เชื่อรัฐบาลเถอะ… ไทย ‘เป็นกลาง’ จริงๆ!

สุทธิชัย หยุ่น

พอนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เอ่ยในที่สาธารณะว่าประเทศไทยจะ “เป็นกลางแบบสวิตเซอร์แลนด์” ก็ย่อมสร้างความตื่นเต้นไปทั้งในประเทศและเวทีระหว่างประเทศ

ตื่นเต้นได้ไม่กี่นาที ก็เกิดความสงสัยว่า “มันคืออะไรหรือ?”

และเพื่อรักษาความรู้สึกตื่นเต้นนั้นเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ผมก็ไปหาความหมายของ “ความเป็นกลาง” และ “สวิตเซอร์แลนด์”

เริ่มต้นก็ต้องไปคัดลอกประโยคที่คุณเศรษฐา ทวีสิน พูดที่งาน SUBCON Thailand 2024 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นายกฯ เริ่มด้วยการบอกว่าปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และสรุปว่าเราต้อง “เป็นกลาง”

“ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน การลงทุนตรงนี้ ผมถือว่า เป็นเรื่องให้ประโยชน์ไม่ใช่แค่การค้าเพียงอย่างเดียว จะเป็นเครื่องมือทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง มีความเป็นกลาง เป็นเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย ถ้าเกิดใครทะเลาะกับใคร เราไม่สนใจ เราค้าขายอย่างเดียว เราอยากให้ประเทศมีความมั่นคงตรงนี้ เรายืนยันว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่สำคัญมากกว่าการซื้อเรือดำน้ำ หรือเครื่องบินด้วยก็ตามที”

พออ่านรายละเอียดก็เริ่มงง

ไม่ได้งงเฉพาะเรื่องไทยจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น แต่ผมเริ่มสับสนกับที่นายกฯ บอกว่าโครงการแลนด์บริดจ์ “สำคัญกว่าการซื้อเรือดำน้ำและเครื่องบิน”

นั่นแปลว่านายกฯ จะสร้างแลนด์บริดจ์ก่อนซื้อเรือดำน้ำและเครื่องบิน?

หรือความจริงท่านไม่ได้ต้องการจะสื่ออย่างนั้น เพียงต้องการจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพว่าเรื่องพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์สำคัญกว่าการซื้อหาอาวุธ?

หรือท่านต้องการจะบอกว่าท่านเห็นเศรษฐกิจมาก่อนเรื่องความมั่นคง?

หรือนายกฯ ประเทศไทยต้องการพูดให้ผู้คนงงเล่น เพื่อให้อ่านไพ่ของไทยไม่ออก?

หรืออะไรต่อมิอะไรที่ยังต้องมีการวิเคราะห์กันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แต่เรื่อง “ความเป็นกลาง” แบบสวิตเซอร์แลนด์นี่ซิที่จำเป็นต้องแกะให้ชัดเจน

มิฉะนั้น คนไทยและต่างประเทศจะถกเถียงกันเองว่านายกฯ หมายความว่าอย่างไร

เอาที่ตีความกันแบบพื้นบ้านก่อน ไม่ต้องอินเตอร์อะไรมาก

ท่านคงต้องการบอกว่าใครจะทะเลาะกับใคร เราไม่สนใจเพราะเราจะ “ค้าขาย” อย่างเดียว

พูดให้สอดคล้องกับความเป็นเซลส์แมนเบอร์หนึ่งของประเทศเลยทีเดียว

แต่ก็มีคนทักว่า “เซลส์แมน” ที่จะขายของได้ต้องไม่ใช่บอกว่าไม่สนใจว่าใครจะขัดแย้งกับใครหรือใครจะมีผลประโยชน์อย่างไร

เซลส์แมนที่ก้มหน้าก้มตาขายของอย่างเดียวโดยแยกไม่ออกว่าใครมีปัญหาอะไรกับใคร ใครมีจุดยืนอย่างไร ใครมีอำนาจต่อรองมากกว่าใครคงจะถูกมองว่า “ไร้กึ๋น”

ไม่มีใครอยากคบ “คนขายของ” ที่ไม่มีความเข้าใจในความเป็นไปรอบๆ ตัว

เพราะแวดวงการทูตนานาชาติเขาเชื่อว่าถ้าประเทศไหนบอกว่า “เป็นกลาง” ก็เท่ากับ “ไม่มีจุดยืน”

เผลอๆ จะถูกมองว่า “ไม่มีกระดูกสันหลัง”

อันหมายความว่าไร้ความเข้าใจในสถานการณ์ ไม่มีหลักไม่มีการในความคิดความอ่าน

ถ้าถูกตีความอย่างนี้ ไทยก็เสียหาย

ไปๆ มาๆ จะไม่มีใครไว้วางใจเลย

เพราะประเทศเล็กๆ ที่เขาสามารถยืนอยู่ในเวทีระหว่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจนั้นคือชาติที่มี “หลักปฏิบัติ” ที่สากลยอมรับ

นั่นคือต้องยึดกฎหมายระหว่างประเทศ, เคารพในความศักดิ์สิทธิ์ของกฎบัตรสหประชาชาติ, ยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและนิติรัฐ

ถ้าไทยประกาศว่าจะ “ทำมาหากินอย่างเดียว” ไม่สนใจว่าใครกระทำอะไรต่อใคร ก็แปลว่าเราไม่มีจุดยืนในเรื่องที่ชาวโลกเขาถือเป็นเสาหลักแห่งความยุติธรรม

ใครยกทัพไปยึดดินแดนของใคร เราก็ไม่สน

ใครเข่นฆ่าประชาชนของตนและประเทศอื่นก็ไม่แคร์

ใครมีพฤติกรรมคอร์รัปชั่นเราก็ยอมรับได้

ใครส่งอาวุธให้ใครไปทำสงครามกับใคร เราก็บอกว่าไม่เกี่ยวกับเรา

ถ้า “เป็นกลาง” อย่างนี้ สงสัยจะไม่มีใครคบ…นอกจากพวกทุนสีเทา

 

สวิตเซอร์แลนด์ประกาศนโยบาย “เป็นกลาง” แบบมีหลักการแห่งธรรมาภิบาลเต็มตัว

เขาไม่ได้บอกว่าจะทำมาค้าขายอย่างเดียว ไม่สนใจว่าใครขัดแย้งกับใครด้วยเหตุผลอันใด

พอมีเรื่องประเทศใดประเทศหนึ่งรุกรานอีกประเทศหนึ่ง เขาก็ต้องแสดงจุดยืนไม่ยอมรับ

ประเทศไหนโกงกินหรือโยงกับกิจกรรมค้ามนุษย์หรือฟอกเงิน เขาต่อต้านอย่างเปิดเผย

เพราะคำว่า “เป็นกลาง” ไม่ได้แปลว่า “ไร้จุดยืน” หรือ “ตาบอดสี”

และก่อนที่เราจะประกาศนโยบาย “เป็นกลางแบบสวิตเซอร์แลนด์” ก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าการที่เราจะ “เป็นกลาง” หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่เราประกาศเอง

อยู่ที่ประเทศอื่นเขามองว่าเรา “เป็นกลาง” หรือเปล่า

เหมือนที่เราพยายามจะบอกว่าอะไรของเราคือ Soft Power นั่นแหละ

มันไม่ได้อยู่ที่เราจะประกาศก้องไปทั่วโลกว่านี่นั่นคือ Soft Power ของไทย

อยู่ที่ว่าคนอื่นเขาเห็นว่ามันเป็น Soft Power หรือเปล่า

ต่อให้ออกแถลงการณ์ยาวเหยียดแค่ไหน จะตะโกนดังก้องไปทั่วโลกอย่างไร “ความเป็นกลาง” ของประเทศนั้นๆ ก็ต้องมาจากการยอมรับของคนอื่น

ไม่ใช่เอาป้าย “ฉันเป็นกลาง” มาแปะให้ที่หน้าผากตัวเองแล้วคาดหวังว่าคนอื่นจะต้องเชื่อตาม

 

เพื่อนของเราในอาเซียนก็ยังไม่มีประเทศไหนที่ประกาศขึ้นป้าย Neutral ที่หน้าบ้าน

เขาทำให้มหาอำนาจยอมรับและเคารพในความเป็นชาติอธิปไตยของเขาด้วยการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคมและความมั่นคง

นั่นคือการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ของตัวเองจากข้างในก่อน

และเพื่อไม่ให้ถูกลากเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งของมหาอำนาจ เขาก็แสดงจุดยืนให้เห็นชัดเจนว่าเขาจะตัดสินในโยบายของเขาบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

บางเรื่องเขาอาจจะจับมือกับมหาอำนาจข้างหนึ่ง

อีกบางเรื่อง เขาก็อาจจะประสานประโยชน์กับอีกข้างหนึ่ง

และอีกหลายเรื่องก็อาจจะร่วมมือกับทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดดุลยภาพที่เหมาะสม

และด้วยการดำเนินนโยบายแบบมืออาชีพ เขาจะไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าโอนเอียงอย่างถาวรและเต็มตัวไปอีกด้านหนึ่ง

เพราะนั่นย่อมสร้างความระแวงสงสัยให้กับทั้งสองฝ่าย และเป็นการจำกัดทางเลือกของนโยบายของตน

ตรงกันข้าม หากประเทศใดประกาศว่า “ฉันเป็นกลาง” ก็จะถูกมหาอำนาจทั้งสองข้างตั้งคำถามว่า “นี่แปลว่าคุณไม่อยู่ข้างเราใช่ไหม”

ทั้งๆ ที่ประเทศนั้นอาจไม่ได้ตั้งใจให้เห็นเช่นนั้น

ก็เท่ากับสร้างความซับซ้อนและสับสนให้กับตนเองโดยใช่เหตุ

แทนที่จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ที่ “เท่และโดดเด่น” (อย่างที่ผมเดาว่าคุณเศรษฐาต้องการจะทำ) จะกลายเป็นสร้างปมปัญหาให้กับตนเอง

แต่ถ้าอยากจะรู้จริงๆ ว่าทำไมจึงมีศัพท์แสงคำว่า Neutrality ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เราก็ต้องลงลึกในพฤติกรรมแห่ง “การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ในมิติของนโยบายต่างประเทศท่ามกลางความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ

สัปดาห์หน้ามาแคะคุ้ยกันว่า “ความเป็นกลาง” นั้นมันมีที่มาที่ไปในตำรารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่าอย่างไร

เตือนไว้ก่อนว่าเป็นหัวข้อ “ซับซ้อนซ่อนเงื่อน”… เกินกว่าที่รัฐบาลไทยวันนี้จะวางแผนหรือบริหารจัดการได้

เพราะเรื่องง่ายกว่านี้ยังสร้างความงุนงงมามากมายแล้ว!