ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
น่าสนใจว่า แม้จะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคทางการเมืองด่านสำคัญ โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตาเหมือนๆ กัน
แต่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” และ “พรรคก้าวไกล” กลับเลือก “ตัวช่วย” ในการต่อสู้กับ “กระบวนการนิติสงคราม” ข้างต้น อย่างผิดแผกแตกต่างกัน
เรื่องที่น่าคิดมิได้อยู่ตรงประเด็นว่า การเลือกหรือตัวช่วยแบบไหนดีกว่าการเลือกหรือตัวช่วยอีกแบบ
แต่ความแตกต่างที่ปรากฏชัด กำลังบ่งบอกถึงโลกทัศน์และวิถีปฏิบัติทางการเมืองของทั้งสองฝ่าย
นายกฯ เศรษฐา ตัดสินใจ “สู้” คดีวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของตนเอง อันเนื่องมาจากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยการต้องหันไปพึ่งพา “เนติบริกรระดับซือแป๋” ของประเทศไทยอย่าง “วิษณุ เครืองาม”
ทางเลือกข้างต้นคงวางอยู่บนฐานคิดที่ว่า ไม่มีใครจะสามารถต่อสู้กับ “กระบวนการนิติสงคราม” โดยรัฐไทย ได้ดีกว่าบุคคลที่มีความเข้าใจและรู้จักมักคุ้นในเรื่องนี้อย่างกระจ่างแจ้งถ่องแท้
บุคคลที่ทำงานกับรัฐไทยมายาวนาน เป็นทั้งมือกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากคณะรัฐประหาร และรัฐบาลประชาธิปไตยไม่เต็มใบ
การใช้ “อาจารย์วิษณุ” เป็นตัวช่วย ย่อมหมายความว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพื่อไทยได้เลือกใช้กลยุทธ์ที่จะกลืนกลายตนเองให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐไทยมากที่สุด หรือพยายามมองโลกในแบบที่คณะผู้มีอำนาจฝ่ายนั้นมองและเข้าใจ
นี่คือทางเลือก-ทางสู้-ทางรอดในรูปแบบหนึ่ง
ในโลกอีกใบ ก้าวไกลก็มีหลายกลวิธีที่ใช้ต่อสู้เรื่องคดียุบพรรค เช่น การแถลงใหญ่ถึงแนวทางการสู้คดีในวันที่ 9 มิถุนายน
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งกระบวนการคู่ขนานที่ดำเนินไปอย่างน่าจับตาไม่แพ้กัน คือ การเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศของหนังสารคดีเรื่อง “Breaking the Cycle” ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการถือกำเนิดขึ้นและการถูกยุบของ “พรรคอนาคตใหม่” อันนำมาสู่การฟื้นคืนชีพและเติบโตขยายใหญ่ในร่างของ “พรรคก้าวไกล”
แม้คนทำหนังเรื่องนี้อาจไม่ได้เป็น “บุคลากรของพรรคก้าวไกล” โดยตรง แม้การเข้าฉายทั่วประเทศอาจเป็นเรื่องการทำธุรกิจของโรงภาพยนตร์ด้วยส่วนหนึ่ง ทว่า แกนนำและสมาชิกพรรคก้าวไกลในหลายพื้นที่ก็เดินหน้าจัดกิจกรรมฉายหนังรอบพิเศษเกาะกระแสตามไปด้วย
นี่คือการเล่น “การเมืองวัฒนธรรม” (แปรวัฒนธรรมเป็นการต่อสู้ทางการเมือง) ที่คล้ายจะกำลังสื่อสารกับสังคมไทยโดยรวมว่า บทลงเอยที่เคยเกิดในตอนจบของหนัง คือ “การก้าวพลาดในอดีต” ซึ่งไม่ควร “เกิดซ้ำอีกในอนาคต”
หลายคนย่อมตระหนักชัดว่า “เนติบริกร” กับ “หนังสารคดี” ถือเป็น “อาวุธทางการเมือง” คนละชนิด และมีวิธีใช้สอยแตกต่างกัน
อาวุธประเภทแรกนั้นสู้กับอำนาจรัฐ ด้วยความรู้ซึ้งถ่องแท้ในวิถีและรายละเอียดอันเป็นแบบแผนทางการแห่งอำนาจรัฐ
ขณะที่อาวุธประเภทหลังนั้นสู้กับอำนาจรัฐ ผ่านอำนาจละมุนของวัฒนธรรมและการขยันสื่อสารกับผู้คนจำนวนมากในสังคม ไม่ใช่กลุ่มผู้ถืออำนาจ
ไม่มีใครรับประกันว่า ผลลัพธ์ของการใช้อาวุธสองแบบจะออกมาเหมือนกันหรือต่างกัน
อย่างไรก็ดี การเลือกวิถีทางการต่อสู้ที่ผิดแผกกันเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ การวางรากฐาน และการก่อรูปอนาคตทางการเมือง ซึ่งดูแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022