ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
หมายเหตุ “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้จัดการไอลอว์ ให้สัมภาษณ์สื่อเครือมติชน ในประเด็นเรื่อง “ความคาดหวัง” ที่มีต่อ ส.ว.ชุดใหม่
: นิยามการเลือก ส.ว.ครั้งนี้อย่างไร ซับซ้อนแต่ต้องสู้ สู้เท่าที่มีบนหน้าตัก?
จริงๆ อยากจะหดหู่กว่านั้นนิดหน่อย เรียกว่าไม่สู้ไม่ได้เลย ไม่ทำอะไรไม่ได้เลย
ถ้าวันนี้ประชาชนไม่พยายามเข้าไปมีส่วนร่วม สมมุติว่าบางท่านเปิดกฎหมายอ่านเอง อ่านไม่รู้เรื่อง ปิดแล้ว ไม่ทำแล้ว เลิก กระบวนการเลือก ส.ว. อาจจะเป็นกระบวนการปิดลับของคนที่มีเครือข่าย เฉพาะเจ้าพ่อที่ระดมคนได้ 20-30 คนก็เดินเข้าไป แล้วก็ไปจับสลากโหวตๆ กันในหมู่เจ้าพ่อไม่กี่คน
แล้วคนเหล่านี้ บางคนอาจจะมีอุดมการณ์ที่อยากจะไปเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เช่น อาจเป็นนายกสมาคมชาวนา เขาอาจจะไปสู้เพื่อสิทธิเกษตรกร อันนี้ไม่เป็นไร แต่ปัญหาคือในอนาคต เราเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้เขียนใหม่ทั้งฉบับ เสนอให้มี ส.ส.ร. คนเหล่านี้จะโหวตอย่างไร?
ผมเกรงว่าเขาจะไม่ได้มีเป้าหมายอะไรในการโหวต เขาก็จะเพียงแค่รอฟังคนที่มากระซิบเขาทั้งหลาย คนที่จะมายื่นสิทธิ์ให้ทั้งหลาย ว่าจะให้โหวตอย่างไร
แล้ว ส.ว.ชุดต่อไป ถ้าเป็น ส.ว.ที่ผู้มีอำนาจคุมได้ ถ้าเป็น ส.ว.ที่ถูกซื้อเรียบร้อยแล้ว โหวตเหมือนกันหมด แล้วมีผลงานเหมือนกันกับ ส.ว.ชุดแต่งตั้ง มีการทำงานเหมือนกันกับ สนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เขาจะเลือกเฉพาะคนที่เขาชอบไปเป็นองค์กรตรวจสอบคนใช้อำนาจ ซึ่งก็คือเขา (เอง) มันก็จะไม่เกิดการตรวจสอบอะไรในประเทศนี้
ป.ป.ช.จะไม่ตรวจสอบรัฐบาล กกต.จะโปรรัฐบาลที่ถืออำนาจอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญจะยุบแต่พรรคฝ่ายค้าน มันก็จะเป็นแบบนี้ แล้วมันจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกเป็นสิบปี คือ ส.ว.อาจจะมาเลือกคนเป็นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระอีก 7 ปี ส.ว.อาจจะมาเลือกคนเป็น กกต. กกต.จะมีอายุอีก 7 ปี มันจะต่ออายุไปเรื่อยๆ
กลายเป็นว่าระบอบที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 มันก็จะสืบทอดต่อไปเรื่อยๆ แล้วรัฐธรรมนูญนี่ไม่ต้องพูดเลย ยื่นเข้าไปเขาก็โหวตเหมือนเดิม โอเค อาจจะมี 2-3 เสียงยืนหลักการบ้างเหมือนสภาชุดที่ผ่านมา แต่มันก็ไปไหนไม่ได้ อันนี้คือภาพที่ไม่อยากเห็น
ถ้าไม่อยากเห็น มันก็ไม่มีทางเลือกอะไร นอกจากต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือก ส.ว.ชุดใหม่ให้มากที่สุด
: อยากให้ประชาชนจับตาอะไรในการเลือก ส.ว.คราวนี้?
จริงๆ ส.ว.เป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก อาจจะเรียกว่ามากกว่า ส.ส.ด้วยซ้ำ ถ้าเป็น ส.ว.ชุดพิเศษ ชุดแต่งตั้ง 250 คน อันนี้มากกว่า ส.ส.ชัดเจนเลย เลือกนายกฯ ก็ได้ เวลาพิจารณากฎหมาย พิจารณาด้วย
แต่มันมีอำนาจสำคัญสองเรื่อง ที่ ส.ว.มีมากกว่า ส.ส. แน่นอน หนึ่ง ก็คือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ไม่ว่าจะได้เสียง ส.ส.เท่าไหร่ ต้องได้เสียง ส.ว.อย่างน้อยหนึ่งในสาม ไม่งั้นผ่านไม่ได้ ใน ส.ว.ชุด 250 คน ต้องใช้เสียง 84 คน
เรายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เขาพิจารณาถึง 26 ร่าง เขาให้ผ่านร่างเดียว อีก 25 ร่างที่ไม่ผ่าน เกือบทั้งหมดได้เสียง ส.ส.มากกว่าครึ่ง แต่ ส.ว.ไม่ให้ มันก็ไปไม่ได้
อีกอำนาจหนึ่ง ก็คือ ส.ว.มีอำนาจในการพิจารณาและเห็นชอบให้บุคคลมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. ประธานศาลปกครองสูงสุด เราเห็นปรากฏการณ์ที่ ส.ว.ชุดแต่งตั้ง ไม่อนุมัติให้คนที่เดินตามคิวที่เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาเป็นประธานศาล
ก่อนหน้านี้ ส.ว.ชุดพิเศษ ก็มีพฤติกรรมที่เรียกว่า “เลือกสรรอย่างดี” มาตลอด ใครจะได้มาดำรงตำแหน่งไหน เขาเลือกหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิทธิฯ กสทช. อันนี้เขาก็มีอำนาจในการอนุมัติ
หลายครั้ง รายชื่อที่เสนอมา เขาไม่พอใจ เขาก็ไม่ให้ผ่าน เวลาไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องอธิบายเหตุผล ประชุมก็จะเป็นประชุมลับ โหวตกัน แล้วก็รู้แต่ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เจ้าตัว (บุคคลที่มีรายชื่อได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่ง) ก็ไม่มีโอกาสจะไปชี้แจงอะไร ว่าตัวเองเหมาะสมได้เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างไร
เรียกว่าองค์กรที่ตรวจสอบอำนาจรัฐทั้งหมด มีที่มาจาก ส.ว. ทีนี้ ส.ว.ชุดต่อไป ก็จะมีอำนาจน้อยลงอยู่บ้าง คือไม่ได้มีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว การเลือกนายกฯ ยังเป็นอำนาจของ ส.ส.อยู่
แต่อำนาจหลักทั้งสองประการ คือ การพิจารณาให้หรือไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ กับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ใครมานั่งในตำแหน่งองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ ยังเป็นอำนาจของ ส.ว.มากๆ อย่างเรื่องใครมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ส.ส.ไม่เกี่ยวเลย ส.ส.จะเลือกมากี่คนก็ไม่เกี่ยวเลย ต้องมาจาก ส.ว.เท่านั้น
ดังนั้น ถ้าหากเรามองไปในอนาคต ประมาณสักสิบปี เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่ ความฝันที่จะเขียนใหม่ทั้งฉบับ มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นหรือไม่ อันนี้อยู่ในมือ ส.ว. โดยเฉพาะชุดที่กำลังจะมา
ใครจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการเลือกใหม่ในช่วงปลายปี 2567 กกต.ก็จะหมดวาระอีกห้าท่าน ก็จะมีการเลือกในปี 2568 ผู้ตรวจการแผ่นดินสามท่านจะหมดวาระหมดเลย แล้วก็จะเลือกใหม่โดย ส.ว.ทั้งหมด กรรมการสิทธิฯ ก็จะหมดวาระ 6 จาก 7 คน ก็จะเลือกใหม่โดย ส.ว.ชุดต่อไปอีก
ดังนั้น อนาคตข้างหน้า องค์กรเหล่านี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานเหมือนเดิม คือไล่ยุบพรรคไล่ตัดสิทธิ์นักการเมือง หรือจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญแบบใหม่ที่มาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขึ้นอยู่กับ ส.ว.ชุดต่อไปอย่างมาก
มองอนาคตไปสักสิบปี ส.ว.ชุดนี้จะเป็นผู้กุมชะตาสำคัญ และอาจจะสำคัญกว่า ส.ส.ด้วย