กูเป็นนิสิต นักศึกษา เบื้องหน้า กูเป็น นักหนังสือพิมพ์ แล้ว ‘กูจะเป็นขบถ’

บทความพิเศษ

 

กูเป็นนิสิต นักศึกษา

เบื้องหน้า กูเป็น นักหนังสือพิมพ์

แล้ว ‘กูจะเป็นขบถ’

 

กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ ปลื้มปริ่มปรีด์เปรมเกษมศานต์ ทั่วไปใหญ่โตมโหฬาร ถือปากกากล้าหาญชาญชัย

ก็เป็นนักหนังสือพิมพ์

ทิ่ม ทิ่ม ลงกระดาษแล้วดีได้ เพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมืองไทย ราคาแพง ช่วยให้กูเขียนดี

กูเป็นนักหนังสือพิมพ์

ยามยิ้ม ก็ยิ้มด้วยศักดิ์ศรี ใครฤๅ จะกล้ามาราวี ศักดิ์ฐานันดรสี่ จะโรมรัน

กูเป็นนักหนังสือพิมพ์ ถึงกูผิด กูก็จะทิ่ม ไม่หวาดหวั่น เพราะแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน แล้วใครที่ไหนกันจะกล้าตอม

กูโว้ยเป็นนักหนังสือพิมพ์

มีชื่อ จิ้มลิ้ม หวนหอม ใคร ใคร ก็เอาใจ ลอมชอม ทะนุ ถนอม กล่อมเกลี้ยง เลี้ยงดู

เฮ้ย-กูเป็นนักหนังสือพิมพ์

มาหากู ให้กูทิ่มหน่อย อีหนู บ้านเมือง จะรุ่งเรืองเพราะมือกู เพราะฉะนั้น พันธุ์กู รุ่งเรืองเอย

 

รากฐาน ความคิด

กูเป็น นักหนังสือพิมพ์

กวีนิพนธ์ “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 16 (5 มีนาคม 2517)

สอดรับกับ วันนักข่าว 5 มีนาคม

คล้ายกับจะเป็นความต่อเนื่องจาก “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2512

อาจเป็นเช่นนั้น หากพิจารณาจากรากฐาน “ความคิด”

กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี้ จะย่ำไปงานบอลล์ เสพเสน่ห์เกสร สุมาลี

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

พริ้งสง่า งามผงาด เพียงราชสีห์ มันสมอง ของสยาม ธานี ค่ำนี้ ก็จะนาบให้หนำใจ

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

เจ้าขี้ข้า รู้จักกู หรือไหม หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็กไท หลีกไป หลีกไป อย่ากีดทาง

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

มหาวิทยาลัย อันกว้างขวาง ศึกษา สรรพรส มิเว้นวาง เมืองกว้าง ช้างหลาย เสนาบดี

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

เดินเหิน ดูสง่า มีราศี ย่ำค่ำ กูจะย่ำ ทั้งราตรี กรุงศรีอยุธยา มาราธอน

เฮ้ย กูเป็นนิสิตนักศึกษา มีสติปัญญา เยี่ยมสิงขร ให้พระอินทร์เอาพระขรรค์มาบั่นรอน

อเมริกา มาสอน กูเชี่ยวชาญ

กูเป็นนิสิตนักศึกษา หรูหรา แหลมหลัก อัครฐาน พรุ่งนี้ก็จะต้องไปร่วมงาน สังสรรค์ในระดับปริญญา

ได้โปรด ฟังกูสักนิด

กูเป็นนิสิตนักศึกษา เงียบโว้ย ฟังกู ปรัชญา กูอยู่มหาวิทยาลัย กูอยู่มหาวิทยาลัย รู้ไหม เห็นไหม ดีไหม

อีกไม่นานเราก็ต่างจะตายไป กอบโกยใส่ตัวเองเสียก่อนเอย

 

ผันเวียน เปลี่ยนแปลง

นิสิต นักศึกษา ประชาชน

จากปี 2512 เมื่อเขียน “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” มายังปี 2517 เมื่อเขียน “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์”

มีการเปลี่ยนแปลง

ไม่เพียงแต่ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” ตีพิมพ์ผ่านหนังสือ “เล่มละบาท” ขณะที่ “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์ผ่าน “ประชาชาติ” รายสัปดาห์

หากแต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมโลกและในสังคมไทย

สังคมไทยมิได้อยู่ในโครงครอบแห่งยุค “ถนอม ประภาส” ส่งต่อเนื่องมาแต่ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

แต่ได้ผ่านเข้าสู่ยุคหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

ขณะเดียวกัน โลกแม้ว่าจักรวรรดิอเมริกาจะยังคงครองความเป็น “เจ้า” แต่ก็มีการเติบใหญ่ของสหภาพโซเวียต และสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาเทียบเคียง

สงครามเวียดนามที่ขยายกลายเป็น “สงครามอินโดจีน” กำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย

ด้วยชัยชนะของ 3 ประเทศอินโดจีน และการถอยร่นของสหรัฐอเมริกา

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผ่านประสบการณ์ในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 อย่างชนิดยืนเรียงเคียงไหล่กับ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น อันวางหลักปักฐานอยู่ที่ เดอะ เนชั่น

ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน สร้างฐานที่มั่นที่แข็งแกร่งอยู่ที่โรงพิมพ์พิฆเนศ

มีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะก้าวเข้าสู่การก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์”

 

3 แรง ล้วนแข็งขัน

สุจิตต์ ขรรค์ชัย สุทธิชัย

ต้องยอมรับว่าขั้นตอนนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ไม่เพียงสร้างสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับ สุทธิชัย หยุ่น

หากแต่ดึง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เข้ามาร่วม

ความจริง สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน รู้จักกับ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ตั้งแต่ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะที่ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สะสมความจัดเจนอยู่ที่แผนกอิสระวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เวทีแรกก็คือ “เจ็ดสถาบัน”

จากนั้น พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร สะสมความจัดเจนจาก “หลักเมือง” ย่านถนนนครสวรรค์ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในแนวหน้าแห่งยุค “เดลินิวส์” ก่อนจะเดินทางไปศึกษาวิทยายุทธ์ที่วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

แล้วกลับมาปฏิวัติวงการหนังสือพิมพ์ผ่าน “ประชาธิปไตย” ยุคพลังหนุ่มสาว

น่าสังเกตว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงใน “สยามรัฐ” รายวัน กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงใน “ประชาธิปไตย” ยุคพลังหนุ่มสาวอยู่ในห้วงเวลาร่วมสมัยใกล้เคียงกัน

นั่นคือ ก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

 

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

ก้าวสู่ กูจะเป็นขบถ

เมื่อ ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ลงหลักปักฐานผ่านโรงพิมพ์พิฆเนศ สร้างเครือข่ายทั้งในแวดวงหนังสือพิมพ์ ทั้งในแวดวงวิชาการ และแวดวงธุรกิจ

ก็ลงมือทำนิตยสาร “ประชาชาติ” รายสัปดาห์

นี่เท่ากับเป็นการอุ่นเครื่องและสะสมความจัดเจน เป็นความร่วมมือระหว่าง สุทธิชัย หยุ่น กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน

ดึง ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม จาก “พิมพ์ไทย” มาเป็นกำลังสำคัญ

เป้าหมายอย่างแท้จริงของพวกเขามิได้อยู่ที่รายสัปดาห์ ตรงกันข้าม อยู่ที่รายวันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวซีเรียส ผสมผสานระหว่าง “สยามรัฐ” กับ “ประชาธิปไตย” ให้ออกมาอีกโฉมหนึ่ง

เป็นโฉมอันเชื่อมย้อนกลับไปไกลถึง “ประชาชาติ” ในห้วงหลังสถานการณ์เดือนมิถุนายน 2475

นี่ย่อมเป็นรากฐานและพัฒนาการอย่างสำคัญ

หากมองผ่าน สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็คือพัฒนาการจากยุค “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” เข้าไปสู่ยุค “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์”

และแตะเข้าไปในระนาบที่เปล่งออกมาเป็น “กูจะเป็นขบถ”

นี่ย่อมเป็นพื้นที่ใหม่หากมองจากมุมของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มุมของ ขรรค์ชัย บุนปาน และมุมของ สุทธิชัย หยุ่น

ขณะที่หากมองจากมุมของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็แทบมิได้ห่างไกล

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024