ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ด้วยวิถีของอาชีพและงาน ทำให้ผมมีโอกาสไป “สัมผัส” ยอดดอยสูง แห่งทิวเขาต่างๆ ที่อยู่ในเขตประเทศไทยมาแล้วเกือบทุกดอย
ว่าตามจริงในครั้งที่ไปแรกๆ ความหมายของการไปก็คือคำว่า “พิชิต” นั่นแหละ
แม้แต่ยอดดอยสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง โลว์พีก แห่งเทือกเขาคินาบาลู ในรัฐซาบาห์ ซึ่งสูงถึง 4,101 เมตรนั่น ผมก็พิชิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1990
ผมเริ่มต้นตามหากวางผาที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ที่แยกออกมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ตั้งแต่ยังไม่มีเส้นทางรถถึงตีนดอย ไต่ไปตามสันดอยผ้าห่มปก ตั้งแต่ครั้งดูนกใหม่ๆ
ดอยอินทนนท์ ที่นี่คล้ายเป็นตำราดูนกเล่มพิเศษ
และแน่นอนผมย่อมไม่พลาดการเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวที่ร่ำลือถึงความงดงาม ยืนถ่ายรูปบนจุดสูงสุด ด้วยมาดของ “ผู้พิชิต”
ผมมุ่งมั่นกับการไต่ขึ้นยอดดอย จนบางครั้งก็ประหลาดใจว่า ถึงยอดแล้ว
มุ่งมั่นเพียงแค่ยอดดอย กระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ระหว่างทางผ่านอะไรมาบ้าง
ยืนมองความงดงามจากยอดดอย ผมไม่ได้คิดว่าผมพลาดอะไรไปบ้าง
ผมไม่หยุดที่ตีนดอยเพื่อดูนกหลากชนิด ไม่สนใจกับดอกไม้หลายชนิดที่หลบอยู่ตามซอกหิน
รีบเร่งขึ้นยอด พร้อมกับภูมิใจในความ “เก่ง” ของตัวเอง
เมื่อยืนอยู่บนยอด สิ่งเดียวที่ผมรู้สึกคือ เบื้องหน้าที่มองเห็นลิบๆ คือดอยที่สูง และงดงามกว่า
มองไปเบื้องล่าง นึกถึงเส้นทางอันยากลำบาก ไม่ง่ายนักจะขึ้นมาถึงยอด ดูเหมือนว่า ใจที่มุ่งมั่นจะพิชิต คล้ายเป็นพลังอย่างหนึ่งซึ่งช่วยให้ความยากลำบากหายไป
เพียงแต่ความอยากพิชิต ทำให้ผมพลาดหลายสิ่งหลายอย่าง “พลาด” โดยไม่รู้ตัวว่าพลาด
บนยอดเขา ในความรู้สึกของผม มุมมองจากยอดเขาไม่แตกต่างกันสักเท่าใด
ทิวเขาซับซ้อนลดหลั่น แนวป่าทึบ ทะเลหมอกหนา ท้องฟ้าเปล่งสีแสงสวยงามในช่วงเช้าและเย็น
ความรู้สึกบนยอดดอยไม่แตกต่าง นั่นทำให้ผมเริ่มสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวในระหว่างทาง
ผมพบว่า บริเวณป่าดิบเขาตีนดอยคือที่วิเศษสำหรับดูนกหลากชนิด ดอกไม้เล็กๆ เมื่อเห็นรายละเอียดนั่น เป็นความงดงาม เฝ้ามองการทำงานของแมลง ดูดอกไม้ที่ใช้เทคนิคในการล่อหลอกเหล่าแมลงมาทำงานให้
ตั้งแต่นั้น มันทำให้การเดินขึ้นยอดดอยของผมมีความหมายมากขึ้น
ทำให้รู้ว่า บางเส้นทาง ความน่าสนใจอยู่ระหว่างทาง บนยอดเป็นแค่ลานหินโล่งๆ
เวลา และชีวิตต่างๆ สอนให้ผมได้เรียนรู้
ทำให้ผมเข้าใจกับคำกล่าวของคนเดินทาง ที่เดินมาล่วงหน้าเนิ่นนานแล้วว่า “บนหนทางเดิน ระหว่างทางสำคัญ จุดหมายเป็นเพียงผลพลอยได้”
ไม่ต่างจากเหล่าสัตว์ป่า ทั้งสัตว์กินพืช และสัตว์ผู้ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช
การได้กินของพวกมันเป็นแค่ผลพลอยได้
ที่จริง นี่ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อน หรือลึกซึ้งอะไร มันเป็นความจริงง่ายๆ ที่หลายคนอาจหลงลืม
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมปีนขึ้นดอยสูง คือการตามหาสัตว์ป่า
เดินทางรอนแรมตามป่าเขา นับเป็นประสบการณ์ที่ดี ได้รับผลสำเร็จ แต่ไม่ใช่กับรูปถ่ายสัตว์ป่าหายาก
เป็นผลสำเร็จ อันทำให้ผมรู้จักตัวเอง รับรู้ว่า ต้องเปิดใจรับเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่สัตว์ป่าซึ่งเปรียบเสมือนครู ผลัดเปลี่ยนเข้ามาสอน
พบกับความจริงว่า บนดอยสูง ใต้ผืนฟ้ากว้าง ผมไร้ตัวตนเพียงไร
บางที ความรู้สึกนี้ อาจใกล้เคียงกับคำว่า พิชิต
สิ่งที่ “พิชิต” ได้นั้น ไม่ใช่ยอดดอยสูง •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022