ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
กลับถึงไทยแล้วสำหรับโบราณวัตถุ 2 ชิ้นสำคัญ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะเมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา ส่งคืน ได้แก่
1. ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy
และ 2. ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยกรมศิลปากรได้นำโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร…
สำหรับประติมากรรมพระศิวะ หรือ Golden Boy มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ประติมากรรมสูง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษ คือหล่อด้วยสำริด และกะไหล่ทอง สันนิษฐานว่าถูกชาวบ้านลักลอบขุดค้นจากปราสาทหินบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และถูกลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายในปี 2518 ซึ่งขณะนั้นถูกซื้อไปในราคาประมาณ 1.2 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่า ณ ปัจจุบัน ประเมินกันว่าน่าจะอยู่ที่ 100 ล้านบาท…
ส่วนประติมากรรมสตรีพนมมือ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่า และยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริด มีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงิน และทอง

การส่งคืนโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ เกิดในช่วงที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยนายแมกซ์ ฮอลเลน ผู้อำนวยการ และประธานกรรมการบริหาร เดอะเมท สหรัฐอเมริกา มอบหมายให้นายจอห์น กาย ภัณฑารักษ์แผนกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้แทนเข้าพบนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อส่งมอบหนังสือแจ้งขอส่งคืนโบราณวัตถุ 2 รายการให้แก่ไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 หลังตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อขายโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการโดยผิดกฎหมาย
คณะกรรมการบริหาร เดอะเมท จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ และแจ้งการส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ ผ่านสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตาม การได้โบราณวัตถุคืนในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากปฏิบัติการทวงคืนโดยรัฐบาลไทย แต่เป็นผลพลอยได้จากการรุกทวงคืนโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมร โดยรัฐบาลกัมพูชา!!
ในพิธีรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการ วธ.ระบุว่า การรับมอบโบราณวัตถุสำคัญของชาติกลับคืนมาสู่มาตุภูมิครั้งนี้ ถือเป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนไทยในอดีตเมื่อกว่าพันปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ความงามของโบราณวัตถุบ่งบอกถึงฝีมือช่าง และเทคโนโลยีชั้นสูงในการหล่อโลหะของคนโบราณ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่มีคุณค่าระดับโลก
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างติดตาม และเจรจาทวงคืนโบราณวัตถุอีก 5 รายการ จากที่ได้โบราณวัตถุกลับคืนมาแล้วรวม 96 รายการ…
ขณะที่นายจอห์น กาย อธิบายเกี่ยวกับโกลเด้นบอย ว่าเป็นประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองรูปพระศิวะในศาสนาฮินดู เป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นเดียว และเป็นหนึ่งในประติมากรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดประเภทรูปเคารพ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ รูปร่างงดงาม แต่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกใดๆ ที่ปรากฏเป็นเบาะแสในการตรวจสอบแหล่งกำเนิดได้เลย โดยทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 น่าจะหมายถึงพระศิวะ เทพในศาสนาพราหมณ์ นำเสนอในแบบมานุษยรูปนิยมของเทพ อาจจะมีนัยยะที่ซ้อนอยู่ คือเหมือนดั่งพระศิวะอวตารในรูปจำแลงของกษัตริย์ หรืออาจจะเป็นบรรพบุรุษใกล้ชิดของกษัตริย์ ที่ได้รับการสถาปนาพระเกียรติยศ
ส่วนประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ประดับด้วยเพชรพลอย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นสตรีในราชสำนัก กระทำกิริยาท่าทางการสักการะตามธรรมเนียม ท่านั่งโดยพับขาข้างหนึ่งไว้ข้างใต้ เท้ามองเห็นได้จากด้านหลัง มีลักษณะเป็นธรรมชาติ และปฏิบัติตามมารยาทในการนั่งต่อหน้าพระราชวงศ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบันในไทย
เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของพระศิวะ และสตรีพนมมือโดยละเอียด ทั้ง 2 องค์ตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือ ทองคำ และเงิน พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวด และเครา มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน!!

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการขุดค้นพบประติมากรรมโกลเด้นบอย ที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ จากการพูดคุยกับผู้ที่ขุดพบประติมากรรมโกลเด้นบอย นางนิล เป็ดสกุล อายุ 69 ปี บอกเล่าเป็นภาษาเขมร ว่าเมื่อปี 2517 ไปขุดมันบริเวณดังกล่าวกับสามี แต่ขุดเจอวัตถุประหลาด เหมือนพระพุทธรูป มีความสูงประมาณ 150 เซนติเมตร จึงนำกลับมาที่บ้าน ล้างทำความสะอาด จากนั้นไปปรึกษาตำรวจท่านหนึ่งเพื่อหาที่ขาย โดยตำรวจพาไปกรุงเทพฯ โดยขายให้ชาวต่างชาติในราคา 1.6 ล้านบาท แต่ต่อเหลือ 1.2 ล้านบาท
ขณะที่ลูกสาวนางนิล น.ส.นัฐพรบอกว่า สิ่งที่แม่เล่าให้ฟังหลังเห็นภาพโกลเด้นบอย แม่บอกว่า “เสียหาย และเสียใจ”
เพราะจำได้แม่นว่า สิ่งที่ติดตัวโกลเด้นบอยตอนขุดพบ มีทั้งมงกุฎเพชร ลูกตาเพชร สร้อยสังวาลย์เพชรนิล กำไลแขนเพชร และเข็มขัดเพชรและนิล
แต่ที่เห็นในเวลานี้ เหลือเพียงรูปหล่อเท่านั้น…
ด้านนายปราโมทย์ มูระคา นายกเทศมนตรีตำบลตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า คนขุดเจอคนแรกเสียชีวิตไปแล้ว ได้สั่งสามีภรรยาที่ไปขุดพบ โดยมีนางนิลร่วมขุดด้วย ส่วนการนำไปขาย ผู้รู้เล่าว่าตอนขุดได้เป็นช่วงบ่าย พอค่ำก็เอาไปไว้ที่บ้าน แล้วล้างทำความสะอาด เอาไว้ที่บ้าน 1 คืน ติดต่อหาคนรับซื้อ มีตำรวจอยู่ที่ อ.ลำปลายมาศ เป็นคนประสานให้คนมาซื้อ คาดว่ามีผู้ได้รับส่วนแบ่ง 5-6 คน สมัยนั้นเอาเงินมาสร้างบ้าน แต่ละหลังใช้เงิน 3-4 หมื่นบาท ซื้อรถจักรยานยนต์วิบาก สมัยนั้น 25,000 บาท และใส่นาฬิกาคนละเรือน ซึ่งถือว่าหรู
แต่ปัจจุบัน ทุกคนที่ได้เงินจากการขายโกลเด้นบอย กลับมาอยู่ในสภาพเดิมทั้งหมด ยากจน หารับจ้างทั่วไป…
อย่างไรก็ตาม หลังรู้ข่าวว่าไทยได้โกลเด้นบอยคืน ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านบ้านยางโป่งสะเดาหลายรอบ และสภาวัฒนธรรมอำเภอละหานทราย พอจะเดาได้ว่าองค์จริง วธ.จะเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวบ้านจึงอยากสร้างจำลองเท่าองค์จริง เอามาประดิษฐานไว้ที่เดิม ตอนนี้ประสานช่างเรียบร้อยแล้ว โดยจะสร้างฐานให้เหมาะสม ดูแล้วมีคุณค่า แต่จะใช้วัสดุทั่วไป
โดยจะทำพิธีบวงสรวง เพื่อให้เป็นที่สักการะในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาดูสถานที่จริง…
อธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า ขณะนี้ได้นำโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการ ไปจัดแสดงที่ห้องลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และเปิดให้ประชาชนเข้าไปชื่นชมความงดงาม ระหว่างรอการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการหล่อ และความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ของประติมากรรมโกลเด้นบอย ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษาของกรมศิลปากร ซึ่งที่กรุงเทพฯ มีความพร้อมสำหรับเรื่องนี้
“ส่วนการนำไปจัดแสดงที่อื่น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เพราะไม่ใช่จากการโจรกรรมเท่านั้น แต่จะต้องปลอดภัยในลักษณะมาตรฐานของพิพิธภัณฑ์ แสงสว่าง อุณหภูมิ ความชื้น ต้องได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม” นายพนมบุตรกล่าว
กรณีประชาชนในพื้นที่อยากสร้างรูปจำลองของโกลเด้นบอย เพื่อตั้งเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านนั้น อธิบดีกรมศิลปากรแจกแจงว่า แม้โกลเด้นบอยจะไม่ได้อยู่ในบัญชีห้ามสร้างองค์จำลอง เพราะเพิ่งได้รับกลับมา ฉะนั้น การจำลองคงไม่ผิดกฎหมาย แต่อยากให้พูดคุยกัน เพื่อความเหมาะสม…
ต้องติดตามว่า การหล่อ “โกลเด้นบอยจำลอง” จะได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างไร!! •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022