‘Breaking the Cycle : อำนาจ ศรัทธา อนาคต’ กับบางเรื่องราวที่ตกหายไป

คนมองหนัง

“Breaking the Cycle : อำนาจ ศรัทธา อนาคต” ผลงานการกำกับการแสดงของ “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” และ “ธนกฤต ดวงมณีพร” คือหนังสารคดีการเมืองแบบเข้าฉายเชิงพาณิชย์ที่หาดูได้ไม่ง่ายนักในบ้านเรา โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่านี่เป็นหนังสารคดีการเมือง ซึ่งเพิ่งพินิจไปยังกลุ่มบุคคลที่ยังไม่มีโอกาสได้ถือครองอำนาจรัฐ

ข้อน่าชื่นชมประการแรกสุด คือ Breaking the Cycle เป็นหนังที่สองผู้กำกับฯ เริ่มลงมือถ่ายทำตั้งแต่เมื่อพวกเขามีอายุ 20 กว่าๆ และต้องใช้เวลายาวนานร่วม 6 ปี (จนทั้งคู่มีอายุขึ้นต้นด้วยเลข 3) กว่าที่ผลงานชิ้นนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นพร้อมเผยแพร่สู่สาธารณชน

ส่วนข้อดีที่เด่นชัด ก็คือ นี่เป็นหนังที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทบทวน “ชีวิตทางการเมืองของพรรรคอนาคตใหม่” แม้มิได้ย้อนไปถึงจุดกำเนิดแรก แต่ไทม์ไลน์ในภาพยนตร์ก็ตั้งต้นตรงเหตุการณ์ก่อนเลือกตั้ง 2562 เรื่อยไปถึงการเกิดกระแส “ฟ้ารักพ่อ” ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่พลิกความคาดหมาย เกมการเมืองในโลกความจริงที่เขี้ยวและยอกย้อนกว่าที่คิด

แล้วลงเอยด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่ อันนำไปสู่การก่อตัวของพรรคก้าวไกลและการลุกฮือของม็อบเยาวชนในเวลาต่อมา

องค์ประกอบสำคัญสุดในความเป็นหนังสารคดี ย่อมหนีไม่พ้นการมี “ฟุตเทจ” ที่ครอบคลุมกว้างขวางหาดูยาก โดยส่วนตัวรู้สึกว่าคลังฟุตเทจที่ Breaking the Cycle เข้าถึงและคัดเลือกมานำเสนอในภาพยนตร์นั้น ไม่ได้น่าทึ่งถึงขนาดชวนว้าว

อย่างไรก็ดี ฟุตเทจหลายส่วนก็คลี่เผยให้เราได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจมีชีวิตชีวา เช่น บทสนทนาระหว่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” ในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องรูปแบบโปสเตอร์หาเสียง ไปจนถึงเรื่องความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2562

รวมถึงแง่มุม “ความเป็นพ่อ” ของธนาธร ที่เลี้ยงลูกอยู่ข้างๆ เวทีปราศรัย อันสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ของเขา ในแบบที่เราไม่ค่อยได้พบเห็นมากนัก

ขณะเดียวกัน ฟุตเทจของหนังในส่วนที่บันทึกภาพบรรดาสมาชิก/ส.ส.พรรคอนาคตใหม่รุ่นแรกเอาไว้ ก็กลายเป็นไทม์แมชชีนที่เล่นตลกและสร้างความย้อนแย้งกับปัจจุบันได้อย่างร้ายกาจ เพราะหลายคนที่เคยแวดล้อมอยู่ใกล้ตัวธนาธร ณ เวลานั้น ได้หันหลังให้พรรคก้าวไกลเมื่อ “การเมืองเปลี่ยน” แล้วถูกนิยามว่าเป็น “งูเห่าสีส้ม” ในท้ายที่สุด

ในทางวิธีวิทยา/วิธีการ การทำหนังสารคดีนั้นมีแนวทางการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย มิได้มีวิธีการแบบใดแบบหนึ่งแค่แบบเดียวตายตัว

สำหรับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เอกพงษ์และธนกฤตเลือกที่จะตามติดผู้นำพรรคอย่างธนาธรเป็นหลัก โดยมีช่อ พรรณิการ์ และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นคล้ายตัวละครสมทบ

พูดอีกอย่างได้ว่า สองผู้กำกับฯ กำลังมองชีวิตของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผ่านชีวประวัติทางการเมืองของผู้นำพรรคหนึ่งคนหรือบางคน

วิธีการโฟกัสไปยังบุคคลต้นเรื่องอย่างแน่วแน่เช่นนี้ อาจทำให้หนังสามารถสะท้อนความคิด-ตัวตนของตัวแสดงทางการเมืองจำนวนน้อยคนออกมาได้คมชัดพอสมควร ทว่า อีกด้าน ก็มีบริบทรายล้อมและผู้คนจำนวนหนึ่งที่ถูกเพิกเฉยไปอย่างน่าเสียดาย

ดังที่คนติดตามการเมืองย่อมทราบกันดีว่า ความเข้มแข็งประการหนึ่งที่ชูให้พรรคการเมืองอย่าง “อนาคตใหม่-ก้าวไกล” มีความโดดเด่นขึ้นมา คือการพิสูจน์ว่าพวกตนเป็นสถาบันทางการเมืองที่สามารถผลิตทรัพยากรบุคคลซึ่งมีคุณภาพได้อย่างไม่จำกัด

เมื่อแกนนำรุ่นแรกๆ ถูกตัดสิทธิ์พ้นจากสังเวียนการเมือง ก็มีนักการเมืองหน้าใหม่คนแล้วคนเล่าค่อยๆ แจ้งเกิดขึ้นมาทดแทน ผ่านเวทีอภิปรายในสภา ผ่านการมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ลึกซึ้งกว่านักการเมืองพรรคอื่น

แต่การเลือกโฟกัสเพียง “ธนาธร-ช่อ-ปิยบุตร” ก็ส่งผลให้คนทำหนังไม่ได้เข้าไปพูดคุย ทำความรู้จัก หรือกระทั่ง “มองเห็น” กลุ่มบุคลากรที่ต่อมาจะกลายเป็น “ผู้นำ-ตัวชูโรงแถวสอง” ในยุคก้าวไกล

อาทิ ศิริกัญญา ตันสกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์, เบญจา แสงจันทร์ และ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

ที่ต่างปรากฏตัวในหนังแบบผ่านๆ (หรือแทบไม่มีตัวตนในหนังเลยด้วยซ้ำ)

ข้อสังเกตสุดท้ายที่อยากฝากไว้ ก็คือ ระหว่างดูหนังและเมื่อดูหนังจบ ผมพบว่ามี “เรื่องใหญ่มาก” สองเรื่อง ซึ่ง “หายสาบสูญ” ไปจาก “Breaking the Cycle : อำนาจ ศรัทธา อนาคต” อย่างน่าประหลาดใจและชวนเอะใจ

เรื่องแรก คือ การเลี่ยงไม่พูดถึงกรณีการยุบพรรค “ไทยรักษาชาติ” แม้เพียงสักนิดเดียว เรื่องที่สอง คือ การหลบไม่กล่าวถึงจุดยืนท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ ในการพิจาณาให้ความเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ

ต้องยอมรับว่า การขาดหายไปของประเด็น “ไทยรักษาชาติ” ทำให้เรามองภาพความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงการเลือกตั้ง 2562 ได้ไม่ครบถ้วนทุกมิติ ทั้งยังเป็นการมองข้ามปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนส่งให้พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จเกินคาดในการเลือกตั้งคราวนั้น

ส่วนกรณี พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ก็เป็น “จุดแตกหักแรก” ที่ทำให้ ส.ส.บางส่วนของอนาคตใหม่ มีท่าทีอยาก “แยกทาง” จากพรรคด้วยเหตุผลในเชิงอุดมการณ์ และอาจเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ผลักดันให้ชนชั้นนำเกือบยกแผงฟันธงได้ง่ายขึ้นว่า ควรขจัดพรรคการเมืองนี้ออกจากสารบบ

ถ้ามองแบบเผินๆ หรือคิดแบบเร็วๆ ก็อดประเมินไม่ได้ว่าผู้กำกับฯ ทั้งสองราย เลือกจะตัดเนื้อหาสองส่วนนี้ออกไป ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความเซฟ” และการอยู่รอดปลอดภัยจากกระบวนการเซ็นเซอร์และตรวจพิจารณาภาพยนตร์

หากการขาดหายไปดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุผลข้อนี้จริง ก็นับว่าน่าเสียดาย เนื่องจากมีบางช่วงตอนของภาพยนตร์ ที่คนทำแสดงฝีมือให้คนดูรับรู้ว่า พวกเขามี “ความแยบคาย” ในการนำเสนอประเด็นแหลมคมทางการเมืองไทยได้อย่างเบามือพอสมควร

การไม่กล่าวถึงเรื่องไทยรักษาชาติและ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ จึงเป็นเหมือนการสูญหายไปของ “หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ” ในชีวิตทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่

อย่างไรก็ตาม พอมาคิดให้ถ้วนถี่ขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่า การเลือกตัดทอนประเด็นเหล่านี้ทิ้งไป คือการพยายามนำเสนอ “อุดมคติทางการเมือง” ของคนทำหนัง ซึ่งเป็นตัวแทนของพลเมืองวัย 20-30 ปี ในสังคมไทย

เพราะอุดมคติของผู้คนนั้นสามารถสะท้อนออกมาได้ ผ่านปฏิกิริยาอย่างน้อยๆ ก็สองแบบ

ปฏิกิริยาแรก คือ การแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังปรารถนาหรือใฝ่ฝันถึงอะไร

ปฏิกิริยาอีกชนิด คือ การแสดงนัยว่าพวกเขาปฏิเสธอะไร ด้วยการไม่อยากบอกเล่าหรือพูดถึงสิ่งนั้น •