ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
โบราณคดีถูกใช้งานการเมืองชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติไทยและต้านคอมมิวนิสต์
ชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติ (1.) เปลี่ยนชื่อประเทศจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย (85 ปีที่แล้ว) พ.ศ.2482 (2.) เปลี่ยนประวัติศาสตร์สยามของคนหลายชาติพันธุ์ เป็นประวัติศาสตร์ไทยของคนพวกเดียวคือคนไทยแท้ เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์
เนื้อหาหลักมีว่าคนไทยแท้มีถิ่นกำเนิดในจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานจนต้องอพยพยกโขยงถอนรากถอนโคนลงมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทยปัจจุบัน แล้วตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก
ต้านคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีโครงการฟื้นฟูและบูรณะเมืองเก่าสุโขทัยเพื่อเป็นหลักฐานว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย ตามประวัติศาสตร์ไทยที่เพิ่งสร้าง
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือกรุงสุโขทัยถูกใช้ต้านคอมมิวนิสต์ ตามที่พบในงานค้นคว้าของ วริศรา ตั้งค้าวานิช จะคัดสาระสำคัญมาดังนี้
คณะรัฐมนตรีลงมติให้ปรับปรุงจังหวัดสุโขทัยเป็น “จังหวัดวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ” มีการจัดตั้งโครงการ จัดสรรงบประมาณ และตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองเก่าจังหวัดสุโขทัย
ต่อมาได้ตั้ง “คณะอนุกรรมการรวบรวมประวัติศาสตร์สุโขทัย “อีกคณะหนึ่งเพื่อจัดทำหนังสือคู่มือการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย มีพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) นักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทยเป็นประธานอนุกรรมการ
และมีอนุกรรมการอีก 6 ท่าน คือ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทวงศ์) ผู้ชำนาญการด้านโบราณคดีไทย และต่อมาเป็นคณบดีคนแรกของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่าง พ.ศ.2498-2504 นายธนิต อยู่โพธิ์ ต่อมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ใน พ.ศ.2500——-
ในเวลาต่อมาส่วนหนึ่งของบุคคลกลุ่มนี้ได้เป็นคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย มีส่วนสำคัญในการสร้างประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สุโขทัยฉบับทางการ
เวลานั้นเป็นระยะที่รัฐบาลไทยกำลังเฝ้าระวังภัยคอมมิวนิสต์ ในขั้นแรกคณะรัฐมนตรี มีมติมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมรับไปพิจารณาดำเนินการฟื้นฟูจังหวัดสุโขทัยเพื่อ “เตรียมไว้ต่อต้านวิธีดำเนินการจัดตั้งรัฐไทยอิสสระของฝ่ายคอมมิวนิสต์”
เมื่อเรื่องผ่านการพิจารณาแล้ว จุดมุ่งหมายการฟื้นฟูบูรณะสุโขทัยคือ การทำให้สุโขทัยเป็นที่ศึกษาทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ
นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลขณะนั้นคิดเอา “ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย” มาสู้กับคอมมิวนิสต์ เพื่อให้คนไทยได้สำนึกในความเป็นไทยที่ยังคงมีอิสระ กินดีอยู่ดี อยู่ในชาติที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมที่งดงาม ตรงข้ามกับพวกคอมมิวนิสต์ กล่าวได้ว่าเป็นการแยกแยะ “ความเป็นไทย” และ “ความเป็นคอมมิวนิสต์” ออกจากกัน
[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง ของ วริศรา ตั้งค้าวานิช สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2557 หน้า 184-185]

[ภาพถ่ายโดย ระบิล บุนนาค เมื่อ พ.ศ.2496 (ภาพจาก “สมุดภาพ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร” กรุงเทพฯ : มูลนิธิไทยวัฒนา ต.สุวรรณ, 2514 เผยแพร่ใน Facebook เพจ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพฯ)]
ฟื้นฟูและบูรณะเมืองสุโขทัย
สุโขทัยเป็นครั้งแรกมีโครงการฟื้นฟูและบูรณะให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ.2496 (71 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นช่วงเวลา หลัง 1 ปี มีการเรียนการสอนโบราณคดีในโรงเรียนศิลปศึกษา (กรมศิลปากร) พ.ศ.2495 และก่อน 2 ปี มีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (กรมศิลปากร) พ.ศ.2498
หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น เขียนเล่าไว้จะคัดย่อมาดังนี้
“บัดนี้กรุงสุโขทัยราชธานีของไทยเรา จะมีอายุครบ 700 ปี ประมาณในพุทธศักราช 2500 นี้แล้ว รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมี พณฯ ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นสมควรที่จะดำเนินการฟื้นฟูและบูรณะโบราณสถานเมืองสุโขทัยเก่า ให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อการศึกษาและเพื่อเชิดชูพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ที่ได้ทรงกอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราชสืบมาจนบัดนี้”
เพื่อดำเนินงานตามโครงการนี้ ในชั้นแรกต้องทำพิธีบวงสรวงและอัญเชิญดวงวิญญาณพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งกระทำบริเวณเนินปราสาท (หน้าวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย) วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2496
สิ่งสำคัญในพิธีนี้ คือ จารึกพระปรมาภิไธยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กับจารึกวันที่เริ่มทำการบูรณะกรุงสุโขทัย อันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ลงในแผ่นเงิน แล้วนำแผ่นเงินจารึกนี้บรรจุลงในผอบศิลา ประดิษฐานผอบศิลานี้เหนือพานทองแว่นฟ้า แล้วนำเข้าประดิษฐานในปราสาทขนาดย่อมอีกชั้นหนึ่ง
ปราสาทองค์นี้เป็นของเก่ามีอยู่ในกรมศิลปากรแล้ว รูปร่างเป็นอาคารแบบไทยทำด้วยไม้สัก และสลักลวดลายงดงาม ฝารอบปราสาทเป็นกระจกใสมองเห็นภายในได้ทุกด้าน
ส่วนผอบศิลานั้นทำเป็นรูปคล้ายโถ ขนาดโตเท่ากำมือ เป็นหินสีชมพูเหลือบสีขาว
ข้อความที่จารึกลงในแผ่นเงินนั้นมีดังนี้
หน้า 1 มีความว่า “ผอบศิลานี้เป็นที่สิงสถิตพระวิญญาณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เจ้าเหนือหัวแห่งกรุงสุโขทัยราชธานี”
หน้า 2 มีความว่า “รัฐบาลไทย โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีบัญชาตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะกรุงสุโขทัย ให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ลุ ณ วันที่ 23 สิงหาคม พุทธศักราช 2496 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง เวลา 9 นาฬิกา 30 นาที 57 วินาที จัดพิธีที่เนินปราสาทใกล้วัดมหาธาตุ บวงสรวงอัญเชิญพระวิญญาณพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มาคุ้มครองรักษาและดลบันดาลให้การบูรณะกรุงสุโขทัยสัมฤทธิ์ผลสมปรารถนา นับเป็นปฐมฤกษ์ในการลงมือบูรณะกรุงสุโขทัย”
ในพิธีนี้มีการปลูกปะรำจัดตั้งศาลเพียงตา ประดับด้วยราชวัตรฉัตรธง ตั้งเครื่องสังเวย และตั้งพระแท่นที่ประทับตามราชประเพณีนิยม
ส่วนทางพิธีสงฆ์ก็มีพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์
[จากภาคผนวกของหนังสือเรื่อง “ไทยในแหลมทอง” พิมพ์ในหนังสือ อนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนนินทุ) ป.ม.ท.ช. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2516 หน้า 121-128]
การฟื้นฟูและบูรณะเมืองสุโขทัย คือการแสดงหลักฐานโบราณคดีอย่างมีรูปธรรมเพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างตามบงการของชนชั้นนำว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
“ผู้ที่ควบคุมปัจจุบัน ย่อมบงการอดีตได้
ผู้ที่ควบคุมอดีตได้ ย่อมบงการอนาคตได้”
[จากวรรณกรรมโลกเรื่อง “1984” (หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่) ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (สำนักพิมพ์สมมติ พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2557)] •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022