มองไทยใหม่ : สื่อ VS เนื้อหา

สังคมไทยมีความห่วงใยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยมานานแล้ว

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” จะไม่ขอถอยหลังไปเป็นร้อยๆ ปี

เอาแค่เมื่อ ๖-๗ ปีก่อน เมื่อคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง นโยบายภาษาของประเทศ : ภาวะวิกฤตที่ต้องแก้ ขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ ณ ศูนย์การประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ในครั้งนั้นมีการอภิปรายเรื่อง “ภาษาของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบัน” ซึ่งกล่าวถึงภาษาของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปอภิปรายและเสนอบทความเรื่อง “ภาษาของโลกไร้สาย : จัดการอย่างไรดี” ซึ่งต่อมาผู้เขียนได้นำมาปรับปรุงเขียนเป็นเรื่อง “เครื่องมือเปลี่ยน ภาษาเปลี่ยน” ซึ่งเสนอในคอลัมน์ “มองไทยใหม่” ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔

ในครั้งนั้นผู้อภิปรายทุกคนเน้นไปที่เรื่องของภาษาที่ใช้ในการเสนอ “เนื้อหา” ต่างๆ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยยังเชื่อว่าไม่ว่าภาษาจะต่างกันอย่างไรก็ยังมีผู้ “อ่านเนื้อหา” ผ่านสื่อแบบต่างๆ อยู่

ใน พ.ศ.๒๕๖๑ นี้ คอลัมน์ “มองไทยใหม่” ต้องขอกลับมาวิเคราะห์เรื่องนี้กันอีกหน ครั้งนี้ไม่ใช่เพียง “เครื่องมือเปลี่ยน” เท่านั้น แต่เป็น “สื่อเปลี่ยน” ซึ่งสร้างผลกระทบต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ “การอ่าน”

อันที่จริงสิ่งที่ถือว่าเป็น “เครื่องมือ” ในการอภิปรายในครั้งนั้นก็คือ “สื่อ” ในยุคนี้นั่นเอง

ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ที่ส่งผ่านเครื่องมือหรือสื่อต่างๆ มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เริ่มจากการส่งภาษาเป็นเสียงผ่านอากาศ แล้วก็พัฒนาเป็นการบันทึกลงในสื่อต่างๆ ตั้งแต่กระดองสัตว์ ผนังถ้ำ หลักศิลา สมุดข่อย ใบลาน มาจนถึงยุคปัจจุบัน ที่สื่อสำคัญคือกระดาษ

สื่อแต่ละชนิดย่อมมีอายุการใช้งานเฉกเช่นเครื่องมือต่างๆ ที่เลิกใช้กันไปเพราะมีเครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ได้ดีกว่าเข้ามาแทนที่

โทรเลขเคยถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์บ้านก็กำลังจะถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ

กล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์มถูกแทนที่ด้วยกล้องถ่ายรูปแบบดิจิทัล

DOS ก็ถูกแทนที่ด้วย Windows, IOS, Android และอื่นๆ ต่อไปอีกในอนาคต

ตอนนี้กระดาษกำลังจะถูกแทนที่ด้วยหน้าจอ การอ่านกำลังจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่การอ่านออกเสียงหรือการอ่านในใจอย่างที่เคยสอนกันมาในโรงเรียนเท่านั้น ทว่าเป็นการอ่านในแบบออนไลน์

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ก็คือ “เนื้อหา” ไม่ว่ารูปแบบของภาษาและวิธีอ่านจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม

สิ่งที่จะต้องสอนกันต่อไปก็คือ วิธีการเสนอ “เนื้อหา” ผ่านสื่อใหม่

เราหยุดสร้างรอยบนกระดาษด้วยเครื่องมือแหลมๆ โดยเปลี่ยนมาเป็นการพิมพ์ฉันใด เราจะนำสิ่งที่พิมพ์บนกระดาษด้วยวิธีการอันเหมาะสมกับกระดาษไปขึ้นจอในรูปแบบเดิมย่อมไม่ได้

แต่สิ่งที่ต้องคงอยู่แน่ๆ ก็คือ “เนื้อหา”

เราอาจจะต้องแบ่งหน้าที่กันระหว่าง “ผู้สร้างเนื้อหา” กับ “ผู้นำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อ” ในที่นี้เราจะไม่กล่าวถึง “ภาษา” ที่ใช้ในการสร้าง “เนื้อหา” ซึ่งก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง

ข้าพเจ้าขอเป็น “ผู้สร้างเนื้อหา” ก็แล้วกัน

สื่อที่ไร้เนื้อหาก็ไร้ประโยชน์

ใครช่วยนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อให้ทีเถอะ