ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
ผ่านสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งเครื่องนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครู ลดภาระนักเรียน
ที่สร้างความฮือฮา หนี้ไม่พ้นคำสั่งแจ้งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด/ในกำกับ เรื่องการยกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียน ระบุว่า เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง จึงให้ทุกหน่วยแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัด พิจารณายกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบ และรองเท้าของนักเรียน เป็นชุดหรือรองเท้าอื่น โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม…
โดยบิ๊กอุ้ม พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวไว้น่าสนใจว่า
“ที่ผ่านมามีการสำรวจค่าใช้จ่ายของการเปิดภาคเรียน พบเรื่องเครื่องแบบนักเรียน หรือรองเท้านักเรียนอาจสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้บางครอบครัวมีกำลังการใช้จ่ายเงินไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงออกคำสั่งดังกล่าวให้สถานศึกษายึดเป็นแนวปฏิบัติ เพราะแม้การผ่อนผันเครื่องแบบนักเรียนนั้น ถือเป็นอำนาจของสถานศึกษาที่จะทำได้อยู่แล้ว แต่หากมีหนังสือจาก ศธ.สั่งการไปก็จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาสบายใจว่า สามารถดำเนินการผ่อนผันเรื่องนี้ได้”
“รวมถึงจะมีการสำรวจครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจากสภาวะเศรษฐกิจ ในการจัดทำคำของบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ด้วย พร้อมย้ำว่า การผ่อนผันเรื่องเครื่องแบบนักเรียนนั้น ถือเป็นการลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเองมีแนวคิดที่จะจัดโครงการพี่ให้น้องใช้ เช่น เสื้อผ้านักเรียนที่ใส่ไม่ได้แล้วแต่ยังมีสภาพการใช้งานดี ก็ให้จัดมาให้รุ่นน้องใช้งานได้” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าว
แม้คำสั่งดังกล่าว อาจจะออกมาไม่ทันการณ์ เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่จัดซื้อชุดนักเรียนให้บุตรหลานกันไปเรียบร้อย แต่ก็ถือว่าให้ยึดเป็นแนวปฏิบัติได้ในปีถัดไป เชื่อว่าคงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องชุดนักเรียน ยุวกาชาด ลูกเสือ เนตรนารี มีข้อถกเถียงเรียกร้องให้มีการปรับแก้ระเบียบเครื่องแต่งกายกันมาทุกยุคทุกสมัย
ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี2566 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เคยออกมาอธิบายเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า ได้กระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน สามารถกำหนดเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมมาเรียนร่วมกันได้
รวมถึงการแต่งชุดไปรเวต ก็ให้เป็นอำนาจของโรงเรียนในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาคมในโรงเรียน
ดังนั้น ในส่วนของ สพฐ.จึงไม่จำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบเรื่องชุดนักเรียนอีก
ขณะเดียวกัน ศธ.ยังกำชับมายังต้นสังกัดให้ดำเนินการให้เป็นไปตาม “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551” ที่ออกตามมาตรา 5-6 ของ พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ซึ่งเปิดช่องให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ โดยในระเบียบระบุว่า ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา กำหนดให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแต่ง วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งเครื่องแบบนักเรียน สถานศึกษาใดมีความประสงค์จะขอใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดในระเบียบนี้ ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หรือผู้กำกับดูแลสถานศึกษานั้นแล้วแต่กรณี
สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียน ตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม ตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551
นอกจากนี้ ยังได้มีการผ่อนคลายกฎ ระเบียบต่างๆ ให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน
รวมถึงมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ไม่บังคับ
เช่น เรื่องทรงผมของนักเรียน ได้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 แล้วให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง โดยการออกระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้
ดังนั้น ประเด็นยกเว้น/ผ่อนผันชุดนักเรียน จึงถือเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ นัยว่า แม้จะรู้กันแล้วว่า ผู้บริหารสถานศึกษาจะมีอำนาจยกเว้น/ผ่อนผัน หรือกระทั่งยกเลิกในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวไม่ส่าย หางก็ไม่กล้ากระดิก…
แต่ก็ไม่วาย กลายเป็นประเด็นดราม่าในเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด จากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ว่ามีการประกาศ “ยกเลิก” เครื่องแบบนักเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่รัฐบาลต้องเร่งออกมาชี้แจง…
ไล่ตั้งแต่ นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อ การออกหนังสือของ ศธ.มีวัตถุประสงค์ให้ยกเว้นหรือผ่อนผัน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตัดสินใจได้เอง การออกหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริหารสถานศึกษาให้ดำเนินการได้ในแนวทางเดียวกัน
ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษก ศธ. ขอชี้แจงชัดๆ ว่า เพราะความหมายคำว่า ‘ยกเว้น/ผ่อนผัน’ กับคำว่า ‘ยกเลิก’ แตกต่างกัน คนละความหมายอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง การยกเว้น/ผ่อนผันการแต่งชุดนักเรียน หมายถึง ทางโรงเรียนพิจารณาแล้วว่าเด็กมีความจำเป็นเรื่องการหาชุดนักเรียนตามระเบียบมาใส่ โดยครอบครัวเด็กอาจมีปัญหาทางการเงิน มีลูก 5 คน ซื้อพร้อมกันไม่ไหว แบบนี้ทางโรงเรียนก็สามารถยกเว้นให้เด็กไม่ต้องแต่งชุดนักเรียน โดยให้ใส่ชุดอื่นที่เหมาะสม เช่น ชุดพละ หรือชุดที่มีอยู่ไปพลางก่อน เมื่อจัดหาชุดนักเรียนได้แล้วก็ใส่ชุดนักเรียนมาตามปกติ
ส่วนการยกเลิกการแต่งชุดนักเรียนนั้น ความหมายมันกว้างถึงขั้นว่าเด็กทุกคนในประเทศไม่ต้องแต่งชุดนักเรียนแล้ว เครื่องแบบนักเรียนจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งมันไม่ใช่การประกาศจาก ศธ. เป็นการนำข้อมูลไปบิดเบือน สร้างความตกใจ และความสับสนเป็นอย่างยิ่ง
นี่แค่เปิดเทอมยังไม่พ้นสัปดาห์ แค่เรื่องชุดนักเรียน ก็ทำเอาวุ่นวาย สะเทือนไปถึงรัฐบาลต้องออกมาชี้แจง ยังไม่ถึงคิวหนังสือเรียน ที่จัดพิมพ์โดยองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งถึงมือเด็กไม่ทันเปิดเทอมแน่นอนแล้ว
ก็ยังต้องลุ้นว่า จะเป็นดราม่าถัดไปที่รอคิวสะสางอยู่หรือไม่… •
| การศึกษา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022