ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
รากเหง้าสภาอาชีพ (5)
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1789 ณ สนามเทนนิสในร่มของเอกชนใกล้พระราชวังแวร์ซายส์ กรุงปารีส หลังจากถูกกำลังทหารปิดกั้นไม่ให้เข้าห้องประชุมสมัชชานิติบัญญัติ Estates-General บรรดาตัวแทนสามัญชนแห่งฐานันดรที่ 3 ได้แยกตัวออกไปประชุมกันเองต่างหากแล้วพากันลงนามในคำปฏิญาณสนามเทนนิส (Le Serment de Jeu de paume) ซึ่งยกร่างขึ้นโดย อองตวน บาร์นาฟ กับ อีสาค เลอ ชาเปอลิเอร์ รวม 576 คนจากตัวแทนฐานันดรที่ 3 ทั้งสิ้น 577 คน ความว่า :
“โดยที่สมัชชาแห่งชาติพินิจพิจารณาว่าได้ถูกเรียกมาประชุมเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร เพื่อให้กำเนิดระเบียบสาธารณะขึ้นใหม่ และเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการอันแท้จริงของระบอบราชาธิปไตย จึงย่อมไม่มีสิ่งใดจะกีดขวางสมัชชาจากการดำเนินการประชุมพิจารณาสืบต่อไปได้ในสถานที่ใดก็ตามที่สมัชชาถูกบังคับให้ตั้งตนขึ้น และในที่สุดสมัชชาแห่งชาติย่อมดำรงอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตามซึ่งสมาชิกของสมัชชามารวมตัวกัน
“จึงขอประกาศิตให้สมาชิกทั้งปวงของสมัชชาแห่งนี้ถือสัตย์ปฏิญาณโดยพลันที่จะไม่มีวันแยกจากกันและจะประชุมกันขึ้นใหม่ ณ ที่ใดก็ตามแล้วแต่สภาพการณ์จะเรียกร้องจนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรจะถูกสถาปนาขึ้นและตั้งผนึกแน่นอยู่บนรากฐานอันเป็นปึกแผ่นมั่นคง และในเมื่อได้กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณนั้นแล้ว สมาชิกทั้งปวงและแต่ละคนโดยปัจเจกขอยืนยันความปักใจอันเด็ดเดี่ยวนี้ด้วยการลงนามของตน
“เราขอสาบานว่าจะไม่มีวันแยกตัวเราเองออกจากสมัชชาแห่งชาติ และจะประชุมกันขึ้นใหม่ ณ ที่ใดก็ตามแล้วแต่สภาพการณ์จะเรียกร้องจนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรจะถูกยกร่างขึ้นและผนึกแน่นอยู่บนรากฐานอันเป็นปึกแผ่นมั่นคง”
(จาก https://wp.stu.ca/worldhistory/wp-content/uploads/sites/4/2015/07/Tennis-Court-Oath.pdf)
โดยนิรนัยจากเหตุการณ์และคำปฏิญาณข้างต้น เราอาจดึงข้อสรุปที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อหลักการประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ 5 ข้อดังต่อไปนี้ :
1. เหล่าตัวแทนสามัญชนแห่งฐานันดรที่สามของฝรั่งเศสได้ประกาศประกาศิตพลิกเปลี่ยนฐานะของตนเองจากตัวแทนเฉพาะของฐานันดรที่สาม (the delegates of the Third Estate ตามตัวแบบการแทนตนเชิงตัวแทน) มาสวมฐานะเป็นผู้แทนแห่งชาติฝรั่งเศสโดยรวม (the trustees of the French Nation ตามตัวแบบการแทนตนเชิงผู้ได้รับมอบหมายความไว้วางใจให้จัดการดูแลแทน)
2. ในนามสมัชชาแห่งชาติ เหล่าผู้แทนแห่งชาติได้ก่อตั้งและใช้อำนาจปฐมสถาปนา (le pouvoir constituant originaire หรือนัยหนึ่งอำนาจสถาปนารัฐใหม่หรือก่อตั้งระเบียบการเมืองใหม่ขึ้นมาแต่เริ่มแรก) ของผู้แทนประชาชนพลเมืองโดยรวม อันเท่ากับเป็นปฏิบัติการก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของชาติฝรั่งเศส
3. ปฏิบัติการการเมืองของสมัชชาดังกล่าวกระทำในนามชาติ โดยแยกต่างหากและเป็นอิสระจากพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก
4. ปฏิบัติการการเมืองของสมัชชาดังกล่าวส่งผลให้แยกอาญาสิทธิ์ในการปกครองของรัฐ (state authority) ออกต่างหากจากอธิปไตยแห่งชาติ (naitonal sovereignty) โดยจัดวางอธิปไตยแห่งชาติให้อยู่เหนือและคอยขนาบกำกับอาญาสิทธิ์ในการปกครองของรัฐ
5. ปฏิบัติการการเมืองของสมัชชาดังกล่าวเท่ากับเป็นการยกสลายรัฐบรรษัท (the corporate state) โดยผ่านการยกเลิกสมัชชานิติบัญญัติแห่งฐานันดรทั้งสามแต่เดิม (Estates-General) อันเป็นการปลดปล่อยพลเมืองชาวฝรั่งเศสทั้งปวงให้หลุดพ้นจากอาณัติกำกับทางการเมืองและฐานันดรทางสังคมที่สังกัดอยู่ (ฐานันดรนักบวช, ขุนนาง หรือสามัญชน) แล้วต่างแยกย้ายกันไปเป็นปัจเจกบุคคลพลเมือง (individual citizen) ผู้เสมอภาคเท่าเทียมกันและประกอบกันขึ้นใหม่เป็นประชาชนของชาติหรือประชาชาติ (“ประชาชนหมายถึงพลเมืองทั้งมวลโดยองค์รวมผู้ทรงสิทธิ์ที่จะตัดสินใจรวมหมู่ในท้ายที่สุด” – นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ)
บนฐานความสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องสอดรับคล้องจองระหว่าง [ชาติ+ประชาชน+ปัจเจกบุคคล+ผู้แทน] แห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นโดยอำนาจปฐมสถาปนาด้วยการปัดปฏิเสธและข้ามพ้นรูปแบบความสัมพันธ์เชิงรัฐบรรษัทและสังคมฐานันดร (สภาอาชีพ) แต่เดิมดังกล่าวมานี้ (ดูรายละเอียดโดยพิสดารใน ปิยบุตร แสงกนกกุล, ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส, 2565)
การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจึงมีตรรกะนัยและแนวทางปฏิบัติแบบใหม่ที่ต่างไปจากตัวแบบการแทนตนเชิงตัวแทน (the delegate model of representation) หากกลายเป็นตัวแบบการแทนตนเชิงผู้ได้รับมอบหมายความไว้วางใจให้จัดการดูแลแทน (the trustee model of representation) ดังที่นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ ได้บรรยายไว้อย่างยอกย้อนพิสดารท้ายบทที่ 6 “ความคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบโบราณกับสมัยใหม่” ในหนังสือ เสรีนิยมกับประชาธิปไตย (ฉบับแปลไทย 2558, หน้า 44 เน้นและจัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน) ของเขาดังนี้ (โปรดดูภาพประกอบเพื่อช่วยความเข้าใจ) :
“การที่รัฐบรรษัทสูญสลายไปทำให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายมีเสรีภาพในลักษณะเฉพาะและความเป็นอิสระของตนเอง
“ปัจเจกบุคคลนี่เองต่างหากที่รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้เลือกผู้แทนของชาติ หาใช่สมาชิกบรรษัทใดๆ ไม่
“ในทางกลับกัน บรรดาผู้ได้รับเลือกตั้งก็ถูกเรียกร้องโดยปัจเจกบุคคลเฉพาะทั้งหลายที่เลือกพวกเขามาให้แทนตนชาติโดยรวม
“และดังนั้น พวกเขาจึงต้องกำหนดวิถีปฏิบัติและการตัดสินใจของตัวโดยปลอดอาณัติใดๆ
“ถ้าหากประชาธิปไตยสมัยใหม่หมายถึงประชาธิปไตยแบบแทนตน และถ้าหากแก่นสารของประชาธิปไตยแบบแทนตนอยู่ตรงบรรดาผู้แทนของชาติมิได้ติดค้างขึ้นต่อปัจเจกบุคคลเฉพาะที่พวกเขาเป็นตัวแทนหรือผลประโยชน์เฉพาะของปัจเจกบุคคลเหล่านั้นโดยตรงแต่อย่างใดแล้วละก็
“ประชาธิปไตยสมัยใหม่ย่อมตั้งอยู่บนฐานคติเรื่องการแตกตัวของชาติเป็นอณูและการประกอบตัวขึ้นใหม่ของอณูเหล่านั้นในอีกระดับหนึ่ง ซึ่งได้แก่ระดับสมัชชาสภาผู้แทนฯ ที่ทั้งสูงกว่าและจำกัดจำเขี่ยกว่าพร้อมกันไป
“ก็แลกระบวนการแตกตัวเป็นอณูที่ว่านี้ย่อมเป็นกระบวนการเดียวกับที่รองรับแนวคิดเสรีนิยมว่าด้วยรัฐอยู่ซึ่งรากฐานของมันย่อมหาพบได้ในการยืนการสิทธิโดยธรรมชาติอันมิอาจล่วงละเมิดได้ของปัจเจกบุคคล…”
จะเห็นได้ว่าตรรกะนัยและแนวทางปฏิบัติของการเลือกตั้งทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบุคคลผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้กำเนิดแก่ (ผู้แทนของ) ชาติได้ในหีบบัตรเลือกตั้ง
ขณะที่การเลือกตั้งวุฒิสภาแบบสภาอาชีพตามตัวแบบการแทนตนเชิงตัวแทนบนฐานคติรัฐบรรษัทไม่มีทางให้กำเนิดแก่ผู้แทนของชาติในหีบบัตรเลือกตั้งได้
อย่างดีที่สุดก็จะเลือกได้ “หัวกะทิของกลุ่มอาชีพต่างๆ” (รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มการศึกษา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ)
และอย่างไม่ดีที่สุดก็คือ “ไม่มีคำอธิบายบนพื้นฐานวิชาการ นิยามไม่ได้ แต่คือไทยสไตล์ ให้สะดวก” (อาจารย์ ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์) เท่านั้นเอง