ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ดาวพลูโตมองดูโลก |
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
บรรดาสื่อมวลชนต่างออกข่าวว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 1.5 สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะโตเพียงร้อยละ 0.7-0.8 เท่านั้น (ซึ่งคาดการณ์ไว้ต่ำมาก)
เรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ GDP เติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็เป็นเรื่องเศร้าเช่นเดียวกันที่ GDP ไทยเติบโตเพียงร้อยละ 1.5 ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จากเป้าหมายการเติบโตเดิมร้อยละ 2.2-3.2 คงเหลือร้อยละ 2.0-3.0
รวมๆ แล้วน่าจะเป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี
หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแล้ว ไทยเติบโตรั้งท้ายประเทศสำคัญในภูมิภาคอย่างชัดเจน ดังนี้ ฟิลิปปินส์ +5.7% เวียดนาม +5.6% อินโดนีเซีย +5.1% มาเลเซีย +3.9% และสิงคโปร์ +2.7% ส่วนไทยรั้งท้าย +1.5% ซึ่งห่างจากประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่อัตราร้อยละ 2.2-3.2 ถึงเกือบครึ่ง
เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย?
ขอเริ่มต้นด้วย ตัวเลขภาคการผลิต พบว่า ภาคเกษตรติดลบร้อยละ 3.5 และภาคอุตสาหกรรมติดลบร้อยละ 1.2 ส่วนภาคบริการ ขยายตัวได้ดี ขยายตัวถึงร้อยละ 3.6 จึงส่งผลให้ GDP ทั้งหมดเป็นบวก ร้อยละ 1.5
จากสถิติ GDP สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร พบว่าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.8 เป็นผลโดยตรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในไตรมาสแรกของปีถึง 1.3 ล้านคน
แสดงให้เห็นว่าเครื่องจักรเศรษฐกิจของไทยเหลือเพียง การท่องเที่ยว เพียงเครื่องจักรเดียวที่ยังทำงานได้อยู่ คอยประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้ประสบภาวะถดถอย ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายอย่างมาก หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่รีบปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแท้จริง
ข้อมูลสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.0 เป็นการลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 2.4 และเป็นการลดลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี
ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี ลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 6.7 เป็นผลพวงจากความต้องการยานยนต์ภายในประเทศลดลง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการขายรถยนต์ใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงร้อยละ 26.15 โดยรถกระบะลดลงถึงร้อยละ 43.2 เลยทีเดียว
ด้าน การค้าระหว่างประเทศ ดุลการค้าเป็นบวกแต่น้อยลง คงเหลือเพียง 58,578 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ถึงเกือบ 1 แสนล้านบาท
แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เนื่องจากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 การส่งออกติดลบ หากเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2565 พบว่าขยายตัวเพียงเล็กน้อย ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงของการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 2.0 ส่วนการนำเข้าขยายตัวมากถึงร้อยละ 8.6 ขณะที่มูลค่าที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 4.3 ซึ่งขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าไทยเป็นบวกเพียงเล็กน้อย
หากการส่งออกไทยยังมีทิศทางหดตัวและการนำเข้าขยายตัวเช่นนี้ ดุลการค้าไทยจากบวกจะกลายเป็นติดลบในไม่ช้า แนวทางแก้ไขคงมีแนวทางเดียวคือ ภาวนาให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงตลาดค่าเงินบาทให้อ่อนตัวลงกว่าปัจจุบันเพื่อกระตุ้นการส่งออกทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
การส่งออกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง เพราะการส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60-70 ของ GDP เศรษฐกิจไทยจะดีหรือไม่จึงมักขึ้นอยู่กับการส่งออกเป็นหลัก
เมื่อการส่งออกหดตัว ไตรมาสถัดไปการผลิตก็จะหดตัวลงตาม
เมื่อการผลิตหดตัว หมายความว่า โรงงานต่างๆ ผลิตสินค้าที่กำลังการผลิตที่ไม่เต็มที่ หรือเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าไม่เต็มอัตราการผลิตนั่นเอง เมื่อเครื่องจักรยังเดินเครื่องไม่เต็มอัตราการผลิต ก็จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมเพราะของเดิมยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ใครเขาจะลงทุนเพิ่ม
เมื่อส่งออกติดลบก็ทำให้สินค้าที่ผลิตขายไม่หมด ทำให้ราคาสินค้าตก เมื่อราคาสินค้าตก รายได้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องตกต่ำลงทั้งหมด ท้ายที่สุดจะได้ยินข่าวการปิดโรงงานเนื่องจากทนพิษเศษฐกิจไม่ไหว
การที่ดุลการค้าเป็นบวกน้อยลง แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกลดน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม
รัฐบาลคงต้องคอยจับตาดูอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า มิฉะนั้นดุลการค้าจะติดลบทันที
ด้าน การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน เป็นสถิติที่สำคัญเนื่องจากมีสัดส่วนมากถึงประมาณ ร้อยละ 50-60 ของ GDP นั้น แม้ว่าไตรมาสนี้ขยายตัวมากถึงร้อยละ 6.9 ตัวเลขสวยและดูดี
แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น และปัจจุบันมีทิศทางแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย
หากภาคเอกชนหมดแรงเมื่อใดเศรษฐกิจไทยคงชะลอตัวตามไปด้วย รัฐบาลคงต้องหามาตรการกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้นและยั่งยืน
ลำพังมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเป็นมาตรการที่ไม่สามารถดำเนินโครงการตลอดไปได้ และคงต้องยุติการอุดหนุนราคาพลังงานสักวันหนึ่ง การกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเป็นโจทย์ยากข้อหนึ่งของรัฐบาล
สถิติการซื้อและเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ หดตัวร้อยละ 3.0 สินเชื่อยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมทั้งสิ้น หดตัว ร้อยละ 1.7 เป็นผลพวงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่คงอยู่ในอัตราที่สูง ส่งผลให้การปฏิเสธสินเชื่อสูงตามไปด้วย คอยกดดันการบริโภคของภาคเอกชนให้ชะลอตัว
ด้าน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ลดลงร้อยละ 2.1
การลงทุนของภาครัฐ ลดลงมากถึงร้อยละ 27.7 ผลสืบเนื่องจากงบประมาณผ่านสภาล่าช้าจึงทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าถึงเกือบ 7 เดือน หรือมากกว่า 2 ไตรมาส
แม้ การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 4.6 ทิศทางมีการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อรวมกับการลงทุนของภาครัฐแล้ว การลงทุนรวมหดตัวร้อยละ 4.1
รายจ่ายภาครัฐ ทั้งการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนของภาครัฐ รวมกันแล้วมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15-18 ของ GDP แต่หากติดลบมากๆ ก็จะทำให้ GDP หดตัวได้ ร้อยละ 0.5-1.0 ได้
เมื่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP หดตัว ก็เท่ากับว่ารายได้ประชาชาติหดตัวลง เมื่อรายได้ของประชาชนตกต่ำลง การบริโภคก็จะลดน้อยลง
ถ้าการบริโภคไม่ลดลงหนี้ครัวเรือนก็จะสูงขึ้นแทน เมื่อหนี้ครัวเรือนสูงก็จะบั่นทอนเศรษฐกิจในระยะยาว
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ ทำอย่างไรให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจทุกเครื่องสามารถทำงานพร้อมกัน
เพื่อพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราร้อยละ 5.0 ดั่งที่เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง
ทำอย่างไรให้ประชาชนภาคครัวเรือนมีความเชื่อมั่นกล้าจับจ่ายใช้สอยกล้าบริโภค
ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนกล้าลงทุน
และทำอย่างไรให้ส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้คงหนี้ไม่พ้นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องตอบคำถามเหล่านี้
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะยกเครื่องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอีกครั้ง