เอสซีจี กับโรงงานท่าหลวง

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เอสซีจีมีฐานะสำคัญยิ่ง ว่าด้วยความเป็นไปสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างลึกซึ้ง

โดยเฉพาะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อค่อนข้างนาน จากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

มองผ่านโครงการโรงงานท่าหลวง เป็นเรื่องราวอีกตอนต่อจากคราวที่แล้ว จากจับภาพมุมๆ หนึ่งที่สำคัญ สู่ภาพมุมกว้างมากขึ้น

แผนการก่อสร้างโรงงานท่าหลวง เป็นเรื่องตื่นเต้นทีเดียว นับเป็นการสร้างอุตสาหกรรมแห่งแรกในภูมิภาค อาจถือเป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ด้วยการสร้างเมืองอุตสาหกรรมลักษณะพึ่งตนเอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอย่างครบถ้วน มีโรงไฟฟ้าไว้ใช้เองทั้งหมด โดยสร้างสายไฟแรงสูงมีความยาวถึง 10 กิโลเมตรจากโรงงานจนถึงบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ ยังมีปริมาณเหลือพอให้บริการแก่ชุมชนในย่านนั้นได้ด้วย

“เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว บริษัทจึงรีบดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมโรงงานบางซื่อ และในขณะเดียวกันเร่งรัดการสร้างโรงงานท่าหลวงให้แล้วเสร็จโดยด่วน เครื่องจักรเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่สั่งไว้ก่อนสงคราม ได้ทยอยกันเข้ามาอย่างครบถ้วน ในที่สุดบริษัทสามารถเปิดใช้โรงงานผลิตปูนเม็ดได้เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2491 เป็นการช่วยรับภาระโรงงานบางซื่อไปได้เป็นอันมาก”

บันทึกอีกตอน (บทความ “เบื้องหลังของท่าหลวง” ในหนังสือปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526 โดย Fiis Jespersen)

 

ความสำเร็จโครงการโรงงานท่าหลวง เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการนำเครื่องจักร และเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ในการผลิตปูนซีเมนต์เข้ามาในประเทศ ภาวะหลังสงครามใหม่ๆ เป็นช่วงรัฐบาลควบคุมเงินตราต่างประเทศอย่างเข้มงวด ความเป็นไปได้เช่นนั้น สะท้อนความสัมพันธ์ ความร่วมมืออย่างดีอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลในขณะนั้น

เมื่อการก่อสร้างโรงงานท่าหลวงแล้วเสร็จ การผลิตปูนซีเมนต์ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณหนึ่งเท่าตัว จากข้อมูลอ้างอิง (หนังสือ กิจการของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2456 ถึงสิ้น พ.ศ.2496-ที่ระลึกในโอกาสที่ผู้ถือหุ้นบริษัทไปประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 42 ณ โรงงานท่าหลวง วันที่ 20 มีนาคม 2497) เท่าที่มีรายงาน ปรากฏบริษัทปูนซิเมนต์ไทย สามารถจำหน่ายปูนซีเมนต์ได้เพิ่มจากก่อนโรงงานบางซื่อถูกทิ้งระเบิดจนต้องหยุดการผลิต จาก 108,000 ตันต่อปีในปี 2484 ไปทะลุถึง 245.000 ตันต่อปีในปี 2495

ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า ภาวะหลังสงคราม ตลาดเป็นของผู้ขาย ขณะความต้องการปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว

 

สําหรับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ต่อมาคือ เอสซีจี) ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญ ในฐานะอุตสาหกรรมรายแรกรายเดียว ดำเนินธุรกิจผูกขาดอย่างต่อเนื่องมาถึง 4 ทศวรรษ จากนั้นอีกราว 2 ทศวรรษ จึงจะปรากฏโฉมหน้าคู่แข่งขันทางธุรกิจอย่างจริงจัง จึงเป็นช่วงเวลานานเพียงพอสำหรับการเตรียมพร้อมเผชิญการแข่งขันมากขึ้น และปรากฏว่ามีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเป็นอย่างดี

อีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางช่วงเวลาเกี่ยวเนื่อง โครงการโรงงานท่าหลวงดำเนินไปนั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย อยู่ท่ามกลางเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายมิติ ทั้งสะท้อนมุมมองเชิงธุรกิจกว้างขึ้น และความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการบริหารภายใน

ภายในโครงการโรงงานท่าหลวงเอง มีการริเริ่มสำคัญอย่างแตกต่างเกิดขึ้น ว่าด้วยอุตสาหกรรมอุดมคติของผู้นำสังคมไทยในเวลานั้น “หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ไม่นาน นักวางแผนเศรษฐกิจได้ลงความเห็นว่า การที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองได้นั้น ประเทศของเราจะต้องก้าวเข้าสู่กิจการอุตสาหกรรม และในความนึกคิดของนักวางแผนเห็นว่าในการเข้าสู่กิจการอุตสาหกรรม จะต้องมีการผลิตเหล็กขึ้นในประเทศ” วิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหกิจ (ต่อมาคือ กรมทรัพยากรธรณี) 2498-2514 และอดีตกรรมการบริษัท เหล็กสยาม จำกัด และกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (2498-2517) จำกัด กล่าวไว้

(บทความ “จารึกในความทรงจำ” เรื่อง “เคียงคู่ไปกับทรัพยากร” ในหนังสือครบรอบ 70 ปี—ปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526)

โรงงานท่าหลวง

ขณะในหนังสือ “บริษัทปูนซิเมนต์ไทย 2500” รายงานธุรกิจอีกช่วงหนึ่งในยุค Fiis Jespersen (ผู้จัดการ 2478-2502) ปรากฏภาพภาพหนึ่งในหัวข้อ “ประวัติในอดีตและความหวังในอนาคต” (โปรดดูภาพประกอบ) พร้อมคำบรรยาย “โรงงานทำซีเมนต์ที่ท่าหลวง รวมทั้งโรงงานทำเหล็กและเหล็กกล้า”

อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นแนวความคิดตามกระแส และอิทธิพลระดับโลก นับตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้วางรากฐานทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และประเทศสำคัญๆ ในยุโรป ในญี่ปุ่นเอง อุตสาหกรรมเหล็กมีการพัฒนาอย่างแข็งขัน จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้พ่ายแพ้สงคราม แต่มุ่งพัฒนาเชื่อมโยงต่อเนื่อง ไปยังอุตสาหกรรมต่อเรือ และรถยนต์ จนญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ผลิตเหล็กเป็นอันดับสามของโลกในราวปี 2510

บทสรุปที่ว่า แผนการโรงงานท่าหลวงดำเนินไปด้วยดี ดังที่นำเสนอมาตั้งแต่ตอนที่แล้ว เป็นไปได้ว่า ปัจจัยหนึ่งเกี่ยวข้องกับการตอบสนองนโยบายรัฐที่สำคัญอย่างเต็มกำลัง

ว่าไปแล้ว เส้นทางอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ถือว่ายาวไกล จากยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อเนื่องมาถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สู่ยุคใหม่มุ่งให้เอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น บริษัทเหล็กสยาม บริษัทสำคัญหนึ่งในเครือซิเมนต์ไทย ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2508 โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากกฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับแรกของไทย

เป็นความต่อเนื่องจากยุคผู้จัดการชาวเดนมาร์กถึง 2 คน จนถึงผู้จัดการคนไทย สุดท้ายตำนานได้สิ้นสุดลงไปเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ปี 2540 ในยุคผู้จัดการใหญ่คนไทยคนที่ 5

 

ในช่วงเดียวกันนั้น ได้เริ่มต้นธุรกิจใหม่แตกแขนงออกไปเป็นครั้งแรก ในสิ่งที่เรียกว่า “ทำการค้าวัตถุสำเร็จรูปที่ทำจากปูนซีเมนต์หรือคอนกรีต” ก่อตั้ง บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย ก่อตั้งในปี 2481 ผลิตสินค้าที่เรียกว่า Asbestos Cement เริ่มต้นจากกระเบื้องหลังคา และทิ้งช่วงนานพอสมควร จึงเริ่มต้นผลิตคอนกรีตอัดแรง (Reinforced concrete) ด้วยการก่อตั้ง บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง (ปี 2495)

แม้ในยุคนั้น ถือว่าอยู่ในช่วง ประวัติศาสตร์เอสซีจียุคเดนมาร์ก (2456-2517) แต่มีแรงกระเพื่อมภายในครั้งสำคัญ ตั้งแต่ปี 2482 เมื่อมีการเปลี่ยนประธานกรรมการบริษัท จากชาวต่างชาติมาเป็นคนไทย

เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ในปี 2485 ปรากฏชื่อคนไทยคนแรก ควรกล่าวถึง–หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ เข้าไปเป็นรองผู้อำนวยการโรงงาน หรือในตำแหน่งบริหารงานรองจากผู้จัดการชาวเดนมาร์กในขณะนั้น ในฐานะผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยทุนเล่าเรียนกรมรถไฟหลวง (ชื่อในขณะนั้น) มีประสบการณ์ทำงานที่การรถไฟฯ มากว่า 10 ปี ถือได้ว่ามีความเกี่ยวข้องระดับหนึ่ง ด้วยการรถไฟฯ มีความสัมพันธ์กับปูนซิเมนต์ไทยมาตั้งแต่ต้น

ในปีเดียวกันนั้นเอง (2485) ข้อมูลประวัติบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ระบุไว้ว่า วิศวกรคนไทยรุ่นแรกที่จบการศึกษาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาทำงานจำนวน 3 คน เข้าใจว่าเป็นนิสิตรุ่นแรก จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และจากนั้นถึงปี 2498 มีวิศวกรจากจุฬาฯ เข้าทำงานเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 10 คน บางคนมีประสบการณ์จากที่อื่นๆ มาบ้าง โดยเฉพาะจากการรถไฟฯ และกรมชลประทาน

วิศวกรจุฬาฯ กลุ่มนั้น คือผู้คนที่สร้างตำนาน “นายช่าง” กลายเป็นพลังของทีมงานทรงอิทธิพล ในเอสซีจีหลายทศวรรษต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ว่าได้ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com