ล้านนา-คำเมือง : เข้าใหม่

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เข้าใหม่”

คนล้านนาเรียกข้าวเป็นเสียงสั้นว่า “เข้า” เข้าใหม่จึงหมายถึงข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จใหม่ๆ

ข้าวทุกชนิด มีฤดูกาลปลูกและเก็บเกี่ยวของมันเอง เรียกว่าข้าวนาปี คือปลูกและเก็บเกี่ยวครั้งเดียวต่อปี โดยจะเริ่มปักดำ หรือหว่านในช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม

ข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วนำออกมาจำหน่ายในแต่ละปีเราจะเรียกว่าข้าวใหม่ จนกระทั่งข้าวจากฤดูกาลใหม่หรือปีถัดไปถูกเก็บเกี่ยวนำออกจำหน่าย ข้าวของฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาจะกลายเป็นข้าวเก่า

ข้าวใหม่ เมื่อนำมาขัดสีเมล็ดข้าว จะมีสีขาวใส จมูกข้าวยังติดกับเมล็ดข้าวอยู่ มียางข้าวมาก และมีกลิ่นหอม

ส่วน ข้าวเก่า คือข้าวที่เก็บไว้นานค้างปี หรือเก็บเกี่ยวนานมากกว่า 4-6 เดือน แล้วจึงค่อยนำมาขัดสี เมล็ดข้าวจะมีสีขาวขุ่น มีรอยแตกหักบ้างเล็กน้อย

เมล็ดข้าวไม่เกาะติดกัน เพราะมียางข้าวน้อย และจะแข็งกว่าข้าวใหม่

นับแต่สมัยพุทธกาล พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า ข้าวคือเมล็ดพืชพันธุ์ที่มีความเกี่ยวพันกับศาสนา ไม่ว่าการเข้าพรรษา การถวายข้าวมธุปายาส

และเรื่องราวของข้าวยังเป็นต้นเรื่องของประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมอีกมากมายหลากหลายในพื้นที่แหล่งเพาะปลูกข้าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีประเพณี พิธีกรรม ที่ร้อยเรื่องราวของข้าวเชื่อมโยงกับความเชื่อ ศาสนา และรูปแบบวิถีเผ่าพันธุ์ท้องถิ่น

ดินแดนล้านนามีการถวายทานข้าวใหม่ ในวันเพ็ญเดือน 4 เหนือ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และบางที่ก็มีชื่อเรียกเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น เช่น ตานข้าวใหม่ ตานข้าวล้นบาตร หรือ ตานดอยข้าว เป็นต้น

ในการตานข้าวใหม่ คือมีการถวายทานข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวนึ่ง หรือนำข้าวไปทำเป็น ข้าวหลาม ข้าวหนุกงา (ข้าวผสมกับงาขี้ม้อน) ข้าวจี่ และขนมต่างๆ ที่ทำจากข้าว เช่น เข้าหนมปาด เข้าหนมเกลือ เข้าหนมจ็อก (ขนมเทียน) เข้าต้มกะทิ (ข้าวต้มมัด)

โดยเรียกชื่อประเพณีให้คล้องจองกัน เพื่อจำง่าย ว่า “เดือนสี่ตานเข้าจี่เข้าหลาม”

ประเพณีการถวายทานข้าวใหม่ถือเป็นกุศโลบายของคนโบราณล้านนา ที่สอดแทรกคำสอนลูกหลานให้มีความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ โดยอาศัยฤดูหลังการเกี่ยวข้าวเป็นช่วงทำบุญดังกล่าว

นอกจากการไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และนำข้าวเปลือก ข้าวสาร ที่ได้จากการเก็บเกี่ยวไปถวายพระสงฆ์แล้ว

ส่วนหนึ่งก็นำไปให้ญาติผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ที่บุคคลเหล่านี้ได้บุกเบิกแผ้วถางผืนป่าที่รกร้าง มาเป็นท้องทุ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวกล้า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมายังชนรุ่นหลัง

ในช่วงหน้าหนาว หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวนี้มักจะได้ยินคำว่า “หอมข้าวใหม่” เป็นกลิ่นหอม เป็นประเพณี และเป็นฤดูกาลการบริโภคข้าวใหม่ เพราะนอกจากกลิ่นหอมหวาน ความอ่อนนุ่มของข้าวนึ่งแล้ว ยังมีงาขี้ม้อน ได้กินข้าวหนุกงา มีไม้ข้าวหลาม ได้กินข้าวหลามที่ทำจากข้าวใหม่ เป็นข้าวหลามที่หอมกรุ่น อร่อย ยิ่งนั่งล้อมวงผิงไฟแก้หนาวไปด้วย เผาข้าวหลามไปด้วย เป็นความสุข เป็นความอร่อยที่หาได้ปีละครั้งเท่านั้น

ข้าวใหม่ จึงเป็นตัวแทนของวิถีชุมชนและธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน โดยมีพิธีกรรม ประเพณี ความเชื่อและศาสนา มาเชื่อมโยง รวมทั้งเป็นการแสดงความกตัญญูถึงคุณบิดามารดาผู้ล่วงลับ คุณของชาวนาชาวไร่ คุณธรรมชาติ ผืนดิน สายน้ำและฤดูกาลที่ให้ความอุดมสมบูรณ์ ในการอยู่ดีกินดีของผู้คนเหล่านั้น

วันเริ่มต้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 4 เหนือ หรือ “วันสี่เป็ง” จึงมีผู้นำข้าวใหม่ไปทำบุญตักบาตร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว