ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร |
เผยแพร่ |
แลนดิ้งยังราชอาณาจักรไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับประติมากรรมสำริดในชื่อ ‘โกลเด้นบอย’ ที่เช็กอินสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมประติมากรรมสตรีพนมมือนั่งชันเข่า เมื่อเวลาราว 7 โมงเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ผ่านศุลกากรฉลุย มุ่งหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ ในเย็นวันเดียวกัน ก่อนจัดแถลงข่าว ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ภายในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวอย่างชื่นมื่นในบ่ายวันรุ่งขึ้น
นำโดย สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่หมาดๆ พร้อมด้วยระดับผู้บริหาร และข้าราชการกรมศิลปากร
ร่วมด้วย จอห์น กาย ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ เดอะเมท) สหรัฐอเมริกา
เปิดให้สบตา ‘ของแท้’ ปฐมฤกษ์ในวันดี วิสาขบูชา 22 พฤษภาคม ไม่เพียงเท่านั้น ยังขนย้ายประติมากรรมสำริดพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ที่ดูคล้ายคลึงจนเคยเกิดข้อสงสัยว่า โกลเด้นบอย คือ ‘ของก๊อบ’ เกรดเอจากประติมากรรมดังกล่าวหรือไม่ มาร่วมจัดแสดง
แน่นอนว่า ประชาชนแห่เช็กโลเกชั่นยังพิพิธภัณฑ์พระนครล้นหลามจนห้องแทบแตก
นับเป็นภาพ ‘แฮปปี้เอนดิ้ง’ อย่างไม่ค้านสายตา ทว่า หากนี่คือนิยายหนึ่งเรื่อง ย่อมไม่ใช่ฉากจบบริบูรณ์ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของ Episode ใหม่ที่กำลังจะออนแอร์ด้วยข้อถกเถียงหลากหลายซึ่งล้วนชวนให้จ้องหน้าจอรอรับชม
อานิสงส์กัมพูชา
โบราณวัตถุเลอค่า
‘นอกโพยทวงคืน’
ก่อนจะไปถึงประเด็นอื่นใด ต้องย้อน ‘รีรัน’ ย้ำที่มาของการได้คืนซึ่ง 2 โบราณวัตถุล้ำค่า ว่าทั้งคู่อยู่ ‘นอกโพย’ ทวงคืนของรัฐไทยที่มีการตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2560
มูลเหตุที่กรมศิลปากรเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา คือ ‘เดอะเมท’ ตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่มีประวัติการได้มาเกี่ยวข้องกับ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ ซึ่งถูกสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้แจ้งดำเนินคดีค้าโบราณวัตถุโดยผิดกฎหมายเมื่อปี 2562 และปี 2564 คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ฯ จึงมีมติถอดโบราณวัตถุทั้ง 2 รายการออกจากบัญชีทะเบียนโบราณวัตถุของมิวเซียม
และประสานแจ้งการส่งคืนแก่ไทยตามข้อตกลงกับสำนักงานอัยการเขตนิวยอร์กใต้ ผ่านสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก
พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้ทวงเอง แต่ เดอะเมท ส่งจดหมายประสานขอส่งคืนเมื่อเดือนธันวาคม 2566
นอกจากนี้ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ ให้ข้อมูลลงลึกไปกว่านั้นว่า อานิสงส์ครั้งนี้มาจากการที่รัฐบาลกัมพูชาติดตามคืนโบราณวัตถุกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมรทั้งหมด โดยเข้าไปเปิดเจรจาและแลกเปลี่ยนความเห็นว่ารัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ควรร่วมกันทวงเพื่อให้ได้โบราณวัตถุสำคัญในคราวเดียว
“นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมกัมพูชาติดตามโบราณวัตถุได้มากกว่าของไทย เพราะเขาดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด สำหรับโกลเด้นบอย เคยถูกพิจารณาในอนุกรรมการวิชาการฯ เพื่อพิจารณาว่าสมควรทวงหรือไม่ เราศึกษามากว่า 3 ปี ที่ประชุมสรุปว่าให้ทำหนังสือเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่ระหว่างรอการเสนอ กลับไม่สามารถนัดประชุมกรรมการชุดใหญ่ได้ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ หรืออะไรต่อมิอะไร ทำให้ยังไม่ได้อยู่ในรายชื่อโบราณวัตถุที่จะติดตามคืน” ดร.ทนงศักดิ์เล่า
ขายฝรั่ง 1.2 ล้าน
กลับบ้าน หลัง ‘พลัดถิ่น’ ครึ่งศตวรรษ
ว่าแล้วตัดภาพกลับไปยังครึ่งศตวรรษที่แล้ว ระหว่าง พ.ศ.2517-2518 โกลเด้นบอย ถูกอุ้มออกนอกประเทศ หลังชาวบ้านขุดเจอบริเวณปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ แล้วขายให้ชาวต่างชาติ
โดยเมื่อไม่กี่วัน ก่อนโบราณวัตถุดังกล่าวจะเดินทางกลับมาถึงไทย สตรีวัย 69 นามว่า นิล เป็ดสกุล พร้อมลูกสาว ออกมาเปิดเผยว่า ตนกับสามีพบ ‘วัตถุประหลาด’ ขณะหาขุดมันตามธรรมชาติ นำกลับมาทำความสะอาดที่บ้าน ก่อนปรึกษาตำรวจ สภ.ลำปลายมาศ เพื่อหาช่องทางขาย
สุดท้าย ตำรวจพาเข้ากรุงเทพฯ บอกขายให้ชาวต่างชาติในราคา 1.6 ล้าน แต่โดนหั่น ต่อราคาเหลือ 1.2 ล้าน เป็นอันจบดีล
ส่วนมูลค่าที่ฮือฮาในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่งว่าทะยานถึง 100 ล้านนั้น ดร.ทนงศักดิ์ไขปริศนาว่านั่นคือราคาซื้อขายจากนักค้าโบราณวัตถุ
ของจริง หรือจกตา?
ตีตกชิ้นเอก ‘สระกำแพงใหญ่’
ต้นแบบก๊อบ
อีกประเด็น ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ นั่นคือ ข้อสงสัยว่า โกลเด้นบอย คือ ‘ของปลอม’ หรือไม่?
แม้แต่แผ่นป้ายนิทรรศการของกรมศิลปากรที่จัดแสดงตั้งแต่วันแถลงข่าวก็ยังมีประเด็นดังกล่าวไขความกระจ่าง โดยใช้หัวข้อ ‘ข้อสงสัยในความเป็นของจริง’
ให้คำอธิบายโดยสังเขปที่สอดคล้องกับข้อมูลของนักวิชาการอย่าง ดร.ทนงศักดิ์ ที่ว่า โบราณวัตถุที่ถูกสงสัยว่าเป็นต้นแบบในการก๊อบ คือ ประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ บุรีรัมย์ ซึ่งเชื่อกันว่าคือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นั้น ถูกพบเมื่อ พ.ศ.2532 หลังโกลเด้นบอยถูกลักลอบออกนอกประเทศไทยไปนานแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้
“ผมยังเคยโดนผู้อาวุโสในแวดวงโบราณคดีท่านหนึ่งโทรศัพท์มาตำหนิ ว่าทำไมทวงของปลอม ทั้งที่รูปแบบทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพยานในการลักลอบขุด นอกจากนี้ ในหนังสือ Khmer Bronzes : New interpretations of the Past ของ Emma C. Bunker and Douglas Latchford ยังเป็นหลักฐานชั้นดีที่ยืนยันโบราณวัตถุชิ้นสำคัญว่ามีการซื้อขายมาจากแหล่งใดด้วย” ดร.ทนงศักดิ์กระซิบดังๆ
ลุกดีเบต
ไม่เชื่อ ‘ศิวะอวตาร’ รูปจำแลงกษัตริย์
เขมรไม่มี ไทยไม่ทำ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าสนใจที่ย่อมกลายเป็นภาคต่อ เพราะยัง ‘ดีเบต’ กันไม่จบ นั่นคือ โกลเด้นบอย คือใครกันแน่?
เท้าความตามท้องเรื่องเดิม ชื่อ Golden Boy ถูกใช้ในหนังสือของ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด นายหน้าค้าโบราณวัตถุ แล้วใช้เรียกกันเรื่อยมา
ขณะที่ ‘เดอะเมท’ เชื่อว่า ประติมากรรมดังกล่าวคือ ‘พระศิวะ’ ดังที่กรมศิลปากรตัดสินใจใช้ตามป้ายจัดแสดง แต่เป็นที่คลางแคลงของนักวิชาการหลายรายที่มีมุมมองต่างออกไป โดยให้เหตุผลพื้นฐานว่า โกลเด้นบอยไม่มีสัญลักษณ์ใดที่บ่งชี้ความเป็นพระศิวะ ไม่ว่าจะเป็นพระเนตรที่ 3 หรือผมทรงชฎามงกุฎ
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงลึกในรายละเอียดว่า ตามที่ภัณฑารักษ์ ‘เดอะเมท’ ระบุในคำแถลงข่าวที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ว่า โกลเด้นบอยคือพระศิวะอวตารใน ‘รูปจำแลงของกษัตริย์’ นั้น ตัวอย่างในศิลปะเขมรไม่เคยมี ศิลปะเขมรในไทยก็ไม่เคยทำ ขนาดภาพสลักบนหน้าบันศิลปะเขมรซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ตอนพระศิวะแปลงร่างเป็นฤๅษีมาลองใจพระอุมา ยังต้องถือ ‘ตรีศูล’ ของคู่กาย แต่โกลเด้นบอยไม่มีอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว
นักวิชาการท่านนี้ นำเสนอข้อสันนิษฐานส่วนตัวว่า น่าจะเป็นพระรูปสนองพระองค์ของ ‘พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2’ พระโอรสของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1609 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับรูปแบบของประติมากรรมโกลเด้นบอย คือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน ขณะที่ ดร.ทนงศักดิ์เชื่อว่า โกลเด้นบอยคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้สถาปนาราชวงศ์มหิธรปุระ เพราะเชื่อว่า นี่คือศิลปะแบบ ‘พิมาย’ ที่มีความเฉพาะตัว เกิดขึ้นครั้งแรกที่พิมาย ไม่ใช่แบบบาปวน
ส่วนข้อสันนิษฐานว่าเป็น ‘ทวารบาล’ แน่นอนว่านักวิชาการประสานเสียงว่า ‘ตัดออกไปได้เลย’ เมื่อพิจารณาถึงความงดงามลึกซึ้ง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคต่อในข้อถกเถียง ยังไม่รวมถึงดราม่า ‘ชาตินิยม’ เขมร ไทย อีกทั้งคำถามที่ว่าในอนาคต โกลเด้นบอยจะได้เดินทางสู่ท้องถิ่นอีสานอันเป็นมาตุภูมิหรือไม่ ขณะที่คำตอบชัดในวันนี้จากรัฐมนตรีวัฒนธรรมย้ำว่า ‘ยังไม่มีแผน’ เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่อื่น หรือแม้แต่สร้างองค์จำลอง
ตัดจบตอนจบที่ยังไม่จบ แต่ที่แน่ๆ การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ย่อมเป็นฉากที่ทุกฝ่ายควรพร้อมเปิดใจรับชม ไม่ชิงกดรีโมตปิดจอทิ้งสังคมรอเก้อ