เบื้องลึก ‘นาจา : ‘เทพอินเดีย’ ที่กลายเป็นเทพจีนยอดนิยม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ถามกันเล่นๆ ว่าเทพจีนซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดองค์หนึ่ง ย่อมต้องมี “นาจา” (Nazha) ติดอันดับอย่างแน่นอน ผมคุยกับมิตรสหายฝั่งภูเก็ตว่า นอกจากนาจาจะเป็นที่รู้จักแก่นอกคนวงการพระจีนแล้วนั้น ก็อาจนับว่าเป็นเทพที่นิยม “เข้าทรง” มากที่สุดองค์หนึ่งอีกด้วย โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือเด็กๆ

เรียกว่ามีคนเข้าทรงนาจาน่าจะนับร้อยๆ ในประเทศนี้ก็ว่าได้

อันที่จริงคนทางบ้านผมไม่ได้เรียกเทพองค์นี้ว่านาจาอย่างที่เขานิยมเรียกกัน แต่เรียกด้วยสำเนียงฮกเกี้ยนว่า “โลเฉี้ย” มากกว่า หรือเรียกกันลำลองว่า โลเฉี้ยไท่จู้ (ไท้จู้-ราชกุมาร) โลเฉี้ยก๊อง ฯลฯ

หากถามว่า ทำไมนาจาจึงเป็นที่นิยมมาก

ผมเห็นว่าเพราะไปปรากฏในตำนานหลายเรื่อง ที่ดังมากคือห้องสิน (ฮองสีน) หรือ “ปกรณัมสถาปนาเทพ” และเรื่องไซอิ๋วหรือการเดินทางสู่ตะวันตกนั่นเอง ทั้งมีบุคคลิกที่คนนิยม เป็นวัยรุ่นเลือดร้อนแต่น่ารัก มีฝีมือทางต่อยตี ออกแนวพระเอกนักบู๊ จึงถูกผลิตซ้ำในสื่อหลากหลายรวมไปถึงการ์ตูนและแอนิเมชั่น เด็กๆ ชอบ วัยรุ่นชอบ

ดังนั้น ตำนานนาจาจึงมักว่าไปตามหนังสือห้องสิน เช่น เกิดมามีสามพี่น้องจึงมีอีกชื่อว่า ซำไท่จู้ (ตติยราชกุมาร) มีบิดาเป็นเทพถือเจดีย์ (ลี่เที้ยนอ๋อง) มีอาวุธเป็นหอกและวงล้อ ออกไปสังหารราชบุตรมังกรจนเกิดเหตุวุ่นวาย รับร่างใหม่ที่สร้างจากดอกบัวจึงมีอีกชื่อว่า “เหลียนฮั้วไท่จู้” (ปทุมราชกุมาร) เป็นต้น

ด้วยเป็นที่รู้จักมากนี่เอง บ้านเราจึงมีศาลเจ้านาจาที่ใหญ่โตมาก หลายครอบครัวก็นิยมนำเทวรูป (กิมซี้น-สุวรรณกาย) มากราบไหว้กันโดยทั่วไป จนแทบกลายเป็น “ลัทธิพิธี” อย่างหนึ่ง

 

อันที่จริงนาจา (ผมขอเรียกตามที่คนทั่วไปรู้จัก) มิใช่ “เทพสามัญประจำบ้าน” ที่ต้องมีต้องไหว้ทุกบ้าน อย่างพระภูมิเทวดา (ฮกเต็กเจ้งสีนหรือแปะกง) หรือเจ้าเตาไฟ แต่เป็นเทพเก่าแก่และยังเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ “ไสยเวท” จีนโดยเฉพาะอีกด้วย

ที่สำคัญ ต้นกำเนิดของนาจามิใช่ของจีนแต่รับมาจากอินเดีย

ชาวจีนรับเทพจากแขกอินเดียมาหลายองค์ ซึ่งโดยมากมาจากพุทธศาสนา หรือถ้ารับของพราหมณ์มาก็จะผ่านพุทธอีกที แต่ไม่ว่าจะมาจากทางไหนก็ต้องเข้ากระบวนการ “จีนานุวัตร” (Sinicization) หรือทำให้เป็นจีนเสียก่อน

เช่น ตั้งชื่อแซ่อย่างจีน (นาจาจึงมีแซ่หลี่ตามบิดาในห้องสีน) แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างจีน สร้างตำนานแบบจีน ฯลฯ ทำให้บางครั้งเราก็ลืมไปว่ามาจากที่อื่น

อาจารย์ Meir Shahar เสนอในบทความชื่อ “Nezha’s connections to India Deities” ว่าที่จริงแล้วนาจาเป็นเทพเจ้าอินเดียองค์หนึ่ง คือ “นลกุวระ” (Nalakuvara) หรือ นลกูพระ (Nalakubara) หรือ นลกุเวร (Nalakuvera)

จริงๆ แล้ว นลกุเวรคืออมนุษย์ประเภท “ยักษ์” เป็นโอรสของท้าวกุเวรผู้เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ มีพี่น้องอีกหนึ่งตนชื่อ มณิครีวะ ปรากฏเรื่องราวในมหากาพย์รามายณะและภาควัตปุราณะเพียงนิดหน่อย

รามายณะเล่าว่า นลกุเวรมีชายาเป็นนางอัปสรรัมภา ต่อมาเธอถูกราวัณหรือทศกัณฐ์ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องคนละแม่ของบิดาตนย่ำยี นลกุเวรจึงสาปทศกัณฐ์ว่า หากทศกัณฐ์ไปย่ำยีสตรีใดโดยเธอไร้ความสิเน่หา เศียรของทศกัณฐ์จะแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง จึงเป็นเหตุให้นางสีดารอดปลอดภัยเพราะเธอไม่มีความสิเน่หาต่อทศกัณฐ์ จึงทำได้เพียงขังพระนางเอาไว้เท่านั้น

ส่วนในภาควัตปุราณะเล่าไว้เพียงว่า นลกุเวรและมณิครีวะไปเล่นสราญที่สระน้ำกับเหล่าสตรีด้วยความเมามาย นารทมุนีผ่านมาเห็นสองคนนี้เปลือยกายและมีพฤติกรรมไม่ดี จึงสาปให้ไปเกิดเป็นต้นไม้จนกว่าพระวิษณุจะอวตารลงไปช่วย ครั้นพระวิษณุอวตารไปเป็นพระกฤษณะกุมาร ไปโยกถอนต้นไม้นี้ทำให้ทั้งสองพ้นจากคำสาป

ร่องรอยความเป็นอินเดียเหล่านี้ปรากฏจางๆ ในตำนานห้องสินของจีนด้วย กล่าวคือ นาจาเป็นบุตรของลี่เที้ยนอ๋อง ซึ่งถือเจดีย์ อันเป็นลักษณะเดียวกับท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวรแบบพุทธนั่นเอง ส่วนตำนานการไปปราบลูกมังกรนั้น อาจารย์ Meir Shahar เห็นว่าเป็นการรับบุคลิกและตำนานอินเดียอีกเรื่อง คือเรื่องพระพาลกฤษณะ (พระกฤษณะวัยเด็ก) ไปปราบกาลิยนาคมาผสมผสาน

เราจะเห็นได้ว่าในศาสนาฮินดู นลกุเวรมีบทบาทน้อยและไม่ใคร่มีความสำคัญ ทว่า ด้วยสถานภาพ “ยักษ์” แถมยังเป็นโอรสของจอมยักษ์อย่างท้าวกุเวรด้วย จึงกลายมามีความสำคัญในพุทธศาสนาแทน

 

พุทธศาสนาในอินเดียรับเอายักษ์เป็นเทพของตนและให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะอันที่จริงแล้ว ยักษ์มิได้มีความหมายในทางร้ายอย่างที่เราเข้าใจกันภายหลัง

แต่เป็นเทพในลักษณะพลังธรรมชาติที่ชาวบ้านนับถือ ทั้งยังอำนวยโภชผลในทางความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน

ดังมีพระลักษมี (ที่จริงเธอเป็นยักษิณี) นางหารีติ หรือท้าวกุเวรที่ มักจะพบรูปเคารพยักษ์เหล่านี้อยู่ในพุทธศาสนาโบราณเสมอ

นลกุเวรจึงไปปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน-มนตรยาน (วัชรยานแบบหนึ่ง) คือ “มหามยูรีวิทยาราชญี” และ “ยักษนรรตกปรตันตระ” ซึ่งเป็นคัมภีร์ว่าด้วยมนต์พิธี เอ่ยอ้างถึงนลกุเวรในฐานะขุนพลยักษ์พร้อมบริวารที่จะอัญเชิญเข้ามาในมณฑลเพื่อปกป้องคุ้มครอง (ก็เขาเป็นถึงลูกของท้าวกุเวรจอมยักษ์เชียวนะ)

ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงบทสวดแบบ “ภาณยักษ์” ดูครับ ลีลาคล้ายๆ กัน

 

คัมภีร์เหล่านี้เข้ามาในจีนพร้อมกับความเฟื่องฟูของมนตรยานตะวันออกในสมัยถัง แล้วความเชื่อฝ่ายมนตรยานจากถังก็ลงมาถึงทางใต้ของจีน (ตามการอพยพโยกย้ายดังที่คนจีนใต้เช่นคนฮกเกี้ยนมักเรียกตัวเองว่าเป็นชาวถัง) สืบทอดต่อมาในหมู่ผู้ใช้ไสยเวทลื่อซาน (ดังการเอ่ยอ้างถึงยู่ก่าก่าว (ลัทธิโยคะหรือโยคาจาระทางพุทธซึ่งหมายถึงฝ่ายมนตรยาน) และการอ้างถึงพระนาคารชุน (หลองชิ้วอี่อ๋อง) ในฐานะพระปรมาจารย์)

โลเชี้ยหรือนาจาจึงเป็นชื่อจากการแปลนาม “นลกุเวร” เข้าภาษาจีนนี่เอง ที่จริงอาจารย์นนท์บอกผมว่า นาจาถูกรับเอาไปเป็นเทพเต๋าอย่างเป็นทางการโดยนักพรตเหมาซานมาตั้งแต่สมัยซ้อง แล้วมาสู่พวกลื่อซานภายหลัง

นอกจากนี้ อาจารย์นนท์ท่านยังเล่าว่า บทเทพมนต์ (สีนจิ่ว) ที่ใช้อัญเชิญนาจานั้นมีสองแบบ แบบที่นิยมมักเอ่ยถึงคุณลักษณะตามที่ปรากฏในวรรณกรรมห้องสีน

แต่เทพมนต์อีกแบบซึ่งแพร่หลายน้อยกว่ามาก กล่าวถึงนาจาในฐานะเป็น “โห้ยหลุนกิมก๊อง” หรือ “อัคนีจักรวัชรเทพ” ด้วย

กิมก๊อง (แต้จิ๋วว่ากิมกัง) หรือวัชระ/วัชรเทพจัดเป็นเทพในทางพุทธศาสนามหายาน-วัชรยาน มีหน้าที่พิทักษ์ปกป้องพุทธศาสนาหรือพระธรรมคำสอน เช่น อัษฏวัชรเทพ ช่วยพิทักษ์วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตรและผู้ท่องบ่น เป็นต้น

วัชรเทพมักปรากฏจักรไฟซึ่งเรามักเห็นในงานศิลปกรรมแสดงถึงเพลิงกรุณาอันเผาผลาญกิเลส เมื่อมาถึงจีนนาจาจึงยังคงเหยียบ “ล้อไฟ” หรือมักมีภาพวาดในวงไฟเป็นสัญลักษณ์สำคัญ

การทำพิธีกรรมของฝ่ายลื่อซานซำตั๋ว นาจาเป็นเทพสถิตมณฑลกลางจึงมีอีกชื่อว่า “ตงต๋านหง่วนโสย” หรือ ขุนพลปะรำกลาง ตามแนวคิดการบรรจุเทพลงในทิศต่างๆ ของมณฑลซึ่งเป็นอิทธิพลจากมนตรยาน จึงมักประดิษฐานรูปเคารพไว้กลางแท่นบูชา

แต่เนื่องจากตำแหน่งกลางด้านหน้าสุดอยู่ติดกับกระถางธูป คนจึงมักเข้าใจผิดไปว่านาจาคอยเฝ้ากระถางธูปให้

 

นอกจากนี้ ในทางไสยเวทซึ่งมีอิทธิพลโยคาจาร นาจาผู้อยู่ในมณฑลกลางนั้นจัดเป็นสมาธิจิตของผู้ประกอบพิธี กล่าวคือ ผู้ประกอบพิธีจะเพ่งนิมิตเมื่ออัญเชิญนาจาให้บังเกิด “เตโช” (ภาษาจีนว่าอิดเส้ง) หรือไฟธาตุ แล้วเตโชนั้นกลายเป็นวงจักรไฟไปล้อมมณฑลพิธีเอาไว้ ไฟที่ล้อมนั้นจะปกป้องไม่ให้ “มาร” (จีนออกเสียงว่า หมอ) เข้ามาในมณฑลพิธีได้

สังเกตดู ท่านเรียกว่า “มาร” นะครับ ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางพุทธศาสนา มิใช่ทางเต๋า และก็มิใช่พวกภูตผีปีศาจด้วย แม้ว่าในทางไสยเวทจะเชื่อว่า นาจามีหน้าที่คอยปราบหรือฆ่าผีร้ายที่มากล้ำกรายหรือไม่เชื่อฟังในพิธีด้วยก็ตาม

เหตุที่สามารถบันดาลเตโชธาตุออกไปเป็นจักรไฟเพื่อปกป้องนี่เอง จึงได้นามว่า อัคนีจักรวัชรเทพ (โห้ยหลุนกิมก๊อง)

จะว่าไปแล้วเทพจีนก็มีความซับซ้อนและมีพัฒนาการไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเทพอินเดียเขาเลย แต่ก็คนละกลิ่นรส เพราะจีนยังไงก็พยายามจัดระเบียบเทพไปตามลักษณะสังคมและวัฒนธรรมของตัว เช่นประสานเข้ากับระบบราชการ ระบบกองทัพแบบจีน นาจาจึงเข้าไปอยู่ในฐานะเทพขุนพลคุมกองกำลังเทพ (ผี) อีกฐานะหนึ่ง และยังมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ เช่นต้องเชิญประทับทรงเพื่อตรวจมณฑลพิธี หรือในการเลี้ยงทหารเทพ (ผี) ที่เรียกว่า โข้กู้น ซึ่งก็เป็นไปตามคติชาวบ้าน

สุดท้ายแล้วใครจะเชื่ออย่างไร ผมก็ต้องท่องคาถาที่อาจารย์นนท์ให้ไว้คือ “แล้วแต่เขา” แต่อย่างน้อยๆ ผมคิดว่าถ้าเราเข้าใจที่มาที่ไปของเทพที่เราเคารพ

ก็คงจะรักทั้งด้วยปัญญาและอารมณ์ •