ศัลยา ประชาชาติ : คนดังตบเท้า ชิงเก้าอี้ “กสทช.” ขุมทรัพย์ความถี่ (หลาย) แสนล้าน

คึกคักอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการสรรหา “กสทช.” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชุดใหม่

หลังจากเปิดรับสมัครไปเมื่อ 8-14 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา มีบรรดาคนดังในแวดวงราชการและธุรกิจตบเท้าเข้ายื่นใบสมัครคับคั่ง ตามความเชี่ยวชาญที่เปิดรับสมัครรวม 7 ด้าน ได้แก่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ

เบ็ดเสร็จแล้วมีผู้สมัครทั้งหมด 86 คน

ไล่ไปตั้งแต่ระดับอดีตปลัดกระทรวงต่างๆ และบิ๊กองค์กรเอกชน อาทิ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวง และประธานบอร์ดของหลายองค์กร, นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อสมท, นายสรจักร เกษมสุวรรณ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.การบินไทย, นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง, นายปรีย์มน ปิ่นสกุล อดีตผู้บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค), นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และอดีตรองผู้บริหาร บมจ.ไทยคม, นางทรงพร โกมลสุรเดช อดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, นายประพันธ์ คูณมี

แม้แต่ 3 รองเลขาธิการ กสทช. ก็ยื่นใบสมัครในครั้งนี้ด้วย เหลือแค่รองเลขาธิการ กสทช. เพียง 1 คนเท่านั้นที่ไม่ยื่นใบสมัคร

ที่พึ่บพั่บตามคาดคือ มีถึง 24 ผู้สมัครที่มียศ “ทหาร-ตำรวจ” อาทิ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน, พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการผลักดันกฎหมายขึ้นทะเบียนสื่อ รวมทั้งยังเป็นคณะทำงานของอดีตประธาน กสทช. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี, พล.อ.ศักดา แสงสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย, พล.ท.มณฑล ปราการสมุทร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร

และอีกมากมาย

 

โดยกระบวนการนับจากนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา กสทช. จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร 15 วัน ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าสู่รอบแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าคณะกรรมการสรรหาในวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อที่คณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกให้เหลือผู้สมควรได้รับการคัดเลือกด้านละ 2 คน ก่อนเสนอรายชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงคะแนนเลือกกรรมการ กสทช. 7 คน จาก 7 ด้านความเชี่ยวชาญ

สำหรับสาขาความเชี่ยวชาญที่มีการแข่งขันสูงสุดคือ กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ที่มีผู้สมัครด้านละ 18 คน รองลงไปคือด้านกิจการโทรคมนาคม มีผู้สมัคร 12 คน ด้านวิศวกรรม 11 คน ส่วนเศรษฐศาสตร์ กิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง มีผู้สมัครด้านละ 9 คน

เมื่อเปิดดูทั้ง พ.ร.บ.กสทช. กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงรายงานประจำปีขององค์กรนี้ ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมถึงมีผู้อยากเข้าชิงชัยเป็น 1 ใน 7 กสทช. กันแบบมืดฟ้ามัวดิน

เพราะพิสูจน์แล้วว่า คณะกรรมการ กสทช. นั้นมีบทบาทสูง มีเพาเวอร์กว้างขวางครอบคลุมการกำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์และโทรคมนาคม ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมระดับแสนล้านแล้ว

 

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา บอร์ดชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลง ได้เปิดประมูลคลื่น 3G-4G ได้เงินเข้ารัฐไปแล้ว 293,559 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีการเปิดประมูลช่องทีวีดิจิตอลอีก 50,862 ล้านบาท แม้ยังต้องลุ้นว่าจะจ่ายครบทุกงวดหรือไม่ รวมถึงการประมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภท “เบอร์สวย” อีก 4 ครั้ง 253.65 ล้านบาท เท่ากับปั้นยอดรายได้เข้ากระทรวงการคลังแล้วเฉียดๆ 3 แสนล้านบาท

ขณะที่ “รายได้” ของ กสทช. เฉพาะที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และอื่นๆ ไม่เกี่ยวกับการประมูลคลื่นหรือเบอร์สวย ที่มีสิทธิ์บริหารจัดการเองจะอยู่ที่ปีละ 11,000 ล้านบาท โดยสำนักงาน กสทช. สามารถตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เอง แต่ต้องเสนอให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบ

นอกจากนี้ ประธาน กสทช. ยังเป็นประธาน “กองทุน กทปส.” หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่มียอดคงเหลือ ณ สิ้นปี 2560 ราว 38,000 ล้านบาทด้วย

ที่สำคัญคือ ผลตอบแทนของกรรมการ กสทช. แต่ละปี อยู่ที่ 3.2 ล้านบาท หากนั่งเป็นประธานบอร์ดจะขยับไปอยู่ที่ 4.03 ล้านบาท ไม่รวมค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ และอื่นๆ

เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่มีรายได้ “อู้ฟู่” ไม่น้อย

 

แม้ว่าภารกิจ “กสทช.” จะมี “เผือกร้อน” ที่รอให้สะสางไม่น้อย อย่างการจัดประมูลคลื่นภายใต้สัมปทาน “ดีแทค” ที่มีเสียงบ่นอุบว่า ใช้ราคาคลื่นที่แพงที่สุดในโลกมาเป็นราคาเริ่มต้นประมูล ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้ทันการสิ้นสุดของสัมปทาน ในวันที่ 30 กันยายน 2561

เพราะหากปล่อยเข้าสู่กระบวนการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทานก็จะซ้ำรอย “สัมปทานทรูมูฟ-ดิจิตอลโฟน” ที่หมดสัมปทานไปตั้งแต่ปี 2556 แต่จนป่านนี้รัฐก็ยังไม่ได้รับเงินรายได้ในส่วนนี้

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ระบุว่า ความท้าทายของบอร์ดชุดใหม่ อยู่ที่การสะสางปัญหา ทั้งการพยุงช่องทีวีดิจิตอลให้อยู่รอด และจ่ายเงินรัฐได้ครบ การกำกับดูแลสื่อใหม่อย่างการบรอดแคสต์ผ่านอินเตอร์เน็ต (OTT) การเรียกคืนความถี่เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมีทั้งการเรียกคืนคลื่นก่อนกำหนดอย่าง 2600 MHz ในมือ บมจ.อสมท คลื่น 700 MHz ที่มาจากการยุติทีวีอนาล็อกในปี 2563 หลังสัมปทานสุดท้ายสิ้นสุด หรือคลื่น 50-54 MHz ที่ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) กำหนดให้เป็นคลื่นวิทยุสมัครเล่นของทั่วโลก

เผือกร้อนอีกเรื่องหนึ่งคือการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อกับ “วิทยุชุมชน” และการเปลี่ยนผ่านสู่ “วิทยุดิจิตอล” หากกำหนดแนวทางไม่ดี อาจเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่รออยู่

ระหว่างความอู้ฟู่ และเผือกร้อน ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า เก้าอี้ “กสทช.” ช่างยั่วยวนใจ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีผู้สมัครบิ๊กเนมแห่ลงชิงชัยมากถึง 86 คนเป็นแน่