ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
เผยแพร่ |
การนินทาพฤติกรรมของผู้อื่น ได้แก่ กรณีพิพาทระหว่างเมียสองคนของพระไวย คือ นางศรีมาลา กับนางสร้อยฟ้า ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”
วันที่เกิดเรื่อง พลายชุมพลเล่นหมากรุกกับพระไวย พนันกันว่าถ้าน้องแพ้ จะให้ถอนขนตา ถ้าพี่แพ้ จะเลี้ยงขนมเบื้อง พระไวยจึงให้ศรีมาลาและสร้อยฟ้าทำขนมเบื้องคนละกระทะเพื่อประชันฝีมือกัน
นางศรีมาลาเป็นคนภาคกลาง ทำขนมเบื้องได้ดี ตรงกันข้ามกับคนเชียงใหม่อย่างนางสร้อยฟ้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า
“เชียงใหม่ เป็นเมืองที่ไม่กินขนมเบื้อง และทำไม่เป็นเอาเลยทีเดียว จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ที่เมืองเชียงใหม่ก็ยังหาขนมเบื้องกินยาก จะมีก็ต้องมีคนภาคกลางขึ้นไปทำ”
เมื่อเมียทั้งสองของพระไวยต่างลงมือทำขนมเบื้อง ผลปรากฏว่า
“ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี”
ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่จากน้องผัว ผัว และย่าผัว
“พลายชุมพลจึงว่าพี่สร้อยฟ้า ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ พลายชุมพลดิ้นหลบหัวร่อไป”
ตามมาด้วยเสียงเยาะเย้ยจากบ่าวของศรีมาลา เสียงล้อเลียนของพลายชุมพล และเสียงก่นด่าของนางทองประศรี ทำให้สร้อยฟ้า ‘ขัดใจแทบน้ำตาจะเล็ดไหล’
ตกค่ำพระไวยคิดถึงศรีมาลาก็ไปหา ให้เมียดับตะเกียงนอน นางบ่ายเบี่ยงว่า ผู้คนยังตื่นกันอยู่ทั้งบ้าน จะมาทำอะไรๆ กันได้อย่างไร น่าอายนัก
“พระไวยปลอบว่าเจ้าอย่างอน ความรักพี่นี้ร้อนดังไฟเรือง
ศรีมาลาว่าชะช่างร้อนจิต พระอาทิตย์ยังไม่ดับลับแสงเหลือง
เด็กเด็กมันยังตื่นครื้นทั้งเมือง ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร”
ข้อความว่า ‘ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร’ มาจากสำนวนไทยว่า ‘ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก’
คือพูดง่ายเหมือนทำขนมเบื้องด้วยปาก หมายความว่า ดีแต่พูด พูดได้ แต่ทำไม่ได้ ศรีมาลาเจตนาจะว่าพระไวยที่พูดง่ายๆ
ฝ่ายสร้อยฟ้าอยู่อีกห้องหนึ่ง ได้ยินแว่วๆ ว่า ‘ขนมเบื้อง’ อีกทั้งเมื่อตอนบ่ายก็เพิ่งทำขนมเบื้องกันไปหยกๆ เป็นเรื่องที่เคืองใจสร้อยฟ้าอยู่แล้ว พอนางได้ยินคำว่า ‘ขนมเบื้อง’ เท่านั้นก็โกรธจัด คิดว่าศรีมาลาด่ากระทบ
“ฝ่ายสร้อยฟ้าแว่วว่าขนมเบื้อง ให้แค้นเคืองปวดปอดตลอดไส้
วับดังดินประสิวปลิวถูกไฟ เข้าใจว่าศรีมาลานินทาตัว”
ความเข้าใจผิดทำให้เกิดการต่อว่าด่าทอระหว่างสองนาง บ่าวของแต่ละคนช่วยกันประสมโรงสุมไฟให้เรื่องราวลุกลามใหญ่โต ต่างหยิบเอาจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายมาเล่นงาน หลังจากศรีมาลาอดทนข่มใจฟังสร้อยฟ้าอาละวาดด่าเสียดสีว่ามีอะไรๆ กับพระไวยบ่อยๆ ‘ช่างชะอ้อนวอนร่ำทั้งสำออย จึงปรอดปร้อยไม่รู้แห้งจุ๊บแจงเอย’ ศรีมาลาจึงโต้กลับอย่างเจ็บแสบถึงที่มาของสร้อยฟ้าก่อนจะเป็นเมียพระไวย
“ยิ่งนิ่งก็ยิ่งว่าสารพัด นี่จะซัดเสียให้หมดเจียวฤๅเรา
ทำไมไม่เป็นเจ้าขึ้นในบ้าน ใครขัดสนจะได้คลานมาพึ่งเจ้า
อย่าเพ่อเหยียบเสียให้ยับจนสับเงา มิได้ตีเมืองเรามาเป็นน้อย”
ข้อความว่า ‘มิได้ตีเมืองเรามาเป็นน้อย’ เท่ากับจงใจด่ากระทบสร้อยฟ้าว่าเป็นเมียน้อยเมียเชลยมาจากการทำสงคราม เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่พ่ายศึก จึงถวายพระธิดาทั้งสองแด่สมเด็จพระพันวษา พระองค์ทรงรับเพียงนางสร้อยทอง และประทานนางสร้อยฟ้าให้พระไวย คำพูดของศรีมาลาทำให้สร้อยฟ้าโกรธจนตัวสั่น โดดผางออกมากลางเรือน ชี้หน้าด่าพร้อมกับโพนทะนาพฤติกรรมของศรีมาลาที่ได้เสียกับพระไวยตอนยกทัพ ไม่ใส่ใจความถูกต้องตามประเพณี
“จริงอยู่คะข้ามันเชลยเมือง อย่ายกเรื่องเลยเขาลือออกอื้อฉาว
พอกองทัพไปถึงอึงเกรียวกราว ค่ำลงเขาจับฉาวที่ในเรือน
ทัพกลับก็จับเชลยซ้ำ ช่างปิดงำความร้ายให้หายเงื่อน
สงวนพรหมจารีมิต้องเตือน พอดึกหน่อยก็ค่อยเคลื่อนเข้าไปเอง”
พอโดนสะกิดแผลเก่าที่เป็นปมในใจ ศรีมาลาก็ฟิวส์ขาด ด่าสวนสร้อยฟ้าว่า
“ปากบอนค่อนขอดลอดนินทา ตบหน้าตบมึงเสียให้ได้
เมื่อผัวจะไม่เลี้ยงก็แล้วไป จะเฆี่ยนตีสักเท่าใดก็ตามบุญ”
ก่อนหน้านี้สร้อยฟ้าเป็นผู้ฟัง ตกที่นั่ง ‘คนถูกนินทา’ เพราะ ‘เข้าใจว่าศรีมาลานินทาตัว’
มาตอนนี้สร้อยฟ้ากลับเป็น ‘คนนินทา’ เสียเองตามที่ศรีมาลาด่าว่า ‘ปากบอนค่อนขอดลอดนินทา’ แสดงให้เห็นว่าบทบาทเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์
นอกจากนี้ การนินทาอาจเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง หรือเกิดจากคนจำนวนมากก็ได้ ดังตอนที่นางวันทองขอร้องพระไวยช่วยขุนช้างให้พ้นโทษประหาร
“ถึงขุนช้างชั่วช้าเหมือนหมาหมู เขาก็รู้อยู่ทั่วว่าผัวแม่
จะนิ่งเสียทีเดียวไม่เหลียวแล ก็ตั้งแต่คนเขาจะนินทา”
‘คนเขาจะนินทา’ ก็คือคนทั้งหลายที่รู้ว่าขุนช้างคือผัวแม่ จะนินทาทั้งแม่และพระไวย ถ้าปล่อยให้ขุนช้างถูกประหารโดยไม่คิดช่วยเหลือ
ยิ่งไปกว่านั้น ‘อคติ’ หรือความลำเอียง 4 อย่าง ไม่ว่าจะลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะเขลาหรือหลงผิด รวมทั้งลำเอียงเพราะกลัว ล้วนสัมพันธ์กับการนินทาทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จาก “โคลงโลกนิติ” บทที่ 166
“คนรักมีมากไซร้ แสดงผล
ชังมากนินทาตน โศกเศร้า
รักมากเมื่อกังวล วานช่วย กันนา
ชังมากมักรุมเร้า กล่าวร้ายรันทำ”
กรณีนางวันทองขอให้ลูกชายยอมช่วยขุนช้าง (ทั้งๆ ที่พระไวยเกือบจะตายด้วยน้ำมือพ่อเลี้ยงตั้งแต่สมัยยังเด็ก) ก็เป็นผลจากลำเอียงเพราะรักขุนช้างนั่นเอง โคลงบทนี้ชี้ให้เห็นว่าปริมาณการถูกนินทาเกี่ยวข้องกับจำนวนคนเกลียดชังโดยตรง มีคนเกลียดมากก็นินทามาก
โดยเฉพาะลำเอียงเพราะรักนั้น ระหว่างการรักตนเองกับการรักผู้อื่นเทียบกันไม่ได้ และไม่ควรนำมาเทียบ ธรรมชาติมนุษย์มักลำเอียงเข้าข้างตัวเองเสมอ ความผิดของตนแม้ใหญ่หลวงหรือมากมายเพียงใด ก็มองไม่เห็น หรือเห็นไม่ถนัดชัดเจนเท่าความผิดเพียงเล็กน้อยของผู้อื่น ดังที่ “โคลงโลกนิติ” บทที่ 165 บรรยายว่า
“โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายศูนย์” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
โคลงบทนี้มีใครก็ไม่ทราบเอามาแปลงเป็นกลอน จดจำกันต่อๆ มาว่า
“โทษคนอื่นเห็นใหญ่เท่าภูผา โทษของตนตนเห็นเท่าเส้นขน
ตดคนอื่นเหม็นเบื่อนั้นเหลือทน ตดของตนถึงเหม็นไม่เป็นไร” •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022