ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
กลุ่มอำนาจส่งตัวแทนลงสนาม
เมื่อการรับสมัคร ส.ว.สิ้นสุดลงก็พอมองเห็นภาพชัดเจนว่ามีกลุ่มอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ทั้งเป็นพรรคการเมืองและไม่ใช่พรรคการเมือง
เพราะอำนาจของ ส.ว.ชุดใหม่มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนก็อยากมีส่วนอำนาจนั้นอย่างน้อยก็ไว้ปกป้องตัวเอง
พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็หวังว่าจะมีพรรคพวกเป็น ส.ว.เพื่อหนุนประสานเสียงในรัฐสภา ยิ่งพรรคที่มีเสียงน้อยกว่าก็ยิ่งอยากได้
โอกาสที่ 5 ปีมีครั้งเดียวจึงไม่มีใครละเว้นที่จะให้กำลังใจทั้งแบบธรรมดาและแบบพิเศษ ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็เช่นกันถ้าหวังว่าจะได้ ส.ว.เกิน 70 เพื่อให้มีเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาก็ต้องออกแรงหาคนมาสมัครและมาต่อสู้ และในเวลาเดียวกันก็ยังมีนักสู้อิสระที่อาจไม่มีสังกัดอะไรแต่อยากเป็น ส.ว. นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้สมัครที่ได้รับแรงหนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นแทบทุกจังหวัด โดยหวังว่าจะมีพวกและญาติเป็น ส.ว.ระดับประเทศ
การเลือก ส.ว.ครั้งนี้จึงเป็นศึกตะลุมบอน ที่มีความสับสนอย่างมาก เพราะในแต่ละท้องที่ต่อให้มีอุดมการณ์เดียวกันยังต้องแย่งกัน การใช้กลโกงจึงมากขึ้นตามที่เห็นจากข่าว แต่บางแห่งจำเป็นต้องจับมือแบบชั่วคราว เพื่อให้ผ่านเข้าไปเป็น ส.ว.ระดับจังหวัด บางคนก็ทำเพื่อให้ผ่านเข้าไปในระดับประเทศ
ทำไมจำนวนผู้สมัคร ส.ว.
จึงมีน้อยกว่าที่คาดไว้มาก
1.ความยุ่งยากในระบบเลือกตั้งที่เข้าใจก็ยากปฏิบัติก็ยาก
2. ต้องเสียเวลาหลายรอบตั้งแต่สมัครและไปเลือกอีกหลายรอบ
3. ต้องไปขวนขวายหาหลักฐานมาหลายอย่าง ทั้งยังจะต้องหาพยานมายืนยัน แถมบางคนยังจะต้องไปขายหุ้น ต้องไปลาออก ฯลฯ
4. ถ้าทำผิดพลาดก็มีบทลงโทษทั้งปรับทั้งจำ ถึงขนาดต้องฟ้องร้อง ให้แก้ไขระเบียบแนะนำตัว บางคนก็กลัวไปถึงเรื่องจะถูกเก็บภาษี
5. คนที่ตื่นตัวการเมืองมากเป็นคนหนุ่มสาว แต่พวกเขาอายุไม่ถึง 40 ปี ส่วนคนที่อายุ 40 กว่า เป็นระดับหัวหน้า ใครจะไปลาออก ดังนั้น คนสมัครส่วนใหญ่ก็คือเป็นผู้ที่เกษียณแล้ว
6. คนส่วนใหญ่ยากจน เป็นหนี้ สนใจเรื่องปากท้องตนเอง ไม่อยากจ่ายเงิน 2,500 บาท สมัครฟรี ยังไม่ยอมไป
ประกาศ กกต.
ทำให้คนไม่เข้าร่วม
และไม่อยากสมัคร
ก่อนกำหนดวันรับสมัคร 26 เมษายน 2567 กกต.แจ้งว่า กรณีมีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ/ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ สมัครเข้ารับการเลือก ส.ว. อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย (แต่…ตาม พ.ร.ป.ส.ว. มาตรา 77 การชักชวนให้ผู้อื่นมาสมัคร ส.ว. จะเป็นความผิดต่อเมื่อมีการจูงใจโดยให้ทรัพย์สิน หรือมีการหลอกลวง บังคับขู่เข็ญ ให้คนอื่นมาสมัคร ส.ว. การเชิญชวน ชักชวน โฆษณา หรือรณรงค์ไม่เป็นความผิด)
และเมื่อ กกต.โพสต์ภาพที่มีข้อความว่า “ไม่สามารถจูงใจหรือชี้ชวนให้บุคคลสมัครเป็น ส.ว.ได้” แถมประชาชนแชร์ต่อกันจำนวนมาก ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะทำงานรณรงค์ส่งต่อข้อมูลเชิญชวนให้คนอื่นมาสมัครเป็น ส.ว. และหลายคนก็ไม่กล้าสมัคร ส.ว. ยอดจากหลายแสนจึงเป็นแค่หลายหมื่น
แถมยังมีคนมีความผิดจากการที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่ง กกต.ถอนสิทธิ์ประมาณ 2,000 แต่ถ้าวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่าการไปลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแต่ผู้ที่ทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่าเขาเป็นสมาชิกพรรค เพราะถ้ารู้เขาก็คงไปลาออกโดยใช้เวลาไม่กี่นาที
ถามว่าทำไมไม่รู้ บางคนบอกว่าเคยเป็นสมาชิกบางพรรคแล้วก็ถูกยุบไปแล้วหรือเคยย้ายพรรคแล้วก็ไม่ได้สมัครอีก เวลาผ่านมาหลายปีแล้วไม่รู้ว่าชื่อถูกย้ายไปได้อย่างไร หรือชื่อยังคงอยู่ได้อย่างไรเพราะไม่ได้ต่ออายุสมาชิก ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถไปพิสูจน์ที่ทะเบียนของพรรคต่างๆ ได้
แต่ปัญหาก็คือคนเหล่านี้ก็ได้หมดสิทธิ์ในการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไปแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าสู้คดีแบบนี้ชนะเขาก็ยังรักษาความถูกต้องไม่ให้ตัวเองถูกลงโทษและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปหลายปีได้
อำเภอเล็ก ประชากรน้อย
กลุ่มอาชีพน้อย ผู้สมัครต้องย่อมน้อย
…แต่ถูกตัดสิทธิ์
ในอำเภอที่ยังไม่เจริญ กลุ่มอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะมีผู้สมัครไม่มาก หรือไม่มีผู้มาสมัครเลยจนเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่มีคู่แข่งเพราะสมัครคนเดียวในบางอาชีพหรือบางอำเภอก็มีผู้สมัครกลุ่มเดียว ทำให้ผู้สมัครต้องถูกตัดสิทธิ์ทิ้งไป โดยข้อหาว่าสมัครคนเดียวหรือกลุ่มเดียวทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกได้
ในข้อบังคับที่ 87 การเลือกตั้งกันเองระดับอำเภอในกลุ่มอาชีพเขียนไว้ว่า กรณีที่มีผู้สมัครไม่ถึง 5 คนก็ไม่จำเป็นต้องเลือกสามารถผ่านเข้ารอบไปได้เลย ถ้ากลุ่มอาชีพที่เขาสมัครมีไม่ถึง 1-3 คน พวกเขาควรจะได้ผ่านระดับอำเภอไปได้ แล้วก็ค่อยเข้าไปผ่านการคัดเลือกในระดับจังหวัด ถ้าอำเภอละ 1 คน 5 อำเภอก็ยังเข้าจังหวัดได้
และในข้อบังคับข้อ 140 ก็เขียนไว้ว่า ผู้ที่รับเลือกอันดับอำเภอรวมกันแล้วทุกอำเภอไม่เกิน 5 คนก็ไม่ต้องดำเนินการลงคะแนนให้ถือว่าได้รับเลือกขั้นต้น ดังนั้น จะมีโอกาสเข้าไปให้กลุ่มอื่นเลือกให้เหลือ 2 คน เป็นตัวแทนจังหวัด
ในอำเภอเล็กๆ ประชากรน้อย คนประกอบอาชีพต่างๆ ก็น้อย ผู้สมัครย่อมต้องน้อยอยู่แล้ว ยิ่งไปตัดสิทธิ์พวกเขาก็เท่ากับยิ่งลิดรอนสิทธิ์คนที่อยู่ในอำเภอเล็กที่ห่างไกล
การตัดสิทธิ์คนที่ไม่ได้ทำความผิดคงจะต้องมีการฟ้องร้องกันต่อไป
ไม่กำจัดพวกทุจริตปลอมตัวมาสมัคร
จะมีคดีเป็นร้อย
การที่มีคนแปลกปลอมแทรกเข้ามาในบางอาชีพที่คนสมัครน้อยและจังหวัดเล็ก เพื่อหวังว่าจะได้รับเลือกผ่านเข้าไปแบบสบายๆ โดยส่งมาสมัครอาชีพละ 2 หรือ 3 คน ใน 3-5 กลุ่มอาชีพ ทำแค่ 4-5 อำเภอ ถ้าไม่มีใครทักท้วงหรือร้องเรียนก็ไม่ถูกตัดสิทธิ์และจะลอยลำผ่านระดับอำเภอเข้าไป และจะผ่านทั้งการเลือกกันเองในระดับจังหวัด และการเลือกไขว้ก็มีกลุ่มแนวร่วมซึ่งเตรียมไว้แล้ว บางจังหวัดจะสามารถผ่านได้ถึง 5 กลุ่ม 10 คน
ถ้า กกต.ไม่ทำอะไรเลยกับกลุ่มที่แปลกปลอมเข้ามาในกลุ่มอาชีพที่ตัวเองไม่ได้เป็นจริง กกต.ทุกระดับก็จะต้องถูกกล่าวหาว่าละเลยหรือสมรู้ร่วมคิดทำให้เกิดการทุจริตในการเลือกตั้ง
เพราะความผิดในการปลอมตัวเข้ามาสมัครไม่ได้เป็นการทำผิดแบบไม่เจตนา
และความผิดอันนี้ได้ถูกกระทำและก่อเกิดผลเสียต่อการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องขึ้นมา ซึ่งอาจมีหลายร้อยคดี ต่อให้การเลือกตั้งยุติไปแล้วความผิดก็ยังไม่ได้ยุติตามไปด้วย
การฟ้องร้องยังสามารถดำเนินต่อไปได้ตลอดและหลักฐานก็ปรากฏชัดเจนว่าใครกี่คนที่ทำความผิดนั้นที่อำเภอไหนจังหวัดใดเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นใคร
แต่ผลเสียต่อการเลือกตั้งก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เลือกใหม่ไม่ได้ เพราะคนที่สมควรจะได้ตามกฎเกณฑ์ในระดับอำเภอและจังหวัดกลับถูกเปลี่ยนตัวไปโดยการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มคน
ทุกกลุ่มอำนาจต่างก็ต้องการให้พรรคพวกตัวเองได้เป็น ส.ว.มากที่สุด และยังหวังชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธาน ดังนั้น การเลือกครั้งนี้ ถ้ากรรมการจัดการไม่ดี จะมีปัญหาที่ไม่เพียงเกิดขึ้นระหว่างผู้สมัครอิสระกับ กกต. แต่มันจะขยายไปถึงคนที่ใช้อำนาจได้ และอาจฉวยโอกาสขจัดฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่ใช่พวกตัวเอง อาจลามไปถึงคนที่มีตำแหน่งปกครองในกระทรวงมหาดไทย ทั้งอำเภอและจังหวัด
งานยาก แต่ให้กำลังใจ กกต. โดยกำจัดจุดอ่อนกลโกงให้มากที่สุด และทำตามไทม์ไลน์ที่แจ้งไว้ อย่าไปหลงกลพวกถ่วงเวลา ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022