‘ก้าวไกล-พิธา’ พุ่งแรง โพลพระปกเกล้า เดิมพันเลือกตั้งปี 2570 เป้าเกิน 250 ที่นั่ง ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ วิ่งสู้ฟัด

เขย่าสถานการณ์การเมืองให้ชวนมองถึงวันข้างหน้าอย่างไม่อาจละสายตา สำหรับผลโพลจาก “สถาบันพระปกเกล้า” ที่เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566

ซึ่งผลที่ออกมาพรรคก้าวไกลยังคงผงาดยืนหนึ่ง กวาดเรียบคะแนนนิยมทั้งคนและพรรค ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังสุ่มเสี่ยงจะถูกยุบพรรคในอนาคตอันใกล้นี้

โดยผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ถามว่า “ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต”

ปรากฏว่า ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 18.1 และภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2 ขณะที่มีผู้ตอบระบุว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ รวมกันอีกร้อยละ 10.2

“แล้วในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด” ผู้ตอบร้อยละ 44.9 เลือกพรรคก้าวไกล รองลงมาเป็นเพื่อไทย ร้อยละ 20.2, รวมไทยสร้างชาติ ได้ร้อยละ 10.9, ภูมิใจไทย ร้อยละ 3.5, พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3

ที่น่าสนใจคือมีผู้ตอบว่าจะลงคะแนนให้พรรคอื่นๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ รวมกันถึงร้อยละ 12.6

 

นอกจากนี้ โพลยังนำผลการสำรวจมาเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง 2566 ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรคคือ พรรคก้าวไกลและประชาชาติ

โดยก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9.67 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง

ขณะที่เพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนลดลงร้อยละ 7 และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไปราว 28 ที่นั่ง ด้านพลังประชารัฐลดลงร้อยละ 3.41 มีโอกาสเสีย 11 ที่นั่ง, ภูมิใจไทยลดลงร้อยละ 2.64 มีโอกาสเสีย 10 ที่นั่ง และประชาธิปัตย์คะแนนนิยมลดลงร้อยละ 1.13 มีโอกาสเสีย 3 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม รวมไทยสร้างชาติที่คะแนนนิยมลดลงร้อยละ 0.47 และชาติไทยพัฒนาที่ลดลงร้อยละ 0.02 ยังไม่มากพอจะทำให้ทั้งสองพรรคมีที่นั่งลดลง

 

ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า ก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 8.33 ส่งผลให้พรรคมีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 8 ที่นั่ง

ขณะที่เพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนลดลง คิดเป็นร้อยละ 7.49 มีผลให้พรรคมีโอกาสได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อน้อยลง 8 ที่นั่ง

ซึ่งเมื่อนำตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้จากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกันพบว่า หากมีการเลือกตั้งในช่วงเวลานี้ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด รวม 208 ที่นั่ง รองลงมาคือเพื่อไทย 105 ที่นั่ง, ภูมิใจไทย 61 ที่นั่ง, รวมไทยสร้างชาติ 34 ที่นั่ง, พลังประชารัฐ 30 ที่นั่ง, ประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง, ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง และประชาชาติ 9 ที่นั่ง ตามลำดับ

นอกจากกระแสพรรค โพลยังถามว่าอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผลส่วนใหญ่ระบุอยากให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ถึงร้อยละ 46.9 รองลงมาคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 17.7, “แพทองธาร ชินวัตร” ร้อยละ 10.5, “เศรษฐา ทวีสิน” ร้อยละ 8.7

ระบุชื่อคนอื่นรวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมอีกร้อยละ 10.9 ซึ่งมากกว่าคะแนนของแพทองธารและเศรษฐาอย่างเห็นได้ชัด

 

สอดคล้องกับผลจาก “นิด้าโพล” ก่อนหน้านี้ ที่เปิดเผยผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567 พบว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่งที่ประชาชนจะสนับสนุนเป็นนายกฯ ด้วยคะแนนสูงถึงร้อยละ 42.75 ส่วนเศรษฐาจากพรรคเพื่อไทยได้อันดับสาม และแพทองธารได้อันดับสี่

ส่วนคะแนนด้านความนิยมของพรรคการเมือง ก้าวไกลก็ยังคงครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนนร้อยละ 48.45 ในขณะที่เพื่อไทยได้ร้อยละ 22.10 เท่านั้น

เห็นได้ชัดว่าพรรคก้าวไกลแม้จะอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน แต่กลับได้รับความนิยมมากขึ้นจากทั้งสองโพลที่ออกมาในระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน สวนทางกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลในตอนนี้ แต่คะแนนความนิยมกลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

จากกระแสโพลของพระปกเกล้าที่ออกมา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้กับสื่อพร้อมระบุว่า อย่างไรก็ตาม ก้าวไกลต้องได้เกิน 250 เสียง ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่มีอะไรมาขัดขวางได้อีก

“ขอบคุณพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขอบคุณทุกคนที่ให้ความไว้วางใจต่อเพื่อนของตนที่อยู่ในพรรคก้าวไกล ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเพื่อนของตนในพรรคก้าวไกลจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ตนหวังว่าเพื่อนของตนในพรรคก้าวไกลจะทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ประเทศไทยกลับมามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อีกครั้ง ถึงแม้ผลออกมาจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จะเพียงพอหมายถึง 250 เสียง เหลือเวลาอีก 3 ปี พรรคก้าวไกลต้องทำงานหนักกว่านี้

เราต้องการข้ามเส้น 250 ให้ได้ ถ้าทำได้ในปี 2570 ทศวรรษ 2570 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง เหลืออีก 3 ปีทำงานหนัก วันนี้มาไกลกว่าที่พวกเราคิดในวันที่ตั้งอนาคตใหม่แล้ว แต่ยังไม่พอ เรามีเวลาอีก 3 ปี เพื่อไปถึงจุดนั้น ขอส่งข้อความไปถึงพรรคพวกที่อยู่ในพรรคก้าวไกล 3 ปีนี้ ใช้ทุกวันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ใช้ทุกวันเพื่อทำให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจ ความแน่วแน่ของเราที่อยากพาประเทศไทยไปข้างหน้าให้เยอะที่สุด เพื่อวันที่เลือกตั้งมาถึง เราจะได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ นำนโยบายของพวกเราไปทำให้เป็นจริง” ธนาธรกล่าว

ฝั่งพรรคเพื่อไทย ทันทีที่ผลโพลออกมาว่ากระแสความนิยมของก้าวไกลมาแรงแซงเพื่อไทยไปหลายโค้ง ก็มีสื่อไปถามความเห็นคนในพรรค อย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่กล่าวว่าโพลเป็นการรวบรวมความคิดและการแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องที่น่าอุทธรณ์ แต่ถ้าฟังข้อมูลจากผู้จัดทำโพลดังกล่าว ระบุแล้วว่าไม่ได้มีนัยสำคัญทางการเมืองอะไร และเป็นช่วงที่รัฐบาลได้เริ่มทำงานแล้ว ขอให้ติดตามดูต่อไป คิดว่าอย่าใส่ใจเรื่องนี้ ขอทำงานดีกว่า

รวมถึง “อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” ที่ยอมรับผลสำรวจของสำนักโพลแต่ละสำนัก และแสดงความมั่นใจว่าผลโพลที่ออกมาจะไม่บั่นทอนเพื่อไทย ที่บอกว่าพรรคใดจะมีคะแนนนำนั้นอาจมีหลายปัจจัย แต่ต้องยอมรับว่าพรรคที่คะแนนนำนั้น ยังไม่เคยได้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อยังไม่เห็นฝีมือก็อาจจะคาดหวังว่าหากได้เข้าไปทำจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำก็ยากลำบาก แต่ในความยากลำบากก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะท้อถอยหรือเสียสมาธิ เชื่อว่าหากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตสามารถประสบความสำเร็จได้ เชื่อว่าคะแนนนิยมของเพื่อไทยจะดีขึ้นแน่นอน

ความนิยมของก้าวไกลผ่านโพลทั้งสอง สร้างแรงสั่นสะเทือนถึง “ทักษิณ ชินวัตร” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อเป็นเช่นนี้นายใหญ่จึงไม่หยุดนิ่งเดินสายเรียกคืนความนิยมทั่วประเทศพร้อมเดินเกมเรียกคืนบ้านใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่เคยพาพรรคไปถึงชัยชนะในสนามเลือกตั้งปี 2548 แต่ทว่า สถานการณ์บ้านใหญ่ในปัจจุบันกำลังขาลง สวนทางกับ “กระแสนิยม” พรรคส้มที่ดีวันดีคืน

ครั้งนี้จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับกลยุทธ์ที่ทักษิณเลือกใช้ สนามเลือกตั้งใหญ่ 2570 เพื่อไทยอาจต้องเหนื่อยจนหืดขึ้นคออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หากกระแสนิยมยังคงดิ่งลงเรื่อยๆ อย่างที่เผชิญอยู่ในตอนนี้

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024