ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (111) “อุตุโลก” ฉายภาพปี 2560

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม

เริ่มศักราชใหม่ 2561 แค่ไม่กี่วัน ทั้งโลกเริ่มต้นเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่แปรปรวน อย่างในบ้านเราช่วงเวลาเพียงอาทิตย์เดียว เหมือนมี 3 ฤดู ทั้งร้อนวาบ ฝนเทกระหน่ำเกือบทั้งคืน แล้วจู่ๆ อุณหภูมิลดกะทันหัน อากาศเย็นวูบตั้งตัวกันไม่ติด

ประเทศเพื่อนบ้านก็เจอความหนาวเย็นเข้าครอบคลุมเหมือนๆ กัน

กรุงฮานอย อุณหภูมิลดเหลือ 8 องศาเซลเซียส ทำสถิติต่ำที่สุดของเมืองหลวงเวียดนาม

ที่กรุงพนมเปญ อากาศเย็นไม่น้อยหน้า บรรดาชาวเขมรตื่นเต้นพากันสวมใส่ชุดกันหนาวหลากสีสัน

นายราจิบ ราซัก นายกฯ มาเลเซีย เพิ่งกลับมาจากการเยือนซาอุดีอาระเบียได้สัมผัสอากาศเย็นๆ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รู้สึกตื่นเต้นจนทนไม่ไหวหยิบมือถือมาทวีตบอกชาวเมืองว่าอากาศเย็นอย่างนี้เหมือนยังอยู่เมืองเจดดาห์

ที่ฟิลิปปินส์ ผู้คนสัมผัสกับอากาศเย็นๆ เช่นกันซึ่งคาดว่ามาจากปรากฏการณ์ “เอลนิโญ-ลานิญา” ผนวกกับมวลความเย็นจากขั้วโลกเหนือที่เรียกว่า “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” ทำให้อุณหภูมิทางเหนือของเมืองบาเกียว ลดลงเหลือ 12.2 ํc

ส่วนเมียนมานั้น รัฐฉาน อากาศเย็นจัดจนน้ำเกาะตัวเป็นแผ่นน้ำแข็ง บางพื้นที่ เช่น แถบภูเขาของรัฐคะฉิ่น มีรายงานว่าอุณหภูมิลดลงจนมีหิมะตกปกคลุมไปทั่ว

ปกติแล้ว เมียนมาจะมีฝนตกหนักในเดือนธันวาคมและมกราคม เนื่องจากเป็นเขตอิทธิพลของพายุไซโคลนจากทะเลอันดามัน แต่มาปีนี้กลับมีฝนเพียงประปรายในบางพื้นที่

ที่บังกลาเทศ อากาศเย็นที่สุดในรอบ 50 ปี บางแห่งทำลายสถิติเย็นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ อุณหภูมิลดลงเหลือแค่ 2.6 ํc

สำหรับจีนและอินเดีย อากาศเย็นสุดๆ มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วต่อเนื่องถึงมกราคมปีนี้ นักอุตุนิยมวิทยาบอกว่าเป็นช่วงฤดูหนาวของจริง

ข้ามไปฝั่งญี่ปุ่น มีปรากฏการณ์แตกต่างกันให้เห็น ทางเหนือบนเกาะฮอกไกโด เจอกับพายุหิมะถล่มหนักหน่วง ต่างกับกรุงโตเกียว อุณหภูมิ 17-18 ํc ผู้คนรู้สึกเหมือนอยู่ในห้วงฤดูใบไม้ผลิ ทั้งที่ระยะทางทั้งสองจุดห่างกันราว 800 กิโลเมตร

ที่สหรัฐอเมริกา ชาวเมืองแคลิฟอร์เนียใต้เจอฝนถล่ม กระแสน้ำชะดินโคลนทะลักท่วมบ้านเรือนพังพินาศ ผู้คนเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 18 คน แต่ฝั่งตะวันออกอีกด้านของประเทศ กลับมีทั้งพายุหิมะและอุณหภูมิติดลบ

นี่เป็นภาพรวมของความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ อันเป็นการเริ่มต้นของศักราชใหม่ ปีจอ

 

แต่ถ้าหากย้อนกลับไปดูภาพรวมสภาพภูมิอากาศโลกปี 2560 ต้องไปอ่านรายงาน “WMO Provisional Statement on the State of the Global Climate 2017” ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาเรียบเรียงเอาไว้ ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ

ในรายงานชิ้นดังกล่าว เกริ่นว่า

“ปี 2560 แม้มีอากาศเย็นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็น 1 ใน 3 ของปีที่ร้อนที่สุดที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ โดยปีนี้มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย ได้แก่ พิบัติภัยจากพายุเฮอริเคนและอุทกภัย คลื่นความร้อนและภัยแล้ง”

ตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยาว เช่น การเพิ่มขึ้นของปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล รวมถึงภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทรที่ยังคงไม่ลดลง อีกทั้งพื้นที่ทะเลน้ำแข็งในแถบอาร์กติกยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ส่วนการขยายพื้นที่ทะเลน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกที่เปลี่ยนแปลงคงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในรอบหลายปีเริ่มลดลง

ปี 2560 ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศอาร์เจนตินา ทางภาคตะวันตกของจีน และบางพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ

ปริมาณฝนในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติในบราซิล และค่อนข้างใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าปกติทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้และอเมริกากลางซึ่งช่วยบรรเทาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนิโญในปี 2558-2559

ช่วงฤดูฝนปี 2560 มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในหลายพื้นที่ของเขตซาเฮล (Sahel) ซึ่งเป็นเขตรอยต่อบริเวณกึ่งทะเลทราย บริเวณทะเลทรายสะฮารา แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นเหนือและใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนทะเลแดง มีน้ำท่วมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศไนเจอร์

ปริมาณฝนของประเทศอินเดียในช่วงฤดูมรสุม (เดือนมิถุนายนถึงกันยายน) มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและประเทศที่อยู่ใกล้เคียงมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติจนเกิดน้ำท่วมใหญ่

ส่วนที่ราบแพร์รี ทางภาคกลางของแคนาดาและประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงโซมาเลีย มองโกเลีย กาบอง และทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้ บริเวณเหล่านี้มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะอิตาลีปริมาณฝนในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนแห้งแล้งที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

 

รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนของปี 2560 มีค่าประมาณ 14.31 ํc สูงกว่าค่าปกติ (ค่าเฉลี่ยปี 2524-2553) ประมาณ 0.47 ? 0.08 c และสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 c

ทางตอนใต้ของยุโรปรวมทั้งอิตาลี แอฟริกาเหนือ บางส่วนของทางด้านตะวันออกและทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ประเทศรัสเซียทางฝั่งเอเชียมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ รวมถึงจีนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติชัดเจน

พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาและทางตะวันตกของแคนาดามีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ

อุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2559 และปี 2558 ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังแรง

สำหรับปี 2560 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โดยปราศจากอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนิโญ

ค่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2556-2560 มีค่าสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.4 ํc และสูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมประมาณ 1.03 ํc และมีแนวโน้มที่จะเป็นค่าที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

สัปดาห์หน้าขอต่อด้วยรายงานของอุตุนิยมวิทยาโลกอีกตอน