ผ่าวิบากกรรม ‘รถยนต์ไฟฟ้าจีน’ ‘มะกัน-อียู’ เตะสกัด-ไฮบริดขายแซง

สันติ จิรพรพนิต

กลายเป็นประเด็นร้อนทิ้งท้ายเดือนพฤษภาคม กับข่าวการตั้งกำแพงภาษีอย่างโหดของสหรัฐอเมริกา กับรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี จากประเทศจีน

ตามมาด้วยสหภาพยุโรป หรืออียู มีท่าทีจะเพิ่มกำแพงภาษีจากเดิมคาดว่าตั้งไว้ 30% เป็น 50-55%

แม้จีนยังไม่ได้มีแผนตอบโต้อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าศึกครั้งนี้น่าจะลากยาวพอสมควร

สำหรับในไทยเอง หล่ายฝ่ายก็กังวลว่ารถยนต์อีวีจากจีน จะยิ่งทะลักเข้ามามากขึ้น

จากเดิมก็ถือว่าเข้ามานับสิบๆ ยี่ห้อแล้ว

แถมยังตั้งราคาได้น่าสนใจ จนทำให้ค่ายรถญี่ปุนในไทยต้องกัดฟันหั่นราคาตาม

รวมถึงจัดโปรโมชั่นเดือดๆ เพื่อครองส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้

รายงานจากสหรัฐและยุโรป มองตรงกันว่าจีนอาจเบนเข็มหาตลาดอื่นทดแทน ซึ่งจะทำให้อีวีจีนจะทะลักเข้ามาอาเซียนมากกว่าเดิม

เพราะถ้าเทียบผลกระทบทางอ้อมของการขึ้นภาษีอีวีจีนของสหรัฐกับยุโรปที่มีต่ออาเซียน

ผลกระทบจากกรณีของยุโรปจะมากกว่า

เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน

ในปี 2023 รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน ทั้งแบรนด์จีนและแบรนด์ต่างชาติ ส่งเข้าไปในยุโรปเป็นมูลค่า 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ครองส่วนแบ่งตลาด 37% ของรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าทั้งหมดในยุโรป

และครองส่วนแบ่ง 19% ของตลาดรถยนต์รวมในยุโรป

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เมื่ออีวีจีนเข้าไปทำตลาดในอียูไม่ได้ ต้องระบายสต๊อกเข้ามาในอาเซียนและประเทศไทย

ทำให้มีโอกาสที่อีวีจีนจะเข้ามาถล่มราคาในไทยอีกระลอก

อาจเห็นการปรับลดราคาลงอีกคันละ 1-2 แสนบาท เหมือนที่เคยมีการดัมพ์ราคากันมาแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ยังดึงญี่ปุ่นที่ขายรถกลุ่มไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และสันดาปภายใต หรือไอซีอี เข้าร่วมทำสงครามราคาด้วย

ถ้าเป็นแบบนี้จะกระทบตลาดรถยนต์ทั้งระบบ

แต่ในทางกลับกันผู้บริโภคก็ยิ้มแป้น โดยเฉพาะคนที่กำลังเล็งรถใหม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่ลบอยู่บ้าง เพราะหากเป็นคนที่มีรถอยู่แล้ว และต้องการปลี่ยนใหม่

การเทิร์นหรือขายรถเก่าราคาจะตกหนักพอสมควร ด้วยความที่รถใหม่ และรถไฟฟ้ามีราคาถูกลง ทำให้ไปกดราคารถมือสอง

เห็นได้จากบรรดาเต็นท์รถมือสอง หรือกระทั่งบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อย่าง “CARS 24” ก็แทบไปไม่รอด

 

ขณะที่ตลาดรถกำลังเดือดเลือดพล่าน ประจวบเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจไทย และทั่วโลกอยู่ในภาวะทรงๆ ทรุดๆ

พลอยทำให้ยอดขายรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกออกมาไม่สวยหรู

ตัวเลขการผลิตภาพรวมเดือนเมษายน อยู่ที่ 104,667 คัน ลดลง 11.02% เป็นยอดขายในประเทศ 46,738 คัน ลดลง 21.49%

หากแยกเฉพาะรถยนต์นั่ง กลุ่มที่ซัดกับรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง เดือนมกราคม-เมษายน 2567 ผลิต 193,239 คัน ลดลง 12.11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียด พบจุดที่น่าสนใจคือพบการหดตัวของกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า เป็นครั้งแรกๆ นับตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย

สวนทางกับกลุ่มรถพลังงานทางเลือก ทั้งไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด

เพราะกลุ่มนี้กลับเติบโตขึ้นอย่างมาก

โดยเฉพาะเดือนเมษายน สถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง กลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด แซง EV เป็นเท่าตัว

ตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบก มีรถยนต์นั่งจดทะเบียนจำนวน 39,697 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคมปีเดียวกันเกือบ 20%

แบ่งเป็นรถอีวี 4,009 คัน, รถไฮบริด 10,353 คัน ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 639 คัน และรถใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ 24,696 คัน

กลุ่มรถไฮบริดและปลั๊ก-อิน ไฮบริด ได้รับความนิยมมากกว่ารถอีวี กว่าเท่าตัว

เป็นไปตามเทรนด์ของตลาดโลก ที่ความนิยมของรถอีวีเริ่มลดลง

 

มีหลายปัจจัยที่ทำให้โลกและคนไทยเริ่มสนใจรถไฮบริด มากกว่ารถอีวี

หนึ่ง มาจากความไม่สะดวกในการเติมพลังงาน

เพราะแม้สถานีชาร์จจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังน้อยกว่าปั๊มน้ำมัน

ทำให้เวลาเดินทางต่างจังหวัด รถอีวีต้องวางแผนมากกว่ารถไฮบริด

ในเมืองไทยยิ่งหนักกับการที่ผู้ใช้รถจำนวนหนึ่ง ยังไม่มีมารยาททั้งการจอดชาร์จ หรือจอดแช่ จนทำให้เกิดปัญหาเนืองๆ

รถไฮบริด โดยเฉพาะปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ สามารถวิ่งไฟฟ้าล้วนได้ไกลขึ้น บางรุ่นทำได้สูงสุด 80-100 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง

ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานประจำวัน ทำให้รถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ประหยัดไม่ต่างจากรถอีวี

 

ส่วนรถไฮบริดที่แม้จะใช้ค่าพลังงานสูงกว่า แต่ก็ไม่ได้มากเท่ารถสันดาปภายใน

เมื่อเทียบความสะดวกสบายในการเติมพลังงาน รถไฮบริดยังได้เปรียบกว่า

นอกจากนี้ บรรดาค่ายรถญี่ปุ่นเจ้าตลาดรถนั่ง ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า ก็ออกรถพลังงานทางเลือกมาจำนวนมาก

แถมราคาถือว่าจับต้องได้ง่ายขึ้น

หลายๆ ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายสาเหตุ อาทิ ราคาขายต่อรถอีวี จะตกหนักกว่ารถพลังงานอื่นๆ

ต้องตามดูกันยาวๆ ว่าค่ายรถจากจีนที่ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของโลก

จะแก้สถานการณ์ความนิยมที่ลดลง และปัญหากำแพงภาษีจากสหรัฐและยุโรปอย่างไร •