ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะทำภารกิจ “ไกลบ้าน” อีกครั้ง เที่ยวนี้ไปเยือน 3 ประเทศ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ปักหมุดดึงการลงทุนเข้ามาสู่ประเทศไทย
ที่ฝรั่งเศส เขาพบประธานาธิบดีมาครง แม้ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง แต่ “เศรษฐา” ย้ำว่า “คุ้มค่า เพราะเซ็น FTA หลายฉบับ
มีในการลงนามในความตกลงด้านกลาโหม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งทางฝรั่งเศสมีข้อเสนอให้ไทยในหลายส่วน ทั้งเครื่องบิน รถถัง โดรน และความมั่นคงทางไซเบอร์
ด้านพลังงานสะอาดนั้น ไทยอยากให้ฝรั่งเศสเป็นแม่แบบในการพัฒนาแบบแผนพลังงานของไทย
“ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งวัน ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีมาครง 3-4 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นการพูดคุยที่ได้ประโยชน์อย่างมาก นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้งาน Thailand – France Business Forum ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอีกด้วย ถือว่าเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการจบภารกิจที่ฝรั่งเศสอย่างสวยงาม” เศรษฐากล่าว
แต่ไฮไลต์ของทริปอยู่ที่การเยือนสาธารณรัฐอิตาลี เพราะที่นี่มีทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหาร พลังงานและยานยนต์
ด้านแฟชั่น เศรษฐาได้พบหารือกับนาย Gildo Zegna ผู้บริหารของห้องเสื้อ Zegna ที่โรงงานของห้องเสื้อ Zegna เมืองวาลดิลานา (Valdilana) ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการทำผ้าที่เป็นที่นิยม ทั้งผ้าวูล (ผ้าขนสัตว์) แคชเมียร์ และผ้าฝ้าย ซึ่งไม่ได้ทำแค่เฉพาะแบรนด์ของตัวเอง แต่ยังส่งไปให้ Christian Dior Herm?s และ Louis Vuitton
“ผมได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จากจังหวัดสกลนคร มาเสนอ ซึ่งทางบริษัทจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ไปสำรวจว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำผ้าย้อมครามมาผลิตภายใต้แบรนด์ของเขา เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์มาขาย ซึ่งเรื่องของผ้าย้อมครามอยู่ภายใต้โครงการในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสําหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Zegna เนื่องจาก Zegna เป็น Home of Fabric ผลิตผ้าให้ตัวเอง 50% ส่วนอีก 50% ผลิตให้แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Herm?s, Dior, LV ฯลฯ” นายกฯ กล่าว
ด้าน Zegna จะส่งทีมมาดูกระบวนการผลิตผ้าย้อมครามที่จังหวัดสกลนคร ในอีก 10 วันข้างหน้า
นายกฯ เศรษฐาได้ชมห้องเสื้อ Versace พร้อมกับเล่าถึงแผนระยะยาวของไทย ว่าประเทศไทยมีแผนอย่างไรเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น การจัดฟอร์มูล่า 1, ฟอร์มูล่า E, การจัดคอนเสิร์ต หรือการจัดงาน Michelin Food World Fair ที่จังหวัดเชียงใหม่
“เรื่องของไลฟ์สไตล์ สามารถไปด้วยกันได้กับเรื่องแฟชั่น ซึ่งเขาก็จะไปคิดว่าจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำนิทรรศการนี้ได้หรือไม่ เพื่อมากระตุ้นยอดขาย พร้อมกับเสิร์ฟ Festival ต่างๆ เพื่อให้ไปให้ถึงจุดหมายที่ควรจะเป็น”
“โดยเวอร์ซาเช่ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะเขาไม่เคยทราบเลยว่าประเทศไทยมีแผนที่จะโปรโมตการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเขาจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย”
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยในมิลาน อาทิ Marangoni Fashion Institute ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านแฟชั่นในมิลาน และอยากให้ Versace รับนักศึกษาฝึกงานด้านแฟชั่นจากเมืองไทย รวมถึงอยากให้จัดอีเวนต์ในเมืองไทยมากขึ้น เช่น คอนเสิร์ต หรือแฟชั่นโชว์ โดยรัฐบาลไทยมีมาตรการสนับสนุน เช่น การลดอัตราภาษีบุคคลเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มาเปิดสำนักงานใหญ่ในไทย
นอกเหนือไปจากภารกิจด้านแฟชั่น การออกแบบ นายกฯ เศรษฐ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari (ออโตโดรโม่ เอ็นโซ่ อีดีโน่ เฟอร์รารี่) ที่เมืองโบโลญญา และพบกับผู้บริหารสนาม ซึ่งเป็นสนามที่เป็นประวัติศาสตร์ ปักธงด้านการท่องเที่ยว ผลักดันให้ไทยจัดการแข่งขันรถฟอร์มูล่า 1 (F1) เล็งใช้พื้นที่ใกล้อู่ตะเภาเป็นสนามแข่ง
นายกฯ เปิดเผยแผนการว่า ได้เชิญนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายกวิณ กาญจนพาสน์ กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด ที่เป็นผู้ได้รับการทำสัมปทานสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนมาก หากได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันก็จะใช้ที่ดินบริเวณอู่ตะเภา
“รัฐบาลจึงให้ความมั่นใจว่าไทยมีความพร้อมในการสร้างสนามแข่งขันอย่างเร็วที่สุด ในปี 2027 หรืออย่างช้าที่สุดปี 2028 โดยมีผู้สนับสนุนรายใหญ่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเช่นเมื่อครั้งที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ก็มีบริษัท ปิโตรนาสเป็นผู้สนับสนุน เชื่อว่าทั้งผู้จัดและเราก็มีความต้องการให้จัดการแข่งขัน มั่นใจว่าภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะมีข่าวดี
อีกด้านหนึ่ง เศรษฐาได้ไปเยี่ยมชม 2 โรงงานด้านอาหารของอิตาลี คือ โรงงานผลิตชีสของบริษัท BONI S.p.A. และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ของ Italia Alimentari ที่เมืองปาร์มา ซึ่งมีทั้งชีส แฮม ซาลามี เป็นสินค้าที่มีมาเป็นพันปี และอิตาลีมีชื่อเสียงในการส่งออก
หวังใช้เทคโนโลยี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทย “เศรษฐา” กล่าวว่า ถือว่าไทยทำการบ้านครั้งใหญ่ อาทิ การทำแคบหมู เนื้อเค็ม ไส้อั่ว กุนเชียง ซึ่งคล้ายคลึงกับการทำซาลามี แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำได้ทันที อิตาลีมีประวัติศาสตร์ในการทำเรื่องนี้มานานมาก และทำให้ประเทศมีชื่อเสียงในเรื่องนี้อย่างมโหฬาร เป็น Key Learning Point จะนำไปหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าสามารถช่วยเหลือพี่น้องได้อย่างไร
ย้อนกลับมาดูความเป็นไปได้ในการเดินหน้า ซอฟต์เพวเวอร์ในด้านต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะสร้างเม็ดเงิน 4 ล้านล้านบาท ในปี 2570
ขณะนี้การเดินหน้าเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ในเดือนมิถุนายน รัฐบาลจะมีบิ๊กอีเวนต์ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ธีมชื่อ splash จะขมวดให้เห็นภาพว่าซอฟต์เพาเวอร์ไทยจะเดินหน้าอย่างไร ต่อยอดจากภารกิจ “ไกลบ้าน” ของเศรษฐา
และในเดือนกรกฎาคม 2567 โครงการ upskill – reskill ผ่านนโยบายซอฟต์เพาเวอร์จะเปิดการลงทะเบียน
อาทิ มีการฝึกอบรมเชฟ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย มีการอบรมเต็มรูปแบบ ใช้เวลาการอบรม 1 เดือน ทั้งในแง่ปฏิบัติจริง สอบจริง เป็นโอกาสของคนต่างจังหวัด
นอกจากนี้ อาหารพื้นถิ่นที่มีเมนูไหนที่ขึ้นชื่อมาก รัฐบาลมีแผนส่งเสริมให้มีโรงงานในระดับชุมชนหรือระดับอำเภอ ทำเรื่องถนอมอาหาร ส่งออกไปทั่วโลกได้
ทั้งหมดคือความพยายามสานต่อเชื่อมโยงภารกิจทริป “ไกลบ้าน” ของเศรษฐา กลับมาขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์นั่นเอง