‘แมว’ ฉลาดกว่า ‘หมา’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

หากมองจากเปลือกนอกแล้ว ดูเหมือนแมวจะเป็นสัตว์เย็นชา ที่แม้จะขี้อ้อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ต่างจากหมาที่ดูจะ Alert และเจ๊าะแจ๊ะตลอดเวลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกที่ว่า หมามีความจงรักภักดี และผูกพันกับเจ้าของมากกว่า

แต่ทฤษฎีนี้ “กำลังจะถูกล้ม” ด้วยผลการศึกษาจาก Oregon State University สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Current Biology ครับ

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวชี้ว่า แมวมีความรู้สึกผูกพันกับเจ้าของอย่างเหนียวแน่น ไม่ต่างไปจากหมาแต่อย่างใด

การทดลองครั้งนี้ กำหนดให้ลูกแมว 70 ตัว กับเจ้าของ เข้าร่วมกิจกรรมที่ใช้เวลาครั้งละ 6 นาที โดยใน 2 นาทีแรก จะให้ลูกแมวและเจ้าของอยู่ด้วยกันในห้องที่พวกเขาไม่เคยเข้าไปมาก่อน

จากนั้น จะให้เจ้าของออกจากห้อง โดยทิ้งลูกแมวไว้ตามลำพัง 2 นาที ก่อนที่จะกลับเข้าห้อง มาอยู่กับลูกแมวอีกครั้งเป็นเวลา 2 นาทีเช่นเดิม

ผลการวิจัยพบว่า ลูกแมว 2 ใน 3 มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความผูกพันแบบรู้สึกมั่นคงปลอดภัย โดยพวกมันจะมีอาการเครียด และกระสับกระส่าย “ลดลงอย่างเห็นได้ชัด” เมื่อได้เจอหน้าเจ้าของที่กลับเข้าห้องมาอีกครั้ง

โดยลูกแมวจะแสร้งทำเป็นเดินสำรวจรอบห้อง แต่ท้ายที่สุดก็จะเดินมาหาเจ้าของ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อมีเจ้าของอยู่ด้วย

ชี้ให้เห็นว่า แมวส่วนใหญ่มีความผูกพันกับเจ้าของมากกว่าที่เราคิด

 

ผลการวิจัยได้บอกว่า แมวมี Mental Maps หรือ “แบบแผนทางจิตวิทยา” ไม่ต่างจากหมา ที่มองว่าเจ้าของคือผู้ปกปักรักษา ทำให้รู้สึกมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ เมื่อมีเจ้าของอยู่ใกล้ๆ

โดยมีการทดลองซ้ำแบบเดิมกับแมวที่โตเต็มวัย อายุ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 38 ตัว ซึ่งพบว่า แมวยังคงแสดงความผูกพันแบบรู้สึกมั่นคงปลอดภัยกับเจ้าของ จำนวน 2 ใน 3 เท่าเดิม

และทดลองครั้งสุดท้ายด้วยการนำลูกแมว 1 ใน 3 ที่ไม่แสดงพฤติกรรมความผูกพันจากการทดลองครั้งแรก มาเข้ารับการฝึกฝนให้เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นเวลา 6 สัปดาห์

แต่ก็พบว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมใดๆ เกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า ปัจจัยที่กำหนดรูปแบบความผูกพันระหว่างแมวกับเจ้าของ มาจากความสัมพันธ์ในช่วงต้นของการเลี้ยงดู รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น อารมณ์ และลักษณะนิสัยที่สืบทอดมาทางสายเลือดของแมว

มากกว่าจะขึ้นอยู่กับการฝึกฝน และสั่งสอนทักษะทางสังคมให้ในภายหลัง

เพราะเมื่อความผูกพันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว มันจะคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

 

อีกการทดลองหนึ่ง เป็นการทดสอบประสาทสัมผัสของแมวที่มีต่อเจ้าของ โดยใช้ Mental Maps หรือ “แบบแผนทางจิตวิทยา” เป็นตัวตั้งเช่นเดียวกัน

โดยนอกจากความรู้สึกผูกพันแล้ว Mental Maps ของแมว ยังคอยบอกพวกมันว่า เจ้าของอยู่ตรงไหน ผ่านความสามารถด้านการจดจำเสียงเจ้าของ ที่ไม่ว่าเจ้าของจะอยู่ที่ใดในบ้าน แต่แมวก็จะตามหาจนเจอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด

ความสามารถนี้เรียกว่า Socio-Spatial Cognition หรือ “ความเข้าใจมิติสัมพันธ์” และ Object Permanence ที่แปลว่า “รับรู้การคงอยู่ของสิ่งต่างๆ” แม้ไม่ได้มองเห็นตลอดเวลา

ดร. Saho Takagi นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจาก “มหาวิทยาลัยเกียวโต” ค้นพบว่า แมวสามารถรับรู้ได้ว่าเจ้าของอยู่ตรงไหนของบ้านโดยไม่จำเป็นต้องมอง

โดยแมวจะใช้เสียงในการรับรู้ เพื่อคาดเดาว่าเจ้าของอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีมานานแล้วว่า แมวเป็นสัตว์ที่หูดีมาก

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าแมวสามารถหาเหยื่อที่ซ่อนตัวอยู่ได้เสมอ ต่อให้อยู่ในสถานที่ หรือจุดอับที่มองเห็นได้ยาก

ดร. Saho Takagi บอกว่า แมวสามารถแยกเสียงได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างเสียงที่คุ้นเคย กับเสียงที่ไม่คุ้นเคย ออกจากกันได้

ทำให้สามารถหาวัตถุที่ซ่อนอยู่ได้ทุกสถานการณ์

โดย ดร. Saho Takagi ได้ทำการทดสอบ โดยให้เจ้าของอัดเสียงเรียกชื่อแมวเอาไว้ จากนั้นเอาเสียงมาเปิดหน้าประตูห้องที่แมวอยู่ และนำเสียงไปเปิดอีกสถานที่ที่ไกลออกไป

ผลการทดลองพบว่า แมวดูเหมือนจะตกใจมาก ว่าทำไมเสียงเจ้าของที่คุ้นเคยถึง Warp ไปหลายๆ ที่ได้

ดร. Saho Takagi ตั้งข้อสังเกตว่า แมวมีภาพในจินตนาการว่าเจ้าของจะต้องอยู่หน้าประตูจากเสียง และไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้ยินเสียงเจ้าของจากที่อื่นในเวลาเดียวกันอีก

การทดลองดังกล่าว ถือเป็นการค้นพบความสามารถพิเศษของแมว ว่าแมวสามารถสร้างแผนที่ในสมองจากเสียงได้

 

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจาก “มหาวิทยาลัยโซเฟีย” ได้พบหลักฐานที่ยืนยันว่า แมวอาจเข้าใจภาษามนุษย์มากกว่าที่เราคิด โดยพบว่าพวกมันรู้จักชื่อของตัวเอง แต่เลือกที่จะทำเป็นเฉยเมย เวลาที่ถูกมนุษย์เรียก

งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในสารสาร Nature ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับแมว วัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบว่า แมวสามารถเข้าใจถ้อยคำต่างๆ ในภาษามนุษย์หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมวรู้จักชื่อเรียกของพวกมันหรือไม่

ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito จึงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมแมวจำนวน 78 ตัว ทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้าน และที่คาเฟ่แมวในญี่ปุ่น

กระบวนการทดลองเป็นการเปิดเสียงคำพูดของมนุษย์ 4 คำ แล้วตามด้วยเสียงเรียกชื่อของมัน ทั้งที่เป็นเสียงจากเจ้าของ และเสียงเรียกของคนแปลกหน้า เพื่อดูว่าแมวจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร

ผลการวิจัยพบว่า กว่า 50% ของแมวที่เข้าร่วมการทดสอบ สามารถแยกแยะชื่อของตัวมันเองออกจากคำนามทั่วไปได้

โดยแมวจะแสดงท่าทางว่ามันรู้จักชื่อของตัวเอง เช่น กระดิกหู ขยับหัว หรือแม้แต่ส่ายหาง ไม่ว่าเสียงเรียกนั้นจะเป็นเสียงเจ้าของ หรือเสียงบุคคลอื่นก็ตาม

ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito ระบุว่า เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ซึ่งสามารถทำให้เชื่อได้ว่า แมวจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อชื่อของตัวเอง

เพราะชื่อมีความสัมพันธ์กับการที่เจ้าของให้รางวัลต่างๆ เช่น อาหาร และการเล่นด้วย แม้แต่การลงโทษ ซึ่งรวมถึงการอาบน้ำ หรือการพาไปพบสัตวแพทย์

 

ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito บอกว่า งานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยให้เข้าใจความสามารถของแมวในการสื่อสารกับมนุษย์ และสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งแมว และมนุษย์ ต่อไปในอนาคต

เช่น เราอาจสอนให้แมวเรียนรู้จักวัตถุ หรือสถานที่อันตราย โดยใช้คำพูด และการเปล่งเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งได้

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito ยังพบว่า ในกรณีที่แมวอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่นที่คาเฟ่แมวนั้น พวกมันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเวลาที่ได้ยินเสียงเรียกชื่อแมวตัวอื่นด้วย

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ดร. Atsuko Saito ระบุว่า แม้แมวรู้ชื่อของตัวเองอย่างแน่นอน แต่พวกมันมักแสดงท่าทีเฉยเมย ไม่ยอมไปหาเจ้าของเวลาที่ถูกเรียก

ประเด็นนี้ ทำให้ชวนคิดต่อไปได้ว่า “แมว” ฉลาดกว่า “หมา” ตรงที่ “หมา” จะมีปฏิกิริยาทันที ทว่า “แมว” แม้จะรู้ว่าเรียก แต่กลับเฉย

พูดอีกแบบก็คือ “แมว” รู้ แต่ไม่ทำตามคำสั่ง ต่างจาก “หมา”