ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ประโยคนี้คุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก วันเวลาล่วงมากว่า 60 ปีแล้ว ได้ยินข่าวชาวนาเพียงไม่กี่คนที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตจนกลายเป็นชาวนาเงินล้าน
ส่วนชาวนาอีก 10 กว่าล้านคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกตราหน้าว่าชาวนาไทยยากจนที่สุดในเอเชีย
ทำไมชาวนาไทยซึ่งมีอยู่ราว 17 ล้านคน ปลูกข้าวได้ปีละ 31-32 ล้านตันถึงยากจน ยิ่งปลูกข้าวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจนลงกว่าเดิม? นี่เป็นคำถามสุดคลาสสิค
การปลูกข้าวไทยในปัจจุบันมีต้นทุนสูงมาก ปี 2565 ต้นทุนปลูกข้าวอยู่ที่กิโลกรัมละ 12.33 บาท หรือตกราวๆ 5,893 บาทต่อไร่ เอาไปขายให้โรงสีได้ 13.26 บาท/กิโลกรัม รายได้จริงถึงมือชาวนาแค่ กิโลกรัมละ 93 สตางค์
ชาวนาไทยใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยากำจัดแมลงและศัตรูพืช สิ้นเปลืองอย่างไร้เหตุผล
การปลูกข้าวแต่ละครั้งชาวนาซื้อยาฆ่าหญ้า ยากำจัดแมลงและศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี เฉลี่ยแล้ว 4,700 บาทต่อไร่ มีที่นา 10 ไร่ ต้องใช้เงินเพื่อซื้อปุ๋ยและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช 47,000 บาท
ขณะเดียวกัน รัฐบาลในอดีต พากันเน้นนโยบายประชานิยม ทั้งประกันราคาข้าว จำนำข้าว เอาเงินรัฐมารับซื้อข้าวล่วงหน้าในราคาที่แพงกว่าท้องตลาด
ผลที่ตามมารัฐบาลสูญเงินเป็นแสนล้านบาทกับสต๊อกข้าวในโกดังที่รับจำนำเอาไว้จนกลายเป็นหนังม้วนยาวว่าจะจัดการอย่างไรกับข้าวเก่าที่ค้างโกดังเป็น 10 ปี
ผลเสียอย่างที่สอง รัฐบาลไม่พยายามผลักดันให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิต ในทางตรงกันข้าม กลับส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์ข้าวที่ใช้สารเคมีเยอะๆ ปุ๋ยเคมีมากๆ
ส่วนชาวนาเองไม่กระตือรือร้นแสวงหากระบวนการผลิตใหม่ๆ ที่ทำให้ต้นทุนลดลงและการปนเปื้อนสารพิษในข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระแสทุนนิยมครอบงำให้เกิดความเชื่อว่าการเพิ่มผลผลิตต้องใช้ปุ๋ยเคมีเร่ง ใช้สารฆ่าหญ้าฆ่าแมลงเพื่อให้ได้ข้าวมีคุณภาพ
ปรากฏว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยแค่ 478 กิโลกรัมต่อไร่ หรือโตแค่ 0.1% เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โตขึ้น 1.2% ผลผลิตไร่ละ 972 กิโลกรัม กัมพูชามีผลผลิตสูงกว่าไทย โตขึ้น 1.5% มีผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 561 กิโลกรัม
ขณะเดียวกันผลตรวจสอบสารตกค้างปนเปื้อนในผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นทุกปี
นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เอาตัวอย่างข้าวจากสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา แหล่งผลิตข้าวใหญ่ของไทยไปตรวจสอบต่อเนื่อง 2 ครั้ง
ครั้งแรก ในฤดูนาปี/นาปรัง ระหว่างปี 2563-2564 จำนวน 160 ราย/ตัวอย่าง
ครั้งที่ 2 ในฤดูนาปี/นาปรัง ปี 2564/2565 จำนวน 90 ราย/ตัวอย่าง
การตรวจสอบใช้เครื่องลิควิดมาโทกราฟี-แมสสเปคโทรมิเตอร์ และเครื่องแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปคโทรมิเตอร์ เพื่อวิเคราะห์หาสารตกค้างของสารเคมีฆ่าแมลงและโรคข้าว จำนวน 79 สาร
ผลตรวจสอบพบว่า ตัวอย่างข้าวของฤดูนาปี/นาปรัง พ.ศ.2563/2564 มีสารตกค้าง 43 ตัวอย่าง
ตัวอย่างข้าวฤดูนาปี/นาปรัง ปี 2564/2565 มีสารตกค้าง 46 ตัวอย่าง
สารเคมีปนเปื้อนในเมล็ดข้าวมากที่สุด ชื่อ propiconazole ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคเมล็ดด่าง และใบจุดสีน้ำตาล ชาวนาจะใช้สารดังกล่าวในระยะข้าวสุกแก่
ส่วนสารเคมีกำจัดศัตรูข้าวที่ตรวจพบ มีหลายชนิด ได้แก่ chlopyrifos, omethoate, triazophos, 3-hydroxycarbofuran, carbaryl, carbofuran, propoxur, oxamyl, permethrin และ ethiprole
สารเคมีป้องกันกำจัดโรคข้าว ได้แก่ cyproconazole, carbendazim, tebuconazole, thiophanate-methyl และ tricyclazole
สารพิษทั้งหมดนี้ที่พบในตัวอย่างข้าว มีปริมาณสารตกค้างเกินข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRLs) ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และสหภาพยุโรป หรืออียู
นักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ชี้ว่าต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การตกค้างในผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่อง และยังแนะนำการใช้ยาฆ่าแมลงโรคข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
แต่คำแนะนำของนักวิจัยชุดดังกล่าวไม่เห็นรัฐบาลหรือใครที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปรับปรุง
ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของ คุณเดชา ศิริภัทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวนา ได้รู้ว่าต้นตอปัญหาของชาวนาไทยทำไมจึงยากจน มีหนี้สินล้นพันตัวและใช้สารเคมีอย่างพร่ำเพรื่อ
คุณเดชาวิพากษ์วิจารณ์ชาวนาในปัจจุบันว่า ถูกล้างสมองจนคิดอะไรไม่ออก และขาดองค์ความรู้
ชาวนาทุกวันนี้ไม่รู้ว่าพันธุ์ข้าวไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร เพียงแค่ได้ยินคนเขาบอกว่าดีก็เชื่อแล้ว
ถามว่าปุ๋ยเคมีรู้มั้ย ไม่รู้ ตัวสารเคมีในปุ๋ย NPK คืออะไร 16-20-0 หมายถึงอะไร ข้าวต้องการแร่ธาตุกี่ตัว เป็นกรดเป็นด่างยังไง ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าก็ไม่รู้ ชาวนาไม่รู้ทั้งสิ้น
ภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างปลูกข้าวพื้นบ้านเช่นข้าวนางมน เมื่อก่อนชาวนาจะรู้ว่า ข้าวนางมนมีลักษณะนิสัยอย่างไร ชอบน้ำแบบไหน อายุเท่านี้มีความสูงเท่าไหร่ ข้าวบางพันธุ์ไม่ชอบปุ๋ย ต่อให้ใส่ปุ๋ย ผลผลิตก็ไม่เพิ่ม
การทำนาในปัจจุบันกับทำนาในสมัยโบราณต่างกันมาก สมัยโบราณใช้ข้าวพื้นบ้าน ปลูกปีละหน ใช้ควายไถนา หว่านเมล็ดข้าวให้โตเอง พอน้ำท่วมก็ปล่อยให้จม เมื่อน้ำลดก็เก็บเกี่ยว
วิธีการแบบนี้ทำมาเป็นพันปีไม่เป็นไร เพราะไม่ใช้ปัจจัยอะไรเลย เกี่ยวข้าวได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้จะได้กำไรน้อยแต่ได้เท่าไหร่ก็เป็นกำไรหมด
ราวๆ ปี 2512 รัฐบาลแนะนำให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ กข.1 เป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ทั้งปี แต่ถ้าน้ำท่วมจะปลูกไม่ได้เพราะต้นข้าวไม่จมน้ำ ก็กลายเป็นว่า แทนที่ปลูกหน้าฝนถึงหน้าน้ำ ก็เปลี่ยนมาปลูกหน้าแล้งตลอด พอถึงหน้าน้ำหลากจะมาก็เลิกปลูก
ข้าวพันธุ์ใหม่ปลูกปีละ 2 ครั้ง ปลูกในช่วงหน้าแล้ง 8 เดือน ได้ 2 ครั้ง ยิ่งพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมและมีชลประทานมาถึงจะปลูกได้ทั้งปี หรือปีละ 3-4 ครั้ง ต่างกับพันธุ์ข้าวพื้นบ้านปลูก 4 เดือนได้ครั้งเดียว
พันธุ์ข้าวใหม่นี้นำการเปลี่ยนแปลงมาเนื่องจากปลูกได้ปีละหลายๆ หนและผลผลิตสูง แต่ผลผลิตสูงก็ต้องการปัจจัยเยอะ ปุ๋ยเคมีเข้ามา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนต่างๆ ก็มา และตามด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
รัฐบาลเอาพันธุ์ข้าวใหม่มาแลกเอาพันธุ์ข้าวเก่าไปเก็บเพื่อให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวใหม่แทน ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวเก่า ตอนนี้ชาวนาไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านกันแล้ว
การปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ นำไปสู่ปัญหาชาวนามีหนี้มากขึ้น ทำนาแล้วลูกหลานทิ้งบ้านหนี ทำนาแล้วมีแต่ขายนา
แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า เมื่อชาวนาช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที ตัวเองไม่รอดยังเดือดร้อนคนอื่นด้วย
ปราชญ์ชาวนายกตัวอย่าง ชาวนาแถวสุพรรณบุรี ถ้าทำนาปรัง 3 ครั้ง มีหนี้เป็นล้าน แต่ทำนา 2 ครั้ง มีหนี้เป็นแสน ถ้าทำครั้งเดียวมีหนี้เป็นหมื่น เรียกว่า “ยิ่งทำหนี้ยิ่งเยอะ”
เพราะยิ่งทำก็ได้เครดิตหรือสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งมีหนี้มาก แต่รายได้ไม่เพียงพอ เพราะตัวเองขาดทุนอยู่แล้วจากการทำนาใช้ต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงเกิดโรคแมลงสูง เนื่องจากใช้วิธีเคมี ไม่ใช้ธรรมชาติ ทำให้โรคแมลงดื้อง่าย
ปัญหาของชาวนาคือ มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และข้าวคุณภาพไม่ดี ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะอันตราย ไม่อร่อย ต้องซื้อข้าวกิน ต้องพึ่งตลาด และตัวเองยังได้รับสารเคมีจากการทำนา มีโอกาสเป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน และเป็นโรคสารพัดเต็มไปหมดยิ่งกว่าคนเมืองเสียอีก
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิขวัญข้าว มองอนาคตชาวนาไทยอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ ความมั่นคงทางอาหารก็จะไม่มี
ข้าวนั้นเป็นบ่อเกิดทางวัฒนธรรม บ่งบอกความเป็นชาติ ถ้าไม่มีข้าว วัฒนธรรมก็สูญ และจะสูญชาติไปด้วย
คุณเดชาชี้แนะทางสว่างของชาวนาด้วยการปลูกข้าวถูกวิธี แนะแนวการลดสารเคมี ลดการปนเปื้อนพิษในสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเป็นอย่างไรมาว่ากันต่อฉบับหน้า •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022