คดี ‘เศรษฐา’ สะเทือนเชื่อมั่นลงทุนไทย ทำได้แค่…wait and see

ประเด็นร้อนแรงที่ต้องติดตามในช่วงนี้ คงไม่พ้นเรื่องของ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ที่ถูกสั่นคลอนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

หลังจากวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติข้างมากรับคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 40 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

จากกรณีที่นายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ ถึงศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้นายเศรษฐาชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ต่างคำร้องกรณีการตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใน 15 วัน ส่วนนายพิชิตได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

กระแสที่ออกมาจึงต้องลุ้นว่า นายเศรษฐาจะหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หรือไม่ แม้ว่าทางพรรคเพื่อไทยจะยังยืนยันและมั่นใจว่า นายเศรษฐาจะไม่หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าหากหลุดก็ต้องมีกระบวนการสรรหา “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ในสภาผู้แทนราษฎร

และตามหลักการ งานต่างๆ ทางการเมืองอาจจะต้องหยุดชะงักไปจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ นายกฯ คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ต่อ

 

ปัจจุบัน รัฐบาลเศรษฐาเพิ่งผ่านช่วงของการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ยังไม่ถึง 1 เดือนเลยด้วยซ้ำ ซึ่งกระทรวงที่ถูกเขย่าขยับส่วนใหญ่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่เพิ่งคว้า ‘นายพิชัย ชุณหวชิร’ ที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ เคยเป็นประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และก่อนหน้านี้ก็นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนลาออกมาร่วมรัฐบาล

โดยรัฐบาลส่งนายพิชัยไปเป็นกาวใจระหว่างรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของนโยบายการคลังและการเงินที่สมดุลมากขึ้น และอีกภารกิจของกระทรวงการคลังคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหวังจะรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และคงเป็นปลายปี 2567 นี้

ถ้าหากนายเศรษฐาหลุดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไป โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะถูกสานต่อหรือไม่ และงานรัฐบาลที่ทำมา ไม่ว่างานเซลส์แมนของนายเศรษฐา ที่เคยไปเชิญชวนนักลงทุนยักษ์ต่างชาติ จะชะลอและสะดุดหรือเปล่า

และเศรษฐกิจที่ว่าโตต่ำ จากล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ออกมาแถลงถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อยู่ที่ 1.5% ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ที่ขยายตัว 1.9% ต่อปี ซึ่งอาจจะต้องการการกระตุ้นจะไปต่ออย่างไร หากสมมุติว่ารัฐบาลหยุดทำงานเพื่อรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เพื่อเป็นการยืนยันว่าเหตุการณ์ข้างต้นนั้น น่ากังวลมากแค่ไหน ดูได้จากภาคเอกชนที่ต่างออกก็ประสานเสียงกันถึงความกังวลใจกัน

 

เริ่มที่ ‘นายธนิต โสรัตน์’ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ผลกระทบแรก คือการลงทุน ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเจรจากับหลายหลายประเทศในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยก็จริง แต่เมื่อเห็นสถานการณ์นี้อาจจะต้องชะลอการลงทุนไปก่อน (wait and see)

ถ้าระยะถัดไปหากเกิดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหยุดปฏิบัติงานของนายกฯ การทำงานอาจจะลากยาวไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง การทำงานระหว่างนักลงทุนก็ต้องชะลอตัวลง เพราะความไม่เสถียรภาพการเมือง รวมถึงยังไม่ทราบนโยบายแน่ชัดของรัฐบาล รวมทั้งการดำเนินเศรษฐกิจในช่วงหลังของปีนี้ก็จะชะลอออกไปเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างแน่นอนหากรัฐบาลหยุดทำงาน

ขณะที่ ‘นายเกรียงไกร เธียรนุกุล’ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็มีความกังวลไม่ต่างกัน โดยระบุว่า แม้จะไม่ทราบว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การรับคำฟ้องแม้ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสี่ยงขึ้นมา เพราะไม่รู้ว่ากระบวนการในการสอบสวนจะออกมาอย่างไร ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติกังวล ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจลงทุนไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป อีกทั้งอาจจะส่งผลให้เกิดการลังเลใจ และชะลอการตัดสินใจ เพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป

ส่วนจะเกี่ยวโยงถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าหรือไม่ ประธาน ส.อ.ท.ยอมรับว่าตอบยากเพราะไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เพราะมีความไม่แน่นอนมาก นายกรัฐมนตรีจึงอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยง เพราะอะไรที่ไม่แน่นอนถือเป็นความเสี่ยง ส่วนจะเสี่ยงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ละประเทศให้ความสำคัญแตกต่างกันไป

 

ขณะที่ ‘นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา’ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต แม้ไม่ได้กล่าวถึงกรณีข้างต้น แต่ยังมีความห่วงใยถึงเรื่องเศรษฐกิจ โดยฉายภาพว่า ภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัวอ่อนแรงมาตั้งแต่ต้นปี 2567 แล้ว ไม่ว่าจะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การส่งออกทั้งปีนี้ประเมินว่าคงโตได้ไม่เกิน 2% และปัญหาภัยแล้งในประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรหลายตัวมีผลผลิตลดลง รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ออกมาล่าช้า

ซึ่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังเสนอแนะอีกว่า เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจยังดูไม่สดใสเท่าที่ควร รัฐบาลควรมีเครื่องมือออกมาช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือภาคการส่งออก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการลงทุนด้วย โดยรัฐบาลจะต้องรักษาฐานเดิมและขยายฐานใหม่ด้วยการส่งออกสินค้าที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์แบบไฮบริด เป็นต้น

ขณะที่การเบิกจ่ายของรัฐบาล หรือเรื่องของงบประมาณปี 2567 หากมีการปล่อยออกมาเร็วและเม็ดเงินกระจายทั่วถึงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากขึ้น และกระตุ้นให้จีดีพีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย รวมถึงในภาคของการท่องเที่ยวรัฐบาลควรสนับสนุนในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เพราะเป็นช่วงที่เรียกว่าโลว์ซีซั่น

เสียงสะท้อนของเอกชนนั้น ต่างกังวลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2567 หากปมการเมืองเข้ามาอีก จะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหรือไม่ น่าติดตาม!!