ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
การปะทะระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 6 และวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีความรุนแรง
ไม่เพียงบาดเจ็บ หากแต่ล้มตาย
ไม่ว่าผู้บาดเจ็บ ไม่ว่าผู้เสียชีวิต ในหมู่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้วนส่งผลสะเทือน
ทำให้ภาพของการเคลื่อนไหวมีความแจ่มชัดขึ้น
ทำให้เห็นความสลับซับซ้อนไม่เพียงแต่ดำรงอยู่ในด้านของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หากแต่ยังหมายถึงความสลับซับซ้อนภายในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
งานนี้แม้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนจะมอบความรับผิดชอบให้อยู่ในมือของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งถือว่ามีความเข้าใจในแนวทาง “การเมืองนำการทหาร” อย่างลึกซึ้ง
แต่เมื่อประสบเข้ากับสภาพการณ์อันสลับซับซ้อนที่ดำรงอยู่ภายในของอีกฝ่ายก็ต้องตกอยู่ในอาการนะจังงัง
จำเป็นต้องร้องเพลง “ถอยดีกว่า”
ในเบื้องต้นจะขอเน้นรายละเอียดจากด้านของรัฐบาลอย่างเป็นด้านหลัก จากนั้นจึงจะนำเสนอจากด้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นี่คือรายละเอียดอันอยู่ใน “มติชน บันทึกประเทศไทย พ.ศ.2551”
คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนหนึ่งเคลื่อนขบวนปิดล้อมรัฐสภา
1 ตอบโต้ที่ตำรวจจับกุม 2 แกนนำ
1 ปิดล้อมไม่ให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 7 ตุลาคม
สถานการณ์ที่บริเวณรัฐสภามีความตึงเครียด
เวลา 23.00 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินโดยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมประชุม
ที่ประชุมมอบหมาย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ
เวลา 01.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หารือเพิ่มเติมกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ปฏิบัติการสำคัญคือปฏิบัติการในวันที่ 7 ตุลาคม
เช้ามืดของวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจเข้าเคลียร์ผู้ชุมนุมออกจากถนนราชวิถี เพื่อเปิดเส้นทางให้ ส.ส.เข้าสภาด้านประตูปราสาทเทวฤทธิ์ โดยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่
ตลอดทั้งวันที่ 7 ตุลาคม
ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง ทั้งที่บริเวณถนนรอบรัฐสภา ด้านพระบรมรูปทรงม้า และหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล จนมีผู้ถึงแก่ความตาย
1 คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ
1 คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.บุรีรัมย์
ข้อมูลเบื้องต้น น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ เสียชีวิตจากแก๊สน้ำตา
พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี เสียชีวิตเพราะระเบิดที่ซุกอยู่ในรถจี๊ปเชโรกีซึ่งจอดอยู่ตรงข้ามพรรคชาติไทย ถนนสุโขทัย เขาเป็นอดีตสารวัตรปราบปราม สภ.ห้วยทับทัน จ.บุรีรัมย์ เป็นน้องเขยของ นายการุณ ใสงาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
มีผู้บาดเจ็บจากการปะทะตลอดทั้งวันเกือบ 500 ราย ในจำนวนนี้มีหลายคนสาหัสถึงขั้นแขนขาด ตาบอด
เวลา 09.00 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยื่นใบลาออก
หนังสือ “พันธมิตรกู้ชาติ บทพิสูจน์ความกล้า เสียสละอหิงสา” ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
ได้นำ “สรุปผลการพิจารณากรณีการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ” จากเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มาเสนอ
เป็นผลงานของ “คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา”
โดยการทำงานของ “คณะอนุกรรมาธิการ” ที่มี ศาสตราจารย์นายแพทย์วิรัติ พานิชพงศ์ เป็นประธาน แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ เป็นรองประธาน
อนุกรรมาธิการ ได้แก่ พล.ต.ท.นายแพทย์เลี้ยง หุยประเสริฐ นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ พล.อ.ต.นายแพทย์วิชาญ เบี้ยวนิ่ม นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายเจษฎา อนุจารี น.ส.วิไลลักษณ์ อัญมณีรัตน์ นายคำนูณ สิทธิสมาน
โดยมี นายนุกูล นิกิจรังสรรค์ เป็นอนุกรรมาธิการและเลขานุการ
คณะอนุกรรมาธิการได้เสนอกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (น้องโบว์)
เหตุแห่งการเสียชีวิต เป็นไปได้หรือไม่ที่น้องโบว์เสียชีวิตจากการระเบิดที่พกมาเอง
เวลาประมาณ 19.25 น. น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ได้ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
ลักษณะที่มาถึงโรงพยาบาลนั้นมีกระเป๋าสะพายอยู่ที่แขนด้วย
ประกอบกับกระเป๋าดังกล่าวยังอยู่ในสภาพที่ดี ภายในกระเป๋ามีโทรศัพท์อยู่ด้วย ซึ่งโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นบุคคลใด เนื่องจากได้มีญาติของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ โทร.ติดต่อเข้ามาที่เครื่องดังกล่าว
จึงทำให้สามารถสื่อสารกับญาติของบุคคลดังกล่าวได้
ดังนั้น จากภาพที่ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ถูกนำส่งมาที่โรงพยาบาลพร้อมทั้งกระเป๋าสะพายติดตัวมาด้วยในสภาพดีนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลดังกล่าวจะพกระเบิดมาในกระเป๋าสะพายตามคำบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงแรก
เนื่องจากหากมีการพกระเบิดไว้ในกระเป๋าสะพาย ไม่ว่าจะเป็นระเบิดลูกเกลี้ยง หรือระเบิดปิงปอง เมื่อเกิดการระเบิดขึ้น กระเป๋าจะไม่คงอยู่ในสภาพดี รวมทั้งจะพบเศษโลหะติดอยู่ตามร่างกาย
แต่สภาพในขณะที่นำส่งมายังโรงพยาบาล กระเป๋าสะพายยังอยู่ในสภาพดี
ผลการชันสูตรศพ จากข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่การพิจารณาถึงผลการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุแห่งการเสียชีวิตของน้องโบว์
ปรากฏรายละเอียดดังนี้
สภาพศพภายนอก หญิง น้ำหนัก 42 กิโลกรัม ส่วนสูง 150 เซนติเมตร สวมเสื้อคอกลมสีเหลือง พบรอยไหม้และฉีกขาดบริเวณแขนเสื้อซ้าย เสื้อชั้นในด้านซ้าย
กางเกงยีนส์สีน้ำเงิน พบรอยไหม้และฉีกขาดบริเวณปลายขากางเกงซ้าย
ไม่พบเลือดออกไต้เยื่อบุตาขวา เยื่อบุขาวซีดไม่เหลือง หน้าแข้งและเท้าทั้งสองข้างไม่บวม
การตรวจอวัยวะภายใน ศีรษะแก้วหูข้างซ้ายทะลุ ช่องอก กระดูกซี่โครงข้างซ้ายหักทุกซี่ 10 ซี่ พบเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างซ้ายประมาณ 200 มิลล์ ปอดข้างซ้ายฉีกขาดและฟกช้ำ ปอดข้างขวากลีบล่างฟกช้ำและเลือดออก
เยื่อหุ้มหัวใจฉีกขาด ผนังหัวใจช่องล่างซ้ายฉีกขาด
ช่องท้อง กระเพาะอาหารฉีกขาดทะลุ ม้ามฉีกขาด ไตข้างซ้ายฉีกขาด แขนขา กระดูกต้นแขนข้างซ้ายหัก
น่าเชื่อว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบ คงได้รับรายงานการเสียชีวิต
ไม่ว่าของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ
ไม่ว่าของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี
แม้จะมิได้เน้นรายละเอียดอย่างรอบด้านและครบถ้วนอย่างที่มีการนำเสนอลและวิเคราะห์โดยกรรมาธิการ แต่เชื่อได้ว่าเพียงรายงานของตำรวจก็ชวนให้เกิดความตระหนกตามมาอย่างแน่นอน
เป็นความตระหนกในระดับที่ทำให้ต้องตัดสินใจลาออกจากความรับผิดชอบและมอบอำนาจคืนให้คณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีในการกำกับของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์