี้ให้เห็นว่า ในความเป็นจริง ยังคงมีแรงงานไทยอีกจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงตาย ยืนหยัดทำงานอยู่ในอิสราเอลต่อไป

แล้วก็มีแรงงานไทยที่ทยอยกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง ภายใต้ “โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers-ทีไอซี) ไม่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นอย่างไรก็ตามที

เรกัลลาโดยกตัวอย่าง “สายัณห์” แรงงานชายวัย 33 ปีจากจังหวัดเชียงราย ที่ยอมรับว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุบุกของฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคมปีที่ผ่านมา เขาไม่เคย “แม้แต่จะคิด” ว่าจะยกเลิกสัญญาว่าจ้างแล้วเดินทางกลับประเทศ

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ อยู่เมืองไทยทำงานได้เงินเดือนละ 11,400 บาท แต่ไปเป็นลูกจ้างในสวนไฮโดรโปนิกส์ ที่บินยามินา “สายัณห์” ได้รับเงินรายเดือนสูงถึงเดือนละ 80,000 บาท

เขาปักหลักอยู่ในอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2022 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ แม้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไม่น้อยว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส อาจลุกลามกลายเป็นสงครามในระดับภูมิภาคได้โดยง่ายและเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ตามที

 

ที่น่าแปลกใจลำดับต่อมาก็คือ รีกัลลาโดบอกว่า ทางการไทยโดยกระทรวงแรงงานเพิ่งยกเลิกการระงับการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลเมื่อ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งยังร้องขอให้อิสราเอลเพิ่ม “โควต้า” แรงงานไทยเป็น 20,000 คนต่อปีด้วยอีกต่างหาก

เราคงจำกันได้ว่า เมื่อครั้งเกิดสงครามกาซา ทางการไทยต้องโกลาหลกันขนาดไหนเพื่อจัดส่งแรงงาน 10,000 คน หรือราว 1 ใน 3 ของแรงงานไทยทั้งหมดในอิสราเอลกลับประเทศ

มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปทั้งหมด 41 คน มีเพียง 39 ศพเท่านั้นที่สามารถนำกลับประเทศมาได้ นอกจากนั้น ยังคงมีแรงงานไทยอีก 6 คนตกเป็นตัวประกันอยู่ในมือของฮามาส ซึ่งถึงตอนนี้รัฐบาลไม่ได้เอ่ยถึงอีกต่อไปแล้ว

รีกัลลาโดระบุเอาไว้ในข้อเขียนว่า แรงงานที่ยินดีกลับประเทศในครั้งนั้น มีไม่น้อยที่จำเป็นต้องเดินทางกลับเพราะมี “ปัญหาเร่งด่วนทางการเงิน” ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าหมายความว่าอะไร เท่าที่พอจะคาดเดาได้ก็น่าจะเป็นว่า เป็นเพราะในเวลานั้นไม่มีเงิน ไม่มีกิน ไม่มีที่อยู่กระมัง

รีกัลลาโดระบุเอาไว้ว่า แรงงานไทยในอิสราเอลส่วนใหญ่แล้วมาจากชนบทในภาคอีสาน โดยมากแล้วมักเดินทางไปทำงานที่นั่นเพราะอยู่บ้านเกิดก็ทำเงินได้น้อย เฉลี่ยเงินเดือนขั้นต่ำได้เพียงแค่ 10,000 บาทต่อเดือน

เทียบกับขั้นต่ำของการทำงานที่อิสราเอลที่สูงถึงเดือนละ 50,000 บาท แล้วก็คงพอจะเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องไปเสี่ยงกันถึงขนาดนั้น

 

รีกัลลาโดเขียนถึง ออร์นา ซากีฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งเดินทางไปเยือนครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การบุกของฮามาส 37 ใน 39 ครอบครัว เธอพบว่า มีแต่เพื่อนบ้านและญาติๆ ของผู้เสียชีวิตมาสอบถามว่า จะไปอิสราเอลได้ยังไง?

กระนั้น ความเสี่ยงของแรงงานไทยก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของการสู้รบหรือสงคราม รีกัลลาโดบอกว่า องค์กรไม่แสวงกำไรในอิสราเอลอย่าง Kav LaOved เข้าไปตรวจสอบเมื่อปี 2020 แล้วพบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานไทย ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายในอิสราเอล

หลายคนเข้าไม่ถึงการดูแลทางการแพทย์ และอีกส่วนหนึ่งต้องทนอยู่ในที่อยู่อาศัยอย่างกระเบียดกระเสียน ไม่เหมาะสมจากนายจ้าง

อย่างไรก็ตาม แรงงานบางคนก็บอกกับรีกัลลาโดว่า คิดอยู่เหมือนกันว่าจะกลับไปอีกครั้ง อย่างเช่น ชัยสิน แรงงานชาวน่านวัย 32 ปีที่เคยทำฟาร์มอยู่ที่อาฮิทัฟ ทางตอนเหนือของอิสราเอลซึ่งเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากฮิซบอลเลาะห์ที่มีที่มั่นอยู่ในเลบานอน

เขาบอกกับรีกัลลาโดว่า ถ้าอยู่นี่ดีที่สุดก็ได้แค่ 25,000 บาท แต่ไปที่โน่นการส่งเงิน 55,000 บาทกลับบ้านมาเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก

บางคนยืนยันว่าจะไม่ไปไหนอย่างแน่นอน อยากใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ถ้าหากสภาพเศรษฐกิจและการเงินในไทยดีเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว

สุดท้าย ถ้ายังเป็นอยู่เช่นนี้ พวกเขาก็ได้แต่เสี่ยงตายกันต่อไปเท่านั้นเอง