รายงานพิเศษ : 68 ปีของ “วิริน ลิ้มตั้ง” เจอ “ทหาร” มาตลอด แล้วสังคมไทยต้องไปทางไหน

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน

เส้นทางของชีวิตแต่ละคน มีเรื่องหลากหลายมากมาย ซึ่งสัมพันธ์และเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ จนกลายเป็นความทรงจำ เป็นบันทึกที่ทำให้เป็นตัวเราในทุกวันนี้

เช่นเดียวกับ “วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์” หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์วิโรจน์” ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษาและภูมิปัญญาของจีน และอดีตผู้ร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในช่วงเป็นนักศึกษาจนถูกจองจำและได้รับอภัยโทษ

อ.วิโรจน์ผ่านเรื่องราวมาถึง 68 ปี นับตั้งแต่ลืมตาดูโลก บอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านสายตาของเขา

และเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าคือ “เรื่องราวของฉัน”

 

อ.วิโรจน์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต อันเป็นส่วนหนึ่งของปาฐกถา “จะไปมาทางไหน” เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 106 ปี ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีไลน์เป็นของตัวเอง ยอมรับว่าใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไม่เป็น ด้วยสาเหตุเพราะการใช้โซเชียลนั้น ข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่ได้สอนให้คิด มีข้อมูลแต่ไม่มีข้อคิด ไม่เคยมี ไม่ต้องใช้ข้อมูล แต่รู้จักคิด เห็นอะไร ฟังอะไรมาก็เอามาคิด

แต่พอมีไลน์ ข้อมูลถาโถมเยอะจนรำคาญ ข้อมูลถูกยัดเข้ามาจนไม่มีเวลาคิด ชีวิตตลอด 68 ปี มีเวลาคิดสบายๆ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ข้อมูลเข้าใส่หัวทุกวัน มีอะไรเวลาคิด สังคมไทยจึงเหลือความเชื่อดั้งเดิมเท่านั้น

แต่เมื่อตั้งชื่อไลน์ ก็ใช้ชื่อว่า “วิริน ลิ้มตั้ง” มันมายังไง “วิริน” คือตัวเอง ย้อนกลับไปตอนออกจากคุก หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เรียนจบ ได้ปริญญาเกียรตินิยม คำถามผุดขึ้นมาว่า “แล้วชีวิตจะไปทางไหนต่อ?” เมื่อไปไม่ถูกก็เลยไปร้องเพลง แต่งเป็นหญิงสวย ซึ่งแต่งตัวแบบนั้นจะใช้ “วิโรจน์” ไม่ได้ เลยใช้ชื่อ “วิริน” ส่วน “ลิ้ม” คือแซ่ของอาม่า (ยาย) และ “ตั้ง” คือแซ่ของมาม่า (แม่)

เมื่อรวมกัน มันคือคน 3 รุ่น นี่แหละตัวเราว่าไปมายังไง

อ.วิโรจน์กล่าวว่า ตอนที่เกิด ที่บ้านมี 4 รุ่นเลย มีเหล่าม่า (ย่าทวด), ยาย, แม่ และตัวเอง สมมติว่าชั่วคนหนึ่ง จะซอยแบ่งช่วงละ 20 ปี ถ้าบวกรวมกันสี่รุ่น ก็จะเท่ากับอายุ 128 ปี และนี่คือครอบครัวของฉัน

แล้ว 128 ปี มันเกิดอะไรขึ้นมากมายในโลกใบนี้

ยกตัวอย่าง ใน พ.ศ.2454 หรือ ค.ศ.1911 ช่วงรัชกาลที่ 6 ที่จีนเกิดการปฏิวัติซิงไห่ โค่นล้มราชวงศ์ชิง คุณทวดทันเหตุการณ์นี้ แต่เหล่าม่าและอาม่าอ่านหนังสือไม่ออก ไม่สามารถบอกได้ว่า ดร.ซุนยัตเซนก่อการยังไง แต่ที่บ้านจะมีธนบัตรที่มีลายภาพ ดร.ซุนเยอะมาก

พอคุณยายย้ายมาไทย คุณยายกับคุณแม่ผ่านเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ตอนนั้นแม่เรียนที่จุฬาฯ แต่พอกองทัพญี่ปุ่นบุกไทย แม่ก็ไม่ได้เรียน จนไปมีครอบครัวและกำเนิดอาจารย์วิโรจน์ขึ้นมา

ตอนที่เกิดก็เจอ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เลย ต่อด้วย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตอนนั้นเริ่มรับรู้ เช่น เมียเยอะมาก ฉายาจอมพลผ้าขาวม้าแดง และปลิดชีพด้วยมาตรา 17 เรียกว่าตั้งแต่เกิดมาก็อยู่กับทหาร

แล้วมาเจอ 3 ทรราช (ถนอม-ประภาส-ณรงค์) แล้วเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทหารหายไปแป๊บเดียว ก็กลับมาเจอ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่สั่งปล่อยจากคุก

หลังจากนั้นเจอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เจอทหารมาตลอด

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พ้นชื่อทหาร

ดังนั้น 68 ปีในช่วงชีวิตของฉันมีแต่ทหารตลอด ก็แอบคิดว่าตอนตายคนพาขึ้นเมรุก็คงใส่เครื่องแบบทหารแน่ นี่คือประเทศไทย นี่คือโชคชะตาของฉันหรือเปล่า นี่คือเรื่องราวตลอด 128 ปีของครอบครัวของฉัน

ทุกวันนี้ แม้ตัวเองไม่มีลูก แต่ขอถามทุกคนที่มีลูกหลานว่า ต่อจากนี้พวกเขาจะไปทางไหน บอกได้ว่าไม่รู้

 

อ.วิโรจน์กล่าวว่า สังคมไทยฟังคำสั่งมานาน ฟังจนคิดไม่เป็น เอะอะอยู่กับแนวคิดเดิม ไม่มีอะไรต่อจากนี้ เวลาเด็กไปประชุมต่างประเทศ เวลาจะแสดงความเห็น ก็จะนึกแต่ว่า ความเชื่อเดิมของไทยสอนอะไรให้ฉัน มันสะท้อนให้เห็นว่าเราอยู่กันแบบนี้มานานมาก การเปลี่ยนยุคจึงเป็นการเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนวิธีคิด

ตลอดเวลา 128 ปี เรามีระบบคิดเยอะมาก เช่น กรณีจีน จากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่สาธารณัฐ แล้วมาเป็นยุคพรรคคอมมิวนิสต์ แนวคิดก็เปลี่ยนตาม

สิ่งนี้ล้วนมีที่มาที่ไป มันเป็นสิ่งที่น่าจะตายไปแล้ว ชื่อเป็นของตาย แต่กลับมีชีวิตและเกิดใหม่ ยุคนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ยุคนี้เป็นอีกอย่าง สิ่งนี้มีอารมณ์ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็น “ประวัติศาสตร์” มันคือการรู้เรื่องราวของสิ่งที่ตายไปแล้ว แต่มันไม่ตาย มันจะก่อเกิดอีก เพราะสิ่งที่ตายจะผลักสิ่งที่อยู่เดินหน้าต่อ แต่สังคมไทยแปลกที่หลายเรื่องถูกทำให้หายไป ไม่ว่าด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม

เด็กรุ่นหลังมาถาม อ.วิโรจน์ว่า 14 ตุลา 16 คืออะไร? 6 ตุลา 19 คืออะไร? พฤษภาทมิฬคืออะไร? ก็เล่าด้วยความรู้สึกที่ผ่านยุคทหารมาหลายปีว่า เป็นสิ่งบริสุทธิ์มาก แต่ทำไมกลายเป็นสิ่งที่คนไม่กล้าพูดเต็มปาก ไม่อยากจะพูด หรือถูกสั่งไม่ให้พูด ทั้งที่สิ่งที่บริสุทธิ์นี้ มันออกมาเองราวกับลาวาที่พวยพุ่งหรือสึนามิ ไม่มีใครไปกระทุ้ง เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา แต่มันเกิดขึ้นมาจริงๆ

เมื่อเรามีสภา มีการเลือกตั้ง เราจะไปทางไหนต่อ? หลัง 14 ตุลา 16 ได้เกิดคำถามนี้ ในขณะที่เรายังเด็ก มี 2 แนวคิดเกิดขึ้น ทางหนึ่งไปเสรีประชาธิปไตย อีกทางหนึ่งคือคอมมิวนิสต์แบบเหมา ตอนนั้นยังไม่เคยเห็นเมืองจีน แต่ข่าวดีๆ มาเยอะมาก

มาอีกด้านคือความจริง เห็นกับตาจากสงครามเวียดนาม เรามีฐานทัพสหรัฐในไทย มีอาบอบนวด ไว้รองรับเศรษฐกิจใหม่ที่สหรัฐเข้ามา

ถามว่า เด็กยุคนั้นจะเลือกอะไร? ยิ่งกระแสโลกตอนนั้นอย่างคอมมูนปารีส ลัทธิอินเตอร์นาซิอง ทำให้มีช่วงหนึ่งที่ประกาศตัวเองว่าเป็นคอมมิวนิสต์

แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ มา 20 ปีและคิดมาตลอดว่าสิ่งที่ทำนั้นมันคืออะไร? กว่าจะเดินกลับเข้าร่วมกลุ่มโดมรวมใจ และวันนั้นเป็นวันแรกที่ประกาศว่าตัวเอง “เคย” เป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อก่อนรักและเชื่อมาก แต่ตอนไปเรียนที่ปักกิ่ง ก็ต้องตกใจ เสียแรงที่ไปติดคุกเพราะเชื่ออย่างนั้น

ถึงตรงนี้ ต่อให้คอมมิวนิสต์ได้ตายจากไทย แต่หัวใจยังคงต้องดูแลกรรมกร ชาวนา ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

 

นอกจากนี้ อ.วิโรจน์ยังกล่าวถึงเส้นทางต่อจากนี้ว่า ประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลา 19 คนไทยเลือกแล้วว่าจะไปทางไหน และหันกลับไปไม่ได้ จะร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็ตาม ใครอยู่ในอำนาจก็ตาม มันถูกกำหนดแล้วว่าต้องเลือกตั้ง ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์กล้าพูดไหมว่าจะไม่เลือกตั้ง ไทยมีทางเดียวคือเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป อันนั้นไม่รู้ แม้หลังๆ มีความคิดว่าจะเอาการปกครองแบบจีนยุคใหม่ปกครอง เพราะบริหารพรรคเดียวแต่เศรษฐกิจเจริญ จนจีนสามารถประกาศความยิ่งใหญ่ในกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งปี 2008 มันทำให้เกิดคำถามว่า ประชาธิปไตยยังใช้ได้หรือไม่ คิดว่าบางทีก็ไม่เวิร์กเพราะสหรัฐเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมา

ที่สุดแล้ว โลกใบนี้ไม่มีการปกครองใดดีที่สุด แค่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้แต่จีนเองหลังการผงาดในยุคใหม่ ก็เริ่มมีเสียงดังแล้วว่าเศรษฐกิจจีนจะลงอย่างนุ่มนวลหรือหนักหน่วง หากพูดตามหลักฮวงจุ้ย โลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ 9 ในปี พ.ศ.2565 ตะวันออกที่เคยเติบโตหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ก็จะย้ายไปสู่ยุโรป

ส่วนเมืองไทยยังไงเสีย ก็ต้องมุ่งไปทางเดียว เป็นมายังไง บ้านตัวเองเป็นมาแล้ว และต่อไปนี้ลูกหลานจะเป็นไปยังไง ก็ต้องไปทางนี้ แม้แต่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องผลักให้เกิดเลือกตั้ง เพราะไม่กล้าขวาง ไม่กล้ายกเลิก และสังคมไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เคยไปพูดให้ข้าราชการฟัง บอกสิ่งที่เราดูแลผู้สูงวัยอยู่เป็นแบบสงเคราะห์ จะต้องยกระดับให้เป็น “สิทธิ” และมันต้องไปควบคู่กับประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์จะต้องไปข้างหน้าเสมอ แม้บางครั้งอาจมีไหลย้อนแต่ก็ไปต่อ ใครที่ขัดขวางก็จะถูกประวัติศาสตร์ทับตาย