จรัญ พงษ์จีน : เช็กสถานะกฎหมาย-ว่า ที่ ก.ก.ต. รับเลือกตั้งตามโรดแมป

จรัญ พงษ์จีน

ดูตารางการเมืองวันนี้ เห็นภาพประเทศไทยใกล้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกไม่นานเกินรอ

คาดเดากันอย่างนั้นก็เป็นเพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันที่ 25-26 มกราคมนี้

ถ้าหาก สนช. ไฟเขียวผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับและประกาศให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด นั่นหมายถึงนับถอยหลัง 150 วันจัดเลือกตั้งได้เลย

อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ทั้ง 7 คนที่ผ่านการสรรหาทั้งจากคณะกรรมการการสรรหา กกต. และจากการคัดเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กำลังจ่อคิวรอให้ สนช. โหวตรับรองในเร็วๆ นี้

ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว น่าจะทำให้พรรคการเมืองเกิดอาการกระดี๊กระด๊า

แต่เผอิญมี “คำสั่ง คสช. 53/2560” เสียบเป็นติ่งให้พรรคการเมืองเก่าอย่างประชาธิปัตย์ส่งเสียงร้องจ๊ากแทน เพราะไม่เพียงการเลื่อนเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายนปีนี้

 

หากยังมีเงื่อนตายล็อกให้แต่ละพรรคจัดทำทะเบียนรายชื่อสมาชิกและเสียค่าบำรุงพรรค ต้องแจ้งให้นายทะเบียน 90 วันและดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน หรือ 1 ปี นับจากวันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไปอีกต่างหาก

ตามข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 พรรคการเมืองมีทั้งหมด 70 พรรค พรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิก 2,895,954 คน มีสาขาพรรคการเมือง 175 สาขา รองลงมาคือ พรรคมหาชน สมาชิก 1,181,015 คน สาขาพรรค 5 สาขา, พรรคภูมิใจไทย มีสมาชิก 153,087 คน สาขาพรรค 5 สาขา, พรรคเพื่อไทย มีสมาชิก 134,834 คน มีสาขาพรรค 5 สาขา, พรรคประชากรไทย มีสมาชิก 69,852 คน สาขาพรรค 8 สาขา และพรรคชาติพัฒนา มีสมาชิก 19,575 คน สาขาพรรค 4 สาขา

ตัวเลขสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีมากมายขนาดนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ร้องเสียงหลงกว่าใครเพื่อน

ย้อนกลับมาดูว่าที่ กกต.ชุดใหม่ที่จะเป็นฝ่ายคุมเกมการเลือกตั้งครั้งใหม่ครั้งที่ 28 ของประเทศไทย นับจากวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2476 เป็นต้นมา

ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้มี “กกต.” ทั้ง 7 คน มาจากกระบวนการสรรหา 2 ส่วน

ส่วนแรก เป็นการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการ, นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช., นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, ศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง, ศาสตราจารย์ไพโรจน์ กัมพูสิริ บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้ง

นายประเสริฐ โกศัลวิตร บุคคลซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้ง

 

คณะกรรมการสรรหาฯ ทำหน้าที่เลือก “ว่าที่ กกต.” จำนวน 5 คน

ส่วนที่สองมาจากการคัดเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน

ในส่วนแรก คณะกรรมการการสรรหาฯ เปิดรับสมัคร มีผู้มาสมัครทั้งหมด 41 คน แต่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 15 คนเพราะเกณฑ์การพิจารณาว่ากันว่าสุดหิน เช่น ผู้สมัครรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ถ้าเป็นอาจารย์ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

ถ้าเป็นนักกฎหมาย ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

หรือถ้าเป็นเอ็นจีโอ ต้องทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี

การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น “กกต.” ใช้หน่วยงานต่างๆ รวม 40 แห่ง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. กรมบังคับคดี ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

จากนั้นเข้าสู่ด่านตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ มี 18 หน่วยงาน อาทิ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ ตามขุดคุ้ยหาปมผิดปกติ

ผลสแกนของทั้งสองด่าน มีผู้สมัครผ่านเพียง 15 คน

ด่านต่อมา คณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กกต. เปิดให้ผู้สมัครทั้ง 15 คนโชว์ตัวเพื่อสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์คนละ 10 นาที

คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดสเป๊ก “ว่าที่ กกต.” ไว้ดังนี้ ต้องเป็นบุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง กล้าหาญในการทำหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์เอาตัวไปอยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมืองใดๆ รวมทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการทำหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ คำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

การโชว์วิชั่นของผู้สมัครเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าของวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ที่อาคาร 2 รัฐสภา สิ้นสุดลงในเวลาบ่าย 2 โมงเศษ และคณะกรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผยในทันที

ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้จะเป็น กกต. ต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหาฯ หรือต้องได้ 4 คะแนนขึ้นไป

รอบแรกผลปรากฏออกมาดังนี้

1. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ 6 คะแนนเต็ม

2. ศาสตราจารย์ ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ 5 คะแนน

3. นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ 5 คะแนน

4. รองศาสตราจารย์ ดร.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ 4 คะแนน

ยังขาดอีกคนจึงจะครบ 5 ทางคณะกรรมการสรรหาฯ จัดให้ลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามเป็นรอบที่สอง

ผลออกมาปรากฏว่า นายประชา เตรัตน์ ได้ 5 คะแนน

สำหรับว่าที่ กกต. อีก 2 คนมาจากกระบวนการคัดเลือกในที่ประชุมศาลฎีกา ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกทางศาลฎีกายืนยันว่าใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกประการ

จากนี้ไปถ้า สนช. ผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เลือกตั้ง ส.ว. และโหวตลงคะแนน “ว่าที่ กกต.” ชุดใหม่ภายในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์นี้

โรดแม็ปประเทศไทยสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่จึงไม่น่าจะเลื่อนไถลออกไกลเกินกว่าปี 2562