ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนาแห่งเมืองสุพรรณ ทำนายอนาคตข้าวไทยว่า ถ้าวันนี้ชาวนาไทยยังใช้วิธีการปลูกข้าวใช้ต้นทุนสูง ใส่ปุ๋ยเคมีเยอะ ฉีดยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืชฟุ้งกระจาย ชาวนาจะสูญพันธุ์ ที่นาโดนยึด ลูกหลานหนีหมด ความมั่นคงทางอาหารจะไม่มี วัฒนธรรมข้าวก็สูญไปด้วย
ทางออกของ “ข้าวไทย” ในมุมของปราชญ์ชาวนาคือการปลูกข้าวถูกวิธีและต้องถูกวิธีทั้งทางโลกทางธรรม
ทางโลก คือต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เสี่ยงต่อความเสียหาย ดูแลรักษาคุณภาพ ไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ชาวนามีรายได้พอเพียงกับค่าครองชีพ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น
ส่วนทางธรรม คือทำนาแบบไม่โลภ ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายผู้บริโภค ไม่เอาของปนเปื้อนพิษให้คนอื่นกินและไม่ทำบาป
วิธีคิดการปลูกข้าวของคุณเดชา จะกำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ปัจจัย ถ้าขายได้ถูกกว่าต้นทุนก็ขาดทุน
ชาวนากำหนดราคาข้าวเองไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ต้นทุนกำหนดได้
เมื่อกำหนดต้นทุนได้ ราคาข้าวดี ชาวนาก็ดีตาม แต่ถ้าปัจจัยข้างนอกไม่ดี ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาก็ยังอยู่รอดเพราะต้นทุนต่ำ
ฉะนั้น ถ้าไม่ลดต้นทุน รอให้ราคาข้าวแพงอย่างเดียว ก็ไม่รู้เมื่อไหร่ และถ้าข้าวแพง แต่เกิดโรคระบาด ผลผลิตตกต่ำ ชาวนาจะเจอ 2 เด้ง เจ๊งเลย
มูลนิธิขวัญข้าวที่คุณเดชาก่อตั้งเกือบ 30 ปีแล้ว จึงมุ่งเน้นวิธีการเพาะปลูกข้าวไม่ใช้เคมี
ผลผลิตของชาวนาที่ผ่านการอบรมจากมูลนิธิ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศ และแมลง
ปัจจัยธรรมชาติดังกล่าวนั้น ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่าการปลูกข้าวด้วยการใช้สารเคมีเพราะต้นทุนต่ำกว่า 2-3 เท่า
ต้นทุนในการปลูกข้าวปลอดสารพิษ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท หรือ 2,000 บาทต่อตัน หมายถึงทำนาได้ข้าวเปลือก 1,000 กิโลกรัม มีต้นทุนอยู่ที่ 2,000 บาท
แต่ชาวนาที่พึ่งพาปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช จะมีต้นทุนอย่างน้อย 6 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 6,000 บาทต่อตัน
ต้นทุนเฉพาะปุ๋ยเคมี ต่อการปลูกข้าว 1 ฤดูทำนา ต้องใช้ปุ๋ย 2-3 รอบ ครั้งละ 25 กิโลกรัม หรือครึ่งกระสอบต่อพื้นที่นา 1 ไร่ ปัจจุบันปุ๋ยยูเรียกระสอบละ 850 บาท
ต้นทุนค่าปุ๋ยยูเรีย ตกอยู่ที่ 850-1,200 บาทต่อไร่
ใน 1 ฤดูทำนา ชาวนาฉีดสารเคมีทั้งคุมหญ้า ฆ่าหญ้า ป้องกันแมลง ฆ่าแมลงและฮอร์โมนบำรุงพืช อย่างน้อย 2-3 ครั้ง
ถ้าไม่มีโรคระบาดอย่างเพลี้ยกระโดด เชื้อราไวรัส หรือภัยแล้ง ฝนตกน้ำท่วม ชาวนาที่ปลูกข้าวพึ่งพาสารพิษ ปุ๋ยเคมี ยังพอมีกำไรจากการขายข้าวเปลือกได้บ้าง แต่ถ้าเจอโรคระบาดและภัยพิบัติซ้ำเติม ชาวนาจะขาดทุนทันที
นั่นหมายถึงฤดูทำนาครั้งต่อไป ชาวนาต้องกู้หนี้ยืมสินจากนายทุน หรือแบงก์ ธ.ก.ส. เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว จ้างแรงงาน ซื้อปุ๋ย และยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง
“คุณชัยพร พรหมพันธุ์” 1 ในลูกศิษย์ “โรงเรียนชาวนา” ของมูลนิธิขวัญข้าว เรียนรู้วิธีปลูกข้าวปลอดสารพิษมาตั้งแต่ปี 2532 ยึดหลักความเป็นธรรมชาติ มีที่นา 25 ไร่ วันนี้คุณชัยพรมีที่นา 120 ไร่ เป็นชาวนาเงินล้าน ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538
ทําไมคุณชัยพรจึงประสบความสำเร็จในการปลูกข้าว?
ก็เพราะเปลี่ยนแนวคิดจากการใช้สารเคมี เปลี่ยนเป็นวิถีธรรมชาติ
เมื่อปี 2521 คุณชัยพรนำที่ดิน 25 ไร่มาปลูกข้าว ใช้สารเคมีเหมือนชาวนาคนอื่นๆ ปรากฏว่ารายได้แทบไม่พอใช้ ทำ 25 ไร่ เหลือกำไรแค่ไร่ละ 500 บาท บางปี 1,000 บาท ต้องไปทำงานอื่นเสริม
คุณชัยพรบอกว่าได้ที่ดินมาแต่ไม่เคยทำนา ไปเรียนการใช้สารเคมี ตอนนั้นเกษตรกรตำบล เกษตรกรอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จัดอบรมการใช้สารเคมี
“ผมเรียนเรื่องการใช้สารเคมีจนได้ที่ 1 ของอำเภอ แต่ทำไปไม่เหลืออะไรเลย เงินที่หามาได้เสียไปกับค่าใช้จ่าย ปลูกข้าวด้วยการใช้สารเคมี 6 ปี จนกระทั่งไปพบอาจารย์เดชา (ศิริภัทร) แนะนำให้ใช้สมุนไพรควบคุมแมลง ทำในแปลงทดลอง 6 ไร่ ลดค่าใช้จ่ายได้มากเพราะไม่ต้องซื้อยาฆ่าแมลง” คุณชัยพรให้สัมภาษณ์กับสื่อ
สมุนไพรที่ใช้ในที่นาของคุณชัยพร มีสะเดา 7 กิโลกรัม ตะไคร้หอม 2 กิโลกรัม ข่าแก่ เถามะระ สาบเสือ เอามาตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 25 ลิตร 1 คืน แล้วกลั่นมาเหลือ 23 ลิตร เอาไปฉีดนาข้าวได้ 1 ไร่
นาของคุณชัยพรงอกงามได้ผลผลิตดี มีผลกำไรสูง นำไปลงทุนซื้อที่ดินเพิ่มและส่งลูกเรียนจนจบปริญญาทั้ง 3 คน
ที่นาที่มีอยู่นั้น คุณชัยพรทำเองทั้งหมดตั้งแต่หว่าน ไถ และเก็บเกี่ยว
ฟางข้าวไม่เผาเพราะหลังไถนาแล้วน้ำท่วม ฟางที่ไถกลบก็กลายเป็นปุ๋ย ตะกอนที่มากับน้ำหลากก็ได้อีก เมื่อถึงเวลาหว่านข้าวก็งาม ถ้าอยากเพิ่มก็เติมปุ๋ยหมักที่หมักเอาไว้
การไถกลบของนาข้าวคุณชัยพร ทำให้ดินดี ไม่เผาฟางข้าว ไม่เกิดมลพิษ
คุณชัยพรบอกว่า ถ้าเผาฟางข้าวทำให้ดินแข็ง เหมือนเผาอิฐ จุลินทรีย์ตายหมด ข้าวจะไม่งามต้องอัดปุ๋ยเคมีเพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก
นาข้าวปลอดสารเคมีของคุณชัยพร ใช้ทุนเพียงไร่ละ 2,500 บาท ต่างกับนาข้าวเปื้อนเคมีที่ใช้ทุน 6,700 บาทต่อไร่ สูงเกือบ 3 เท่าตัว
แต่ละปี คุณชัยพรมีรายได้จากการปลูกข้าวด้วยวิถีธรรมชาติ 1.5 ล้านบาท
ชาวนาที่ปลูกข้าวด้วยวิถีธรรมชาติอย่างคุณชัยพร ยังมีน้อยมากทั้งที่เป็นทางรอดเพราะต้นทุนต่ำและแข่งขันกับต่างประเทศได้
ในมุมมองของคุณเดชาชี้ว่า สาเหตุชาวนาไทยไม่ปลูกข้าวเหมือนที่คุณชัยพรทำเพราะต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา ชาวนาส่วนใหญ่ทำใจไม่ได้นอนไม่หลับ ชาวนาส่วนใหญ่เชื่อโฆษณาที่ป้อนข้อมูลอยู่ตลอด
โฆษณาขายปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงมีทุกวัน โฆษณาทั้งวันทั้งคืน คุณเดชาบอกว่าเป็นการล้างสมองชาวนาไทย
ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนา ก็ควรห้ามโฆษณา เพราะถ้ายังปล่อยให้ชาวนาถูกล้างสมองไปเรื่อยๆ ชาวนาจะถึงกาลล่มสลาย
คุณเดชาเคยเสนอให้รัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาแก้ปัญหาชาวนาไทยอย่างเป็นระบบด้วยการทำวิจัยพันธุ์ข้าวมีผลผลิตสูงไม่ต้องใช้สารเคมี เสนอออกกฎหมายห้ามขายปุ๋ย ให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยและตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์
แต่รัฐบาลในอดีตไม่รับข้อเสนอของคุณเดชาสะท้อนถึงความไม่จริงจังในการแก้ปัญหาชาวนา
คุณเดชายกตัวอย่าง งานวิจัยเปรียบเทียบการทำนาที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนวิจัยเมื่อปี 2548 ปรากฏว่า รัฐบาลไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวนั้นเป็นกระบวนการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของชาวนาอย่างง่ายๆ เพียงนำชาวนามาทดลองปลูกข้าวเปรียบเทียบระหว่างการใช้สารเคมีกับใช้วัตถุอินทรีย์ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติ
ชาวนาเรียนรู้เองด้วยการเก็บตัวเลขเปรียบเทียบทำให้รู้จริง กระบวนการนี้ต้องใช้คน ใช้เวลา ใช้งบประมาณ แต่รัฐบาลไม่สนใจ ไม่ลงทุนเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน
เมื่อรัฐบาลไม่ใส่ใจกับการผลักดันชาวนาเปลี่ยนวิธีคิดให้เดินตามวิถีธรรมชาติ คุณเดชาหันไปผลักดันแนวคิดการรณรงค์เลิกใช้ปุ๋ยเคมี เลิกใช้ยาฆ่าแมลง เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า
แนวคิดนี้เหมือนกับการรณรงค์เลิกบุหรี่ ซึ่งรัฐบาลให้ทุนสนับสนุนการประชาสัมพันธ์เลิกบุหรี่และขึ้นภาษีบุหรี่
“วิธีการรณรงค์บุหรี่เป็นอย่างไร ก็รณรงค์เลิกใช้ปุ๋ยเลิกใช้สารเคมีอย่างไรอย่างนั้นเลย” คุณเดชาเสนอแนวคิด
ในอดีตมีค่านิยมผิดๆ ว่าสูบบุหรี่แล้วเท่และโก้ ใครไม่สูบบุหรี่จะกลายเป็นแกะดำ ค่านิยมตอนนั้นทำให้ไปที่ไหนก็เจอคนสูบบุหรี่ ที่ไหนก็สูบบุหรี่ได้ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามสูบบุหรี่ พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปครึ่งหนึ่งเลย และเมื่อเก็บภาษีบุหรี่ให้แพงขึ้น และห้ามสูบที่นั่นที่นี่ ยิ่งทำให้สถานการณ์การเลิกสูบบุหรี่ดีขึ้น
กรณีปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าก็ควรทำในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้โฆษณาปุ๋ยยายิ่งกว่าที่ไหนในโลก มีการแข่งขันส่งเสริมการขายสูงมาก ใครได้ยอดขายสูงก็ไปทัวร์เมืองนอก
ในอดีตนั้น ประเทศไทยเคยเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ในอัตราภาษีอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ประกาศยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า อ้างเหตุผลว่าเพื่อลดต้นทุนเกษตรกร
ผลการยกเลิกจัดเก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงยาหญ้าทำให้อุตสาหกรรมเกษตรเปื้อนพิษฟูเฟื่อง
มาในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มีคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ คุณเดชาพยายามผลักดันให้จัดเก็บภาษีปุ๋ยยาฆ่าแมลง และตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
วันนี้การเมืองวนกลับมามีรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยของคุณทักษิณเป็นแกนนำ ขอถามว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ สนใจแนวคิดของคุณเดชาที่มุ่งหวังให้ชาวนาไทยรวยขึ้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมั้ยครับ? •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022