ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
ครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557
เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
หลังจากม็อบ กปปส.ปิดกรุงเทพฯ และล้มการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้แนวร่วมที่เคยร่วมกับกลุ่ม กปปส. ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่เข้ามาร่วมอีก สุดท้ายคนน้อยลงเหลือเป็นหลักพัน ต้องย้ายไปรวมกันอยู่ในสวนลุมพินี
7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากการรักษาการ เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาฯ สมช. แต่ที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
14 พฤษภาคม กปปส.พยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมถนนราชดำเนินนอก “ถ้า 16 พฤษภาคม ประธานวุฒิสภา หาตัวนายกฯ คนกลางไม่ได้ วันที่ 17-18 พฤษภาคม คนอื่นไม่ทำ เราแสดงเอง จัดการเรียบร้อย วันที่ 19 พฤษภาคม เรียกข้าราชการมารายงานตัวต่อประชาชน ให้ปลัดกระทรวง อธิบดี ผวจ. ผบ.ตร. ผบ.เหล่าทัพ ทั้งหลายมารายงานตัวต่อประชาชน ผมไปจัดเตรียมที่ไว้แล้วที่ตึกสันติไมตรีแล้ว…ขอส่งข่าวนี้ไปถึงบรรดาข้าราชการทั้งหลายให้ซักซ้อมไว้ได้เลย”
แต่ผลคือ ไม่มีนายกฯ คนกลางจาก ส.ว. และก็ไม่มีใครมารายงานตัว
การชุมนุมของทั้ง 2 ม็อบในเดือนพฤษภาคม 2557 ฝ่ายทหารก็ประเมินกำลังว่าอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปด้วยกันทั้งคู่ ฝ่าย กปปส.ซึ่งเคยคึกคักเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนนี้ก็เสื่อมความนิยมไปมากแล้ว ถึงเวลาที่จะเคลียร์ปัญหาโดยไม่ต้องออกแรงมาก
วันที่ 20 พฤษภาคม ฝ่ายทหารจึงอ้างสถานการณ์และประกาศกฎอัยการศึก จากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมด ได้ไม่ยาก 21-22 พฤษภาคม มีการเชิญคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม
บ่ายวันที่ 22 พฤษภาคม ประกาศการรัฐประหาร และจัดการกักตัวแกนนำไว้
26 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
หลังรัฐประหาร กลุ่มที่หวังว่าเขาจะเชิญไปเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กันเพราะงานนี้ผู้ที่ทำรัฐประหารไม่เชิญใคร นอกจากพวกตัวเอง
สร้างกลไกสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ
22 กรกฎาคม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีผลใช้บังคับ
31 กรกฎาคม คสช.แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
25 สิงหาคม สนช.โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
6 ตุลาคม มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ในขณะที่ใช้อำนาจเผด็จการ ปกครองเกือบ 5 ปี คสช.ได้วางกลไกทางอำนาจไว้ห้าส่วน หรือที่เรียกกันว่าแม่น้ำห้าสาย ได้แก่
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
คณะรัฐมนตรี (ครม.)
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่ต่อมามีการตั้งชุดใหม่ขึ้นมาแทนเรียกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
และได้สร้างเครื่องมือสำคัญ คือรัฐธรรมนูญปี 2560 และวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง 250 คน
กลุ่มแม่น้ำห้าสายได้กลายมาเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เนื่องจากในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ คสช.เป็นทั้งผู้สรรหาและผู้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.
ทำให้สามารถสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง 2562 มาได้ โดยใช้การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว และได้ตั้งรัฐบาล โดยใช้ 250 ส.ว.ช่วยโหวตเลือกนายกฯ ยุบพรรคฝ่ายค้านและการดูด ส.ส.
10 ปีไม่ได้ปฏิรูปอะไรให้ก้าวหน้า
มีแต่ทำให้ล้าหลัง
1.ทำรัฐธรรมนูญให้ถอยหลัง โดยให้ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ แทนประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ถอยหลังไปถึง 40 ปี เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521
2. กฎหมายเปิดช่องการดูดให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น จึงเกิดการไล่ซื้อพวกไร้อุดมการณ์ ลิงและงูเห่า ทั้งจากพรรคเล็กๆ และพรรคใหญ่
3. ทำกฎหมายให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ ส.ส.ได้ง่ายขึ้น โดยเขียนข้อห้ามไว้เยอะๆ ในกฎหมายลูก ซึ่งต้องตีความ และให้คนฟ้องต่อองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญ ได้ง่ายๆ
เมื่อสืบทอดอำนาจได้โดยผ่านการแสดงการเลือกตั้ง 2562 ก็บริหารงานต่ออีก 4 ปีจากเดิมที่ปกครองในนาม คสช. 5 ปีรวม 9 ปี ใช้งบประมาณไปประมาณ 28 ล้านล้านบาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย และเมื่อโรคระบาดโควิดได้ปรากฏขึ้น รัฐบาลที่อ่อนแอก็ไม่สามารถต้านรับวิกฤตแบบนั้นได้ การตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เริ่มจากหลังรัฐประหาร 2557 จึงปรากฏต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งหนี้รัฐและหนี้ครัวเรือนของประชาชนพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เมื่อมีการเลือกตั้ง 2566 กลุ่มของ คสช.ยังมีการเสนอตัวลงแข่งขัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ลงเลือกตั้ง แต่ความลำบากที่ประชาชนได้รับตลอด 9 ปีทำให้กลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอนุรักษ์ไม่ได้รับความนิยม และได้ ส.ส.มาไม่มาก
แต่สุดท้ายกลุ่ม ส.ว. 250 คนก็ยังเป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐบาลทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว
ประเทศต้องการ ส.ว.ชุดใหม่ แก้ไขปัญหา
บทบาทของ ส.ว. 250 คนที่สวนทางกับมติของประชาชนในการเลือกตั้งใครๆ ก็คิดว่าคงเป็นบทบาทสุดท้าย แต่ในที่สุดเราก็ได้เห็นว่าแม้รัฐบาลที่พวกเขาเคยสนับสนุนวันนี้ก็ยังมีกลุ่ม ส.ว.มายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุติ การทำหน้าที่ของนายกฯ และรัฐมนตรีบางคน เป็นการทำหน้าที่ ส.ว. แม้จะหมดวาระไปแล้วแต่รักษาการอยู่
นายกฯ อาจจะมองว่าตนเองกำลังขับรถนำขบวนไปข้างหน้าแต่มาเจอด่านลอย และไม่สนใจก็ได้ แต่สถานการณ์นี้เตือนให้ต้องระมัดระวัง อาจจะมีตะปูเรือใบที่จะวางอยู่ข้างหน้า
ส่วนข่าวรัฐประหารก็เป็นเสียงร้องของเด็กที่ขอค่าขนมกับของเล่น
จนถึงนาทีนี้ทุกท่านจะมองเห็นความสำคัญของ ส.ว. แม้ที่ผ่านมาจะเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็จะต้องมี ส.ว. 200 คนทำหน้าที่เป็นวุฒิสภาและยังมีอำนาจสำคัญในการเลือกศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระซึ่งเป็นกลไกชี้ขาดความยุติธรรมโดยเฉพาะทางการเมือง อาจจะมีคนต้องเสียชีวิตเพราะการต่อสู้ทางการเมืองร้อยคน บาดเจ็บพันคน หรือติดคุก 100 คน หรืออาจจะเสียชีวิตทีละคนในบางช่วงเวลา ซึ่งก็ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่จะสร้างขึ้น
ครั้งนี้ ถ้าหากไม่สามารถคัดเลือก ส.ว.ที่มีความยุติธรรมเข้าไปมากพอจะสร้างความยุติธรรมในประเทศได้อย่างไร
การคัดเลือก ส.ว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ต้องลงมือช่วยกันเปลี่ยนแปลงให้ได้ ผ่านครั้งนี้ไปก็ต้องรออีก 5 ปี