ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
“สนุกมากนักหรือ? จับเด็กเข้าคุกนี่ สนุกมากนักหรือ? ที่เห็นเด็กถูกทรมานไม่ได้รับการประกัน ถามตัวเองเสียมั่ง สนุกอย่างไร? ทำได้อย่างไร? ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ?
“ทีโกงกินก็ไม่อาย ไม่มีหิริโอตตัปปะ แต่จับเด็กเข้าคุกเป็นว่าเล่น ผมไม่ได้บอกว่าเด็กทำถูกทุกอย่าง เหมือนอย่างเรามีลูก ลูกไม่ดี ครอบครัวผมไม่มีการตี ก็เรียกมาสั่งสอนทำโทษ ให้อยู่ในห้อง 24 ชั่วโมงอะไรแบบนั้น
“แต่เราจับเด็กเข้าคุกนะ ถ้าเผื่อสังคมมาถึงจุดที่ว่าการให้เด็กเข้าคุกเป็นของสนุก เป็นของที่เป็นธรรม มันจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้อย่างไร?
“แล้วถ้าสังคมที่ไม่ยอมรับความเห็นแตกต่าง ผมก็ไม่ได้บอกว่าความเห็นแตกต่างจะต้องถูก แต่อย่างน้อย สิทธิเสรีภาพในการออกความเห็น มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เหมือนกับสิทธิที่ต้องมีการดูแลเรื่องการศึกษา สิทธิของการได้มาซึ่งการรักษาพยาบาล อันนี้เป็นสิทธิมนุษยชน”
ข้างต้นคือเนื้อหาบางส่วนจากปาฐกาของอดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์ ปันยารชุน” ในงานเสวนา “ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีสื่อหลายสำนักนำไปเสนอข่าวและขยายความกันอย่างคึกคัก
เนื้อหาจากปาฐกถาสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลของอดีตผู้นำประเทศและพลเมืองอาวุโส อันมีต่อประเด็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎรในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
การออกมาแสดงทัศนะ-จุดยืนล่าสุดของ “นายกฯ อานันท์” ถูกจัดวางอยู่ในบริบทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
กล่าวคือ ปาฐกถานี้เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยกรมราชทัณฑ์ของ “บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม” และเกิดก่อนปรากฏการณ์ที่ศาลเริ่มกลับมาให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดี 112 จำนวนหนึ่ง
สถานการณ์ทั้งสามระลอกที่เกี่ยวเนื่องกันนี้ ล้วนบ่งชี้ว่ากฎกติกาหลายอย่างในบ้านเมืองกำลังรวนเร-หลงทาง และจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องพยายามแสวงหาวิถีทางจัดการกับปัญหาบางเรื่องให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
ตัดภาพมาวันที่ 29 พฤษภาคม อัยการสูงสุดก็เพิ่งสั่งฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ด้านหนึ่ง นี่จะกลายเป็น “ชนักติดหลัง” ที่ทำให้อดีตนายกฯ ผู้เพิ่งจะเดินทางกลับเมืองไทยได้ไม่นาน ต้องเคลื่อนไหว-ทำงาน-ตัดสินใจทางการเมือง อย่างรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น และ “กระตือรือร้นไฟแรง” ไม่ได้เหมือนเดิม
ทั้งยังส่งผลทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทยดูจะมีความสั่นคลอน-ไม่มั่นคง หลังจากนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ก็เพิ่งติด “บ่วงศาลรัฐธรรมนูญ” ไปหมาดๆ
อีกด้าน ภาระหนักอึ้ง-ร้อนระอุไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันจะไปตกอยู่บนบ่าของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับคดีความของ “นายกฯ ทักษิณ” อย่างไร?
หากอดีตนายกฯ ได้รับการประกันตัวโดยรวดเร็ว คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องถูกนำไปเทียบเคียงกับกรณีของเยาวชนผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งถูกอัยการยื่นฟ้องในคดี ม.112 แล้วต้องโดนจำกัดอิสรภาพในเรือนจำเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน
เมื่อนั้นวิกฤตศรัทธาทางการเมือง ก็มีแนวโน้มจะอุบัติขึ้นเป็นวงกว้างอีกหน และยังบ่งชี้ว่าวิถีทางที่ดำเนินมานับจากการเลือกตั้งปี 2566 อาจไม่ได้เดินมา “ถูกทาง” เสียทีเดียว •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022